สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเวทีชี้แจงแนวทางการจัดทำคำของบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ปี 2567 เชิญชวนประชาคมวิจัยสร้างความเข้าใจร่วมกัน เปิดรับคำขอของหน่วยงาน เพื่อพลิกโฉมประเทศมุ่งสู่การเป็นผู้นำเทคโนโลยี ติดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกและดัชนีความยั่งยืน 35 อันดับแรกของโลก
กรุงเทพฯ – 2 สิงหาคม 2565 : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมชี้แจงเป้าหมายการสนับสนุนงานมูลฐาน และแนวทางการจัดทำคำของบประมาณของหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์ นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยว่า แนวทางกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ. 2566-2570 ได้กำหนดทิศทางในการพัฒนาให้สอดคล้องกับเป้าหมายพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นนโยบายที่เป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของประเทศ มีเป้าหมายที่ชัดเจน เก่งในบางเรื่องที่สำคัญ โดยใช้การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการพัฒนา ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและความสามารถในการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน พร้อมกับการบูรณาการข้ามศาสตร์ ข้ามกระทรวง และการพลิกโฉมที่ระบบที่สำคัญ
โดยแผนดังกล่าวให้ความสำคัญกับการนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มีศักยภาพต่อการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นให้คนไทยมีสมรรถนะและทักษะสูงเพื่อให้เพียงพอต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่มีคุณค่าและสร้างสรรค์ รวมถึงสามารถพัฒนาสังคมเพิ่มความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานรากและการพึ่งพา สามารถแก้ปัญหาท้าทาย และปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างยั่งยืน “หน่วยวิจัยต้องมุ่งเป้าในการทำงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหา มีความอิสระ ความคล่องตัวและยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ แต่ต้องไม่หย่อนยานและยึดแนวทางร่วมกัน เพื่อทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี ลดช่องว่างของสังคม และได้รับความเชื่อถือจากภาคธุรกิจเพื่อยกระดับภาคธุรกิจไทยสู่ระดับโลก”
ตลอดการจัดสรรงบประมาณที่ผ่านมามีงานวิจัยที่สามารถนำมาต่อยอด สร้างศักยภาพประเทศอย่างมากมาย ได้แก่ ด้านการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ: กรณี COVID-19 อาทิ 1) ชุดตรวจ “COVITECT-1” ด้วยวิธี Real-Time RT-PCR 2) เครื่องช่วยหายใจอัตราไหลสูง (High Flow Nasal Cannula – HFNC)
3) ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสารสกัดกระชายขาว และ 4) ชุดตรวจ SARS-CoV-2 ด้วยวิธีแลมป์เปลี่ยนสี (RT-LAMP) ซึ่งเพียง 4 ชิ้นนี้ สามารถสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์แล้วกว่า 300 ล้านบาท และมูลค่าเชิงสังคมที่สร้างผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 5 เท่า ในช่วงปี 2564-2565 ที่ผ่านมา
ด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม อาทิ 1) การยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจของวิสาหกิจชุมชน ด้วยการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ที่สามารถสร้างรายได้ในปี 2564 ให้แก่โรงงานชุมชนเฉลี่ย 13,625 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 170,000 บาทต่อปี โดยนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่กว่า 33 จังหวัด 2) พลังเกษียณสร้างชาติ: ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัยและระบบสนับสนุนเชิงเทคนิคของคนรุ่นใหม่สู่การนำไปใช้ที่ยั่งยืน มีผู้สูงอายุเข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 6,688 คน จาก 17 พื้นที่ในภาคเหนือ สามารถเพิ่มทักษะดิจิทัลในการสร้างช่องทางขายออนไลน์ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน 3)การศึกษาการกระจายตัวและแหล่งปนเปื้อนเชื้อก่อโรคและเชื้อดื้อยาในแหล่งน้ำ ช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดการคุณภาพน้ำและน้ำเสียได้ประมาณร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่า 215 ล้านบาทต่อปี เป็นต้น
ด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งยกระดับการพึ่งพาตนเองในระดับประเทศ อาทิ 1) เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตมะม่วงตลอดจนการแปรรูป ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกด้วยเครื่องขุดเจาะหลุมปลูกแทนการใช้แรงงาน สามารถลดต้นทุนได้ถึงหลุมละ 15 บาท 2) การปรับปรุงและคัดเลือกพันธุ์กัญชงเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และผลิตสินค้าจากเส้นใยกัญชง สามารถสร้างรายได้จากการปลูกกัญชงประมาณ 10,000 – 15,000 บาทต่อไร่ 3) การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการผลิตและเพิ่มมูลค่ามังคุดเชิงพาณิชย์ ช่วยลดระยะเวลาในการดูแลสวนของเกษตรกรจากเดิมใช้เวลา 7 วันในแต่ละแปลงเหลือเพียง 30 นาที และ ด้านการพัฒนากำลังคน ยกระดับสถาบันความรู้ และระบบนิเวศด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อาทิ 1) การพัฒนาเซ็นเซอร์เคมีไฟฟ้าแบบใหม่เพื่อประเมินการรักษาโรครูมาตอยด์ด้วยยาซัลฟาซาลาซีน ช่วยลดข้อจำกัดในการเข้าถึงการตรวจวิเคราะห์ปริมาณยาซัลฟาซาลาซีนในเลือดของผู้ป่วย ซึ่งคาดว่ามีอยู่ประมาณ 180,000 คนทั่วประเทศ 2) การขยายผลจัดสร้างกำแพงกันกระสุนด้วยบล็อกประสานเพื่อใช้ในฐานปฏิบัติการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้แจ้งเหตุฉุกเฉินหรือเตือนภัยต่าง ๆ ในพื้นที่ได้อย่างสะดวกมากขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า งานประชุมชี้แจงในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจในการยื่นคำของบประมาณของหน่วยงานในระบบ ววน. ให้พร้อมก้าวสู่อนาคต เพื่อมุ่งพลิกโฉมให้ประเทศยกระดับความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ โดยตั้งเป้าว่าประเทศไทยจะติดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกและดัชนีความยั่งยืน 35 อันดับแรกของโลก
“หน่วยงานใน ววน. ควรทำงานร่วมกันแบบจตุภาคี ความเร็วของงานวิจัยไทยต้องแข่งขันกับประเทศอื่นได้แบบก้าวกระโดด งานวิจัยพื้นฐานจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและสามารถสร้างผลกระทบได้สูง จากนี้ไป สกสว.จะเริ่มพูดถึง Open Data งบวิจัยและผลงานวิจัยจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อให้เห็นว่าการลงทุนวิจัยส่งผลอะไรต่อประเทศ มีความโปร่งใสตามที่สาธารณะคาดหวัง รวมถึงมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและการติดตามประเมินผล เรียนรู้และรับฟังปัญหาร่วมกับหน่วยงาน เพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จมากขึ้น” ผู้อำนวยการ สกสว.กล่าว