สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สนับสนุน HITAP สธ. ขับเคลื่อนงานวิจัยด้านสุขภาพ ด้วยการรับมือเทคโนโลยีราคาแพงหลายสิบหรือนับร้อยล้านบาทต่อคนไข้ที่กำลังหลั่งไหลเข้าสู่ตลาด หวังให้คนไทยเข้าถึงการบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม ผ่านงานวิจัยการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและบัญชียาหลักแห่งชาติภายใน 3-5 ปี รวมถึงสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการและช่วยเหลือระบบสุขภาพของชาติอาเซียนเพื่อสร้างผลกระทบให้สูงขึ้น
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เยี่ยมและแนะนำแนวทางการบริหารจัดการทุนวิจัยแก่หน่วยงานผู้รับทุนวิจัยเชิงมูลฐานแก่มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) โดยกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่ และลดความเหลื่อมล้ำ สกสว. ณ ห้องประชุม HITAP กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือแนวทางทำงานร่วมกันในอนาคต โดยมี รศ. ดร.วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย หัวหน้าโครงการฯ และ ดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการ HITAP และคณะให้การต้อนรับ
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล กล่าวว่า หน่วยงานผู้รับทุนวิจัยเชิงมูลฐานที่มีศักยภาพในการทำวิจัยจะเป็นแต้มต่อที่จะขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยเชิงกลยุทธ์ได้ต่อไป นอกจากทำวิจัยแล้วยังสามารถขับเคลื่อนงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ให้เกิดผลกระทบสูง ทั้งการจัดการความรู้ กลไกการเชื่อมโยง สร้างความเชื่อมั่นในผลงานวิจัยและนวัตกรรม ถ่ายทอดหรือขยายผลและเผยแพร่ สร้างความเข้มแข็งแก่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ และสร้างระบบนิเวศวิจัย ซึ่ง HITAP สามารถสร้างห่วงโซ่คุณค่าด้านระบบสุขภาพและเครื่องมือแพทย์เชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การจัดสรรงบประมาณจะพิจารณาคะแนนผลลัพธ์และผลกระทบที่ได้รับสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ววน. มากขึ้น
สำหรับการดำเนินงานของ HITAP นั้นมุ่งทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ โดยมีเป้าหมายให้คนไทยเข้าถึงการบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกัน สิ่งสำคัญคือ การสร้างความเป็นเลิศด้านวิชาการ จัดการความรู้และถ่ายทอดผลงานวิจัย สร้างบุคลากร และเชื่อมโยงกับสังคม โดยภายใน 3-5 ปีข้างหน้าจะมุ่งเน้นงานวิจัยด้านการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งจะต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการทำการตลาดของบริษัทข้ามชาติที่เน้นพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง อาทิ การรักษาในระดับยีนในกลุ่มโรคหายาก ทำให้การรักษามีราคาสูงมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น มีค่าใช้จ่ายต่อคนไข้สูงระดับหลายสิบหรือหลักร้อยล้านบาทต่อคน โดยจะมีเทคโนโลยีเช่นนี้ออกมาเป็นจำนวนมากในอนาคตอันใกล้
“งานวิจัยที่ สกสว.จะสนับสนุน HITAP จะช่วยให้ระบบประกันสุขภาพหรือกระทรวงสาธารณสุขสามารถตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเสมอภาคสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน และทำให้เกิดความยั่งยืนในระบบสุขภาพในระยะยาว ไม่เกิดปัญหางบประมาณจนทำให้ล้มละลาย” ผู้อำนวยการสกสว. กล่าว
ด้านดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการ HITAP กล่าวว่าการที่ HITAP มีประสบการณ์ประเมินเทคโนโลยีด้านยาเพื่อคัดเลือกเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ และประเมินชุดสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมายาวนาน ทำให้มีความรู้ว่าเทคโนโลยีแบบใดจะเป็นที่ต้องการของตลาดและรัฐบาล และนำความรู้เหล่านั้นมาให้บริการประเมินเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ เพื่อช่วยเหลือนักวิจัยผู้พัฒนานวัตกรรมในการสร้างเทคโนโลยีที่จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ ได้รับการบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ งานวิจัยเช่นนี้เป็นงานใหม่มาก เพิ่งริเริ่มดำเนินการไม่กี่ประเทศในโลก โดยไทยจะเป็นประเทศแรก ๆ ที่มีแผนงานทำงานอย่างจริงจัง ขณะนี้มีทีมวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศสนใจติดต่อมาเพื่อทำงานร่วมกันหลายทีมแล้ว
ทั้งนี้ ยาในประเทศไทยราคาแพงทุกตัว วัคซีนและเครื่องมือแพทย์จะไม่สามารถเข้าสู่หลักประกันสุขภาพได้ถ้าไม่มีงานวิจัยประเมินความคุ้มค่ารองรับ HITAP จึงทำงานให้กับภาคนโยบายอย่างใกล้ชิด สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ โดยการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการนานาชาติจำนวนมากจนได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ทำให้เห็นโอกาสที่ สกสว. จะสนับสนุนระบบสุขภาพในประเทศอาเซียนผ่านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เช่น ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย รวมถึงอินเดียที่ให้การยอมรับระบบสุขภาพของไทยเป็นอย่างมาก เชื่อว่าจะเป็นสะพานสร้างความสัมพันธ์และสร้างผลกระทบของ ววน.ได้มาก
“HITAP ส่งมอบผลงานที่มีผลกระทบสูง สามารถเป็นต้นแบบของหน่วยงานวิจัยอื่นได้ แต่การทำงานให้เกิดระบบที่ตอบโจทย์ประเทศต้องพยายามทำความเข้าใจเรื่องการขอรับงบประมาณสนับสนุนทุนวิจัยเชิงมูลฐานและเชิงกลยุทธ์ รวมถึงทบทวนการทำนโยบายเพื่อรับทุนวิจัยต่อไป โดย HITAP น่าจะช่วยสนับสนุนโครงการที่เป็นประโยชน์หรือกระตุ้นให้เกิดทิศทางในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศ” ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวทิ้งท้าย