ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว “พัฒนาวิศวกรรมด้านแผ่นดินไหว ให้เป็นที่รู้จริงและยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้น”
บทเรียนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวของไทยในอดีต ทำให้การศึกษาแต่ละรอยเลื่อนว่ามีพลังในระดับใดมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเตรียมพร้อมเฝ้าระวังและรับมือสถานการณ์แรงสั่นสะเทือนจากรอยเลื่อนที่มีพลังที่อาจส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวได้ในวันใดวันหนึ่งในอนาคต ทั้งนี้ การเฝ้าระวังไม่ใช่จำกัดเพียงรอยเลื่อนในประเทศที่มีพลัง 14 รอยเลื่อนที่กระจายตัวในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้เท่านั้น ขณะเดียวกันจะต้องศึกษาและเฝ้าระวังรอยเลื่อนรอยต่อที่มีพลังในประเทศเพื่อนบ้านที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย
ทำความรู้จักกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวของไทย ตัดสินใจเป็นอาจารย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบัน
ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ซึ่งคลุกคลีและทำการศึกษาเรื่องภัยพิบัติด้านแผ่นดินไหวมาตลอด ย้อนรอยเมื่อครั้งศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2525ว่า หลายคนคิดว่าหลังจากเรียนจบแล้ว อาจารย์เป็นหนึ่งจะทำงานด้านก่อสร้างมากกว่าที่จะมาเป็นอาจารย์ดังเช่นปัจจุบันนี้ เนื่องจากในช่วงแรก อาจารย์ได้มีโอกาสเข้าทำงานด้านวิศวกรรมโครงสร้างที่ บริษัท เอ็ดคอน จำกัด ในตำแหน่งวิศวกรควบคุมงานก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัท ไทยสมุทรประกันภัย จำกัด จากนั้นในปีพ.ศ.2528 ได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวิศวกรรมโยธา ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แล้วกลับมาทำงานในตำแหน่งวิศวกรควบคุมงานก่อสร้างสะพานโครงการสะพานพระราม 9 ซึ่งเป็นสะพานเคเบิลขึงที่มีช่วงความยาวของสะพานระหว่างเสาตอม่อหลัก 450 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บริษัท Hitachi Zosen Corporation โดยทำงานควบคุมการก่อสร้างอยู่ประมาณ 2 ปี จึงก่อสร้างสะพานแล้วเสร็จ
หลังจากนั้นได้กลับไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่คณะวิศวกรรมโยธา สาขาพลศาสตร์โครงสร้าง มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2534 แล้วได้ทำงานเป็นนักวิจัย Postdoctoral Research Fellow, Northwestern University ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยค้นคว้าวิจัยเพื่อหาวิธีลดระดับการสั่นสะเทือนของโครงสร้างซับซ้อนที่มีความถี่ธรรมชาติเรียงตัวใกล้กัน ด้วยวิธี Active Vibration Control ซึ่งทำงานได้เพียง 1ปี พออาจารย์ทราบข่าวว่าสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เปิดรับสมัครอาจารย์สอนและกำกับดูแลการศึกษาวิจัยของนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกในสาขาวิศวกรรมโครงสร้าง วิศวกรรมแผ่นดินไหว และพลศาสตร์โครงสร้าง จึงได้ตัดสินใจสมัครและได้รับการตอบรับให้เป็นอาจารย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลายาวนานกว่า 26 ปี
ภัยพิบัติทางธรรมชาติยากที่จะคาดเดา ต้องใช้ Data Base คาดการณ์ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น
นอกจากบทบาทในฐานะอาจารย์สอนนักศึกษาในสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียแล้ว โดยส่วนตัว ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์เป็นหนึ่ง มีความสนใจในงานวิจัยทางด้านแผ่นดินไหวเป็นพิเศษ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยมาโดยตลอด เนื่องจากอาจารย์มองว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติทุกชนิดล้วนแล้วเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดาได้ จึงต้องมีการรวบรวมข้อมูลทุกด้านเพื่อนำมาเป็นข้อมูลสนับสนุนการทำงานวิจัยในด้านนั้น ๆ เพื่อจัดทำเป็น Data Base สำหรับใช้คาดการณ์ภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
“ไม่ใช่เฉพาะเรื่องแผ่นดินไหวเท่านั้นที่ควรจัดเก็บข้อมูล Data Base แต่ทุก ๆ ภัยพิบัติควรทำการเก็บข้อมูล มีงานวิจัยสนับสนุนเอาไว้อย่างรอบด้าน เพื่อหาทางป้องกัน ช่วยเหลือชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ประเทศชาติ ให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด” ศ. ดร.เป็นหนึ่ง กล่าว
ชี้แผ่นดินไหวเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น กระตุ้นให้ไทยตื่นตัวเรื่องแผ่นดินไหว
ศ. ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวว่า ในอดีตประเทศไทยยังไม่มีการศึกษา สำรวจ วิจัยถึงความชัดเจนเรื่องแผ่นดินไหวว่าแท้จริงแล้วแรงสั่นสะเทือนที่ส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวในแต่ละพื้นที่ตั้งอยู่ตามแนวรอยเลื่อนนั้นมีแรงสั่นสะเทือนระดับใดบ้าง หากเกิดการสั่นสะเทือนขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใดและจะสร้างความเสียหายยังพื้นที่ส่วนใดบ้าง อีกทั้งยังไม่มีการศึกษา สำรวจ และวิจัยแรงสั่นสะเทือนจากรอยเลื่อนที่มีพลังจากประเทศเพื่อนบ้านว่าหากเกิดการสั่นสะเทือน เกิดแผ่นดินไหวแล้วจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง แต่ในปัจจุบันประเทศไทยมีคณะทำงานที่พร้อมรับมือและให้องค์ความรู้แก่ประชาชน สังคม อย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากขึ้น
“ในอดีตประเทศไทยอาจจะมีแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากแผ่นดินไหวอยู่ในระดับปานกลาง จึงยังไม่ค่อยมีการศึกษา สำรวจและทำการวิจัยมากนัก อาจจะมีบ้างที่ทำการศึกษาความเสี่ยงหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้น แต่ยังไม่ได้ศึกษาในเชิงลึกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหากเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรง และยังมีนักวิจัยอีกหลายคนที่ยังไม่มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีความเสี่ยงเรื่องแผ่นดินไหวหรือไม่ และไม่แน่ใจว่าหากเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยขึ้นจริงแล้วความรุนแรงเรื่องแผ่นดินไหวนั้นจะมีอะไรที่น่าเป็นห่วงอย่างไรบ้าง จนกระทั่งเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2538 ที่สร้างความเสียหายแก่ชีวิต บ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนในประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก สื่อมวลชนแทบทุกแขนงได้มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งภาพความเสียหายค่อนข้างรุนแรงมาก ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องแผ่นดินไหวเริ่มตื่นตัวหาแนวทางป้องกันเหตุแผ่นดินไหวก่อนที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่บนรอยเลื่อนหลายรอยมากและไม่แน่ชัดว่ารอยเลื่อนต่าง ๆ ที่มีจะได้รับผลกระทบจากการเกิดแผ่นดินไหวจากเมืองโกเบด้วยหรือไม่ และเพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตระหนกในประเทศจนเกินไปจึงได้มีการส่งคณะทำงาน นักวิจัยไปศึกษาดูงานเรื่องแผ่นดินไหวหลายคณะมาก เพื่อศึกษาถึงที่มาของเหตุความเสียหาย พร้อมทั้งหาแนวทางป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากแผ่นดินไหวก่อนที่จะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศไทย” ศ. ดร.เป็นหนึ่ง กล่าว
ร่วมงานวิจัยแผ่นดินไหวกับ สกว.มากกว่า 16 ปี ศึกษา สำรวจ พัฒนาสร้างความรู้รับมือแผ่นดินไหว
สำหรับงานวิจัยแผ่นดินไหว ศ. ดร.เป็นหนึ่งได้ร่วมงานกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งหากนับระยะเวลาในการทำงานร่วมกันในงานวิจัยเรื่องแผ่นดินไหว ประมาณ 16-17 ปี โดย ศ. ดร.เป็นหนึ่ง เป็นหัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย เริ่มต้นด้วยการสร้างชุดโครงการวิจัย 5โครงการพร้อมกัน ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ เช่น ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องรอยเลื่อนที่มีพลังในประเทศไทย ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องข้อมูลการตรวจวัดแผ่นดินไหว รวบรวมให้เป็น Data Base ศึกษาเกี่ยวกับบริเวณที่มีพื้นที่ดินอ่อนอยู่ ศึกษาเกี่ยวกับ Dynamic Property จะออกแบบอาคารให้สำเร็จอย่างไร มีการดึงนักวิจัยคนใหม่ ๆ มาช่วย เนื่องจากโครงการมีหลายระยะ ระยะเวลาประมาณ 2-3 ปี ค่าดำเนินงานวิจัยประมาณ 10 ล้านบาท ปัจจุบันเริ่มเข้าระยะที่ 4 ในแต่ละระยะมีประมาณ 4-6 โครงการย่อย มีนักวิจัยเข้าร่วมโครงการ 22 คน จาก 8 มหาวิทยาลัยและ 3 หน่วยงานรัฐ โดยมีเป้าหมายหลักคือ การดำเนินการศึกษา สำรวจ วิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในอนาคต เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ไทยมี 14 รอยเลื่อนเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว ชี้เป็นรอยเลื่อนเดียวกับที่ญี่ปุ่น
จากการศึกษาพื้นที่เสี่ยงเรื่องแผ่นดินไหวในประเทศไทยพบว่าหลัก ๆ มี 14 รอยเลื่อน ได้แก่ รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่อิง รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนปัว รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน รอยเลื่อนเถิน รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ รอยเลื่อนเมย รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนระนอง และรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือเกือบทุกจังหวัด พื้นที่ภาคตะวันตก พื้นที่ภาคอีสาน และพื้นที่ภาคใต้ แต่ไม่ใช่รอยเลื่อนที่น่ากลัวน้อยกว่าประเทศญี่ปุ่นเลย เพราะเป็นรอยเลื่อนประเภทเดียวกัน เพียงแต่ว่าประเทศญี่ปุ่นมีประมาณ 200 กว่ารอยเลื่อน แต่ของเรามีประมาณ 14 รอยเลื่อน ในแต่ละรอยเลื่อนจะใช้เวลาสะสมพลังงานนานจึงจะเกิดการสั่นไหวจนสร้างผลกระทบที่รุนแรงออกมากลายเป็นแผ่นดินไหวซึ่งเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ยากที่จะคาดเดาได้ว่าห้วงเวลาที่จะเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละพื้นที่ตามรอยเลื่อนที่มีในประเทศไทยนั้นจะเกิดช่วงเวลาใด เพราะนอกเหนือจากปัจจัยการสะสมพลังงานจนเกิดแผ่นดินไหวที่มีในประเทศไทยเองแล้ว ปัจจัยรอยเลื่อนรอยต่อแผ่นดินไหวจากประเทศเพื่อนบ้านที่เชื่อมต่อกับประเทศไทยจะเป็นอีกแรงกระตุ้นที่จะทำให้รอยเลื่อนที่มีในประเทศไทยกลายเป็นแผ่นดินไหวได้เร็วขึ้นในอนาคต
“รอยเลื่อนแผ่นดินไหวในประเทศไทยเราใช้เวลาสะสมพลังงานนาน เลยเกิดเป็นแผ่นดินไหว ทุก ๆ 100-200 ปี ไม่ใช่ว่าเราจะไม่มีศึกษาการคาดการณ์เหตุแผ่นดินไหวในประเทศไทย แต่เรามีการคาดการณ์ไว้อย่างไม่ประมาท เพียงแต่การเกิดแผ่นดินไหวของเราเกิดด้วยอัตราที่ต่ำกว่าประเทศญี่ปุ่น แต่เรามีสิทธิ์ที่จะเกิดในอัตราที่รุนแรงกว่าหรือเท่ากับที่เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นอันตรายกับอาคารอย่างชัดเจน อย่างที่เชียงรายเมื่อปี พ.ศ. 2557 ที่เกิดแผ่นดินไหวขึ้น ก็ชัดเจนในความรุนแรงของการสั่นไหวของแผ่นดิน และผมพยากรณ์แล้วว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ในบริเวณพื้นที่ที่เสี่ยงภัยตามรอยเลื่อน ซึ่งผมได้เขียนไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าต้องเกิด และสุดท้ายก็เกิดขึ้นจริง จะมีแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่มีผลกระทบกับกรุงเทพฯ และมีผลกระทบกับอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีการก่อสร้างตามมาตรฐานสากลในการป้องกันแผ่นดินไหว” ศ. ดร.เป็นหนึ่ง กล่าว
โครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทยของ สกว. ต่อยอดทำแผนที่เสี่ยงภัย-ออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว
สำหรับผลงานวิจัยจาก โครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทยของ สกว.ได้ถูกนำไปใช้ในการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัย การกำหนดกฎหมายควบคุมให้มีการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว การจัดทำมาตรฐานทางวิศวกรรมในการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว การจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่วิศวกร และการนำไปเผยแพร่ให้แก่ประชาชนผ่านทางสื่อสารมวลชน และการบรรยายทางวิชาการ เป็นต้น
นอกจากนี้ได้จัดทำแผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของประเทศไทย ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 และครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งแผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2537 เป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการออกข้อกำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 49 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดให้มีการออกแบบอาคารใน 10 จังหวัดที่มีความเสี่ยงภัยให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้อย่างเหมาะสม
ส่วนแผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2550 เป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวในอำเภอต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ในมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสะเทือนของแผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง (มยผ.1302) และเป็นข้อมูลสำคัญในการจัดทำแผนแม่บทป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่มของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
จับมือ มธ.จัดทำ Lab อุโมงค์ลมสำหรับทดสอบลมธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และทันสมัยที่สุดในไทย
ปัจจุบันการเติบโตของสิ่งก่อสร้างมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นอาคารสูง หรือสะพานยาว ขณะเดียวกัน
งานวิจัยเพื่อการศึกษาผลของแรงลมต่ออาคารสูงและสะพานยาว ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคารบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ก็ถูกให้ความสำคัญมากขึ้นเช่นกัน ศ. ดร.เป็นหนึ่ง จึงได้ร่วมกับ รศ. ดร.วิโรจน์ บุญญภิญโญ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดทำห้องปฏิบัติการอุโมงค์ลมสำหรับทดสอบลมธรรมชาติ ภายใต้ชื่อ TU-AIT Boundary-Layer Wind Tunnel โดยอุโมงค์ลมดังกล่าวมีขนาดหน้าตัดกว้าง 2.5 เมตร สูง 2.5 เมตร และช่วงทดสอบยาว 25.5 เมตร ตั้งอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. ในปี พ.ศ. 2544 เพื่อพัฒนางานวิจัยด้านอุโมงค์ลมและพลศาสตร์โครงสร้างของอาคาร ด้วยมาตรฐานสากล นับเป็นอุโมงค์ลมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และทันสมัยที่สุดในประเทศไทย
“ผมคิดค้นพัฒนาอุโมงค์ลมมาหลายปี มีความคิดที่จะทำตั้งแต่สมัยเรียนจบใหม่แต่ขาดการออกแบบและโครงสร้าง ขาดงบประมาณ ก็โชคดีได้พันธมิตรจากอาจารย์ด้วยกันเพราะทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็อยากได้อุโมงค์ลมเพื่อนำมาสอนนักศึกษา ซึ่งการร่วมทำงานวิจัยในครั้งนั้น ผมลงทุนในเรื่องการออกแบบและพัฒนาห้องปฏิบัติการอุโมงค์ลม (Wind Tunnel) ส่วนทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลงทุนในส่วนของงบประมาณ สรุปมีการสร้างอุโมงค์ลมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่นักศึกษาของทางสถาบันเทคโนโลยีเอเชียใช้งานได้เช่นเดียวกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยแบ่งเป็นสถาบันเทคโนโลยีเอเชียใช้เรียน ใช้ทำงานวิจัยในวันจันทร์-พุธ ส่วนทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใช้ในวันศุกร์-อาทิตย์”
นอกจากนี้อุโมงค์ลมยังใช้ในการทดสอบโครงสร้างในภาคอุตสาหกรรม ให้สามารถต้านทานแรงลมได้อย่างปลอดภัยหลาย ๆ ประเภท เมื่อเปรียบเทียบกับอุโมงค์ลมที่สร้างขึ้นกับอุโมงค์ลมในต่างประเทศไม่ถือว่ามีขนาดใหญ่ แต่ก็มีขนาดใหญ่เพียงพอในการทดสอบใหม่ ๆ ทำให้มีโครงการที่เกี่ยวข้องทั้งจากในประเทศและต่างประเทศเข้ามาขอทดสอบด้วย ตัวอย่างเช่น โครงสร้างที่ทดสอบได้แก่ องค์พระพุทธเมตตาประชาไทยฯ (พระพุทธรูปยืนสูง 32 เมตร) อาคารหลังคาโดมที่มีช่วงยาว 86 เมตร, อาคาร Gramercy Residences และ Knightsbridge สูง 70 ชั้น ประเทศฟิลิปปินส์, Pattaya Park Tower สูง 200 เมตร, สะพานเคเบิลขึงรัชมิว ประเทศเวียดนาม, โครงสร้างป้ายโฆษณาขนาดใหญ่รูปทรงต่าง ๆ ออกแบบทดสอบและติดตั้ง Tuned Mass Dampers เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยสลายพลังงานการสั่นไหวของโครงสร้าง เพื่อให้การสั่นไหวของโครงสร้างเนื่องจากแรงลมมีระดับที่ปลอดภัยให้กับปล่องเหล็ก สูง 90 เมตร และ 135 เมตร ที่จังหวัดระยอง
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์เป็นหนึ่ง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น กรรมการผู้ชำนาญการจัดทำ “มาตรฐานการคำนวณแรงลมและการตอบสนองของอาคาร” (มยผ.1311) พ.ศ. 2549-2550 ซึ่งเป็นมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่แสดงข้อกำหนดเชิงวิศวกรรมอย่างละเอียดในการออกแบบอาคารในประเทศไทย ให้สามารถต้านทานแรงลมได้อย่างปลอดภัย ประธานคณะอนุกรรมด้านผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ตั้งแต่ พ.ศ. 2545-ปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นให้ความรู้และการจัดฝึกอบรมวิศวกรในด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและโครงสร้างต้านทานแรงลม
พัฒนาวิศวกรรมด้านแผ่นดินไหวและแรงลม ให้เป็นที่รู้จริงและยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้น
สำหรับการทำงานด้านวิศวกรรมนั้น ศ. ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวว่า ได้นำหลักวิทยาศาสตร์มาใช้ในการแก้ปัญหาพร้อม ๆ กับใช้หลัก Logic โดยเข้าใจถึงข้อจำกัดและโลกแห่งความเป็นจริงด้วยเพราะหลักการ Logic ที่เรียนมาอยู่ในสายเลือดวิศวฯ อยู่แล้ว ส่วนหลักในวิทยาศาสตร์ที่นำมาใช้จะเน้นในเรื่องความปลอดภัย เรื่องข้อเท็จจริง ซึ่งจะต้องมีทั้งสองอย่างควบคู่กันไป ที่เป็นเช่นนั้นเพราะไม่อยากให้เกิดสิ่งที่ร้ายแรงขึ้น ดังนั้นจะต้องทำความเข้าใจเหตุก่อนที่ผลจะเกิด ถ้าเราฝันดี มองโลกในแง่ดี ก็จะประมาท มองข้ามโอกาสที่เป็นจริงและจะเกิดขึ้นจริง
“ผมก็ไม่ค่อยมีหลักการอะไรมาก แต่สิ่งที่ทำมาตลอดก็คือ การพยายามพัฒนาวิศวกรรมสาขาใหม่ทางด้านแผ่นดินไหวและแรงลม ให้เป็นที่รู้จริงและยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้น”
สุขแบบลึก ๆ บนการทำงานเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม
ตลอดระยะเวลาการทำงานในฐานะอาจารย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 26 ปี ควบคู่กับงานวิจัยด้านแผ่นดินไหว ศ. ดร.เป็นหนึ่ง ได้ทุ่มเทการทำงานมาโดยตลอด และพร้อมที่จะทำประโยชน์ให้ส่วนรวม โดยไม่คิดหวังสิ่งตอบแทน ถือเป็นปูชนียบุคคลของวงการแผ่นดินไหวของไทย
“ผมคิดว่าชีวิตคนเราสั้น เกิดมาไม่นานอีกไม่กี่ 10ปี เราก็ตายแล้ว บางคนอาจจะพยายามหาเงินให้มากที่สุด บางคนก็อาจจะพยายามหาความสุขให้มากที่สุด ผมคิดว่าทำชีวิตให้เป็นประโยชน์น่าจะดีกว่า ในขณะเดียวกันก็ควรทำตัวเองให้เป็นประโยชน์ให้มีความสุขด้วยพอประมาณ แต่การที่เราทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือต่อวิชาชีพ ก็จะทำให้เรามีความสุขแบบลึก ๆ อย่างงานที่ผมทำอยู่ทุก ๆ วันนี้ ผมก็คิดว่ามีประโยชน์ เราไม่ได้คิดว่าเราทำเพื่อประโยชน์ต่อตนเอง แต่ถ้าเราคิดว่าทำเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมแล้วมีความสุข ตอบโจทย์ ก็ควรทำ ไม่คิดว่าอยากจะแข่งขันกับใคร คิดว่าถ้าทุกคนมองในแง่นี้ทำประโยชน์ให้สังคม น่าจะส่งผลดีต่อส่วนรวมมากขึ้น” ศ. ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวทิ้งท้าย