สกสว.จับมือ ส.อ.ท. พัฒนา “กองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม” หวังเปิดมิติใหม่ของการทำงานร่วมกัน ตั้งเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพสายธารการผลิต และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีและส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยให้เติบโต ช่วยผลักดันระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศให้สมบูรณ์
ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีวาระสำคัญคือ การรายงานความคืบหน้าและแนวทางการดำเนินงาน “กองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม” ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ภายใต้รูปแบบการสมทบงบประมาณระหว่างกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และแหล่งทุนเอกชน โดย รศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ สกสว. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักกลยุทธ์และพัฒนากองทุน กล่าวว่า การรายงานความคืบหน้าและแนวทางการดำเนินงานกองทุนนวัตกรรมฯ ครั้งนี้ เป็นเรื่องสืบเนื่องจากการที่ สกสว. และ ส.อ.ท. ได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมขึ้นมาปีเศษแล้ว โดยครั้งนั้น กสว. ได้เคยมีมติเห็นชอบในคราวประชุม กสว. ครั้งที่ 1/64 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 ให้สนับสนุนงบประมาณให้กับกองทุนนวัตกรรมฯ ในรูปแบบ One-on-One Matching Fund ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดยสมทบกับเงินที่ ส.อ.ท. ไประดมทุนจากแหล่งทุนอื่นในกรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท รวมเป็น 2,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สกสว. ได้ร่วมพัฒนากองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงวันนี้ ได้มีความคืบหน้าไปมาก โดยมีกลไกการดำเนินงานที่มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม
ดร.วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล รองเลขาธิการ ส.อ.ท. กล่าวว่า การร่วมกันพัฒนากองทุนนวัตกรรมฯ นี้ นับเป็นมิติใหม่ของการทำงานร่วมกันระหว่าง ส.อ.ท. กับ สกสว. โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนองค์กรธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เติบโต ควบคู่ไปกับการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทยรายภาคส่วนของแต่ละอุตสาหกรรม ด้วยการให้เอสเอ็มอีกลุ่มเป้าหมายทดลองใช้เทคโนโลยีที่เป็นโซลูชั่นของสตาร์ทอัพและให้ผลสะท้อนกลับ ซึ่งในอนาคตเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพอาจจะเป็นผู้ร่วมทุนระดับ Angle Fund ในสตาร์ทอัพได้
ทั้งนี้ ภารกิจของกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม คือ การยกระดับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพให้เติบโตไปด้วยกัน โดยนำจุดแข็งของ ส.อ.ท. มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับทั้งสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี ซึ่ง ส.อ.ท.ทำงานร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) อย่างใกล้ชิดมาตลอด และพยายามออกแบบไม่ให้ทำงานซ้ำซ้อนกัน แต่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน กลไกการบริหารกองทุนนวัตกรรมฯ ของ ส.อ.ท. ใช้เครือข่ายแหล่งทุนอื่น (เช่น InnoSpace) ที่จะเจรจามาเป็นผู้ร่วมลงทุนสร้างการเจริญเติบโตให้กับสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีพร้อมใช้ระดับ Pre-Series A ขึ้นไป ควบคู่ไปกับการยกระดับขีดความสามารถของเอสเอ็มอีในภาคอุตสาหกรรม โดยรับไม้ต่อจาก NIA ที่เน้นพัฒนาสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีพร้อมใช้ในระดับบ่มเพาะต้นกล้า (Seed Money) หรือ TRL9 ขณะที่ บพข.จะเน้นสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีให้เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีระดับความพร้อมของเทคโนโลยี TRL 5-7 ร่วมกับบริษัทเอกชนเป็นรายโครงการ โดย ส.อ.ท. มีฐานสมาชิกที่เป็น SMEs รายอุตสาหกรรมที่ยกระดับได้ทั้งภาคส่วน
“ทั้งสามทีมจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้เป็นสามเหลี่ยมทองคำ เหมือนเป็นสายพานส่งต่อเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาจนพร้อมใช้และนำไปสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะช่วยผลักดันระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศให้สมบูรณ์ โดยที่ผ่านมามีการพบปะระหว่างผู้บริหารของ ส.อ.ท. และ สกสว. ทำงานลงรายละเอียดกันโดยตลอด ณ วันนี้เราได้ตุ๊กตากลไกการลงทุนที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบแล้ว และมีร่างรายชื่อคณะกรรมการบริหารกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม และคณะทำงานประสานงานของกองทุนฯ ซึ่งพร้อมที่จะประกาศสู่สาธารณะโดยมีพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมในเวทีฟอรั่ม โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องที่มีศักยภาพในวงการสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี และกองทุนนวัตกรรมภาครัฐเข้าร่วมงานด้วย ซึ่งจะเป็นการนับหนึ่งของการเข้าสู่กระบวนการตามแผนงานทำงานร่วมกับเครือข่ายเอสเอ็มอีของ ส.อ.ท. ตามนโยบายปี 2023 และจะรายงานความคืบหน้าให้ กสว.ทราบเป็นระยะ” ดร.วิบูลย์ กล่าว
ประธาน กสว. ระบุว่า การทำงานเพื่อผลผลิตอุตสาหกรรมที่ผ่านมาภาควิชาการเป็นคนคิด และมีภาคอุตสาหกรรมเป็นที่ปรึกษา ซึ่งพบว่าไม่ตรงกับธรรมชาติที่ควรเป็น และไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้นรูปแบบใหม่ของกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมนี้จึงมีภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้นำ ที่จะคิดรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยเน้นเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพเป็นหลัก เพราะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว
ด้านระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า การจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมสอดคล้องกับแนวคิดตลาดนำการผลิตและการวิจัย เป็นแนวคิดที่มาถูกทางและน่าจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรน่าจะมีภารกิจขับเคลื่อนงานต่าง ๆ หรือให้คำแนะนำกองทุนนี้ได้อย่างดี โดยเฉพาะโครงการในภาคการเกษตรที่ ส.อ.ท. เองก็มีเครือข่ายทั่วประเทศ แต่ปัญหาสำคัญคือทุกวันนี้ภาคการเกษตรยังทำเกษตรแบบดั้งเดิมจากตัวเกษตรกรเอง ควรให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวนำ