ศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) วิเคราะห์ทิศทางอุตสากรรมขนส่งอาหารไทย ในปี 2022 จะยังคงเติบโตต่อเนื่อง ด้วยผู้บริโภคไทยคุ้นชินกับการสั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน หรือ สั่งวัตถุดิบสดมาปรุงเองที่บ้าน แทนการออกไปซื้อด้วยตนเอง เป็นสัญญาณว่าธุรกิจขนส่งอาหารในประเทศไทยจะยังเติบโตต่อไปได้อีก แม้หลังวิกฤต COVID-19 ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติแล้วก็ตาม ทั้งนี้ ธุรกิจขนส่งอาหารนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการที่จะเติบโตต่อไปได้ต้องไม่หยุดพัฒนา โดยมองว่าเทคโนโลยีไอโอที (IoT) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพราะจะมาช่วยเสริมจุดแข็งด้านบริการ โดยเฉพาะเรื่องเวลา คือ ลดเวลาการขนส่ง, ขนส่งตรงเวลา และรักษาคุณภาพอาหารให้สดใหม่จนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจขนส่งอาหาร
รศ. ดร. ราชวดี ศิลาพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไอโอที ประจำศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login) หัวหน้าโปรแกรมไอเอ๊กซ์ และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ฯ มจธ. กล่าวว่า ในปี 2022 ที่จะถึงนี้ จะเริ่มเห็นบทบาทของไอโอที (IoT) ในธุรกิจขนส่งอาหารมากขึ้น เพราะธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูง ดังนั้นผู้ที่จะชนะในสนามแข่งและเติบโตต่อไปได้ ต้องให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องนี้ คือ การส่งมอบอาหารรวดเร็ว ทันเวลา และรักษาคุณภาพอาหารสดใหม่จนถึงมือผู้บริโภค หากทำทั้ง 2 เรื่องนี้ได้ดีก็จะมัดใจผู้บริโภคไว้ได้อยู่หมัด โดยสามารถทำได้ด้วยการนำเทคโนโลยีไอโอที ที่สามารถตรวจจับสถานะ การเปลี่ยนแปลง และสถานที่ของวัตถุ หรือ สิ่งของที่มีการติดเซ็นเซอร์ที่เชื่อมต่อสู่ระบบอินเทอร์เน็ต เข้ามาใช้ จะทำให้ทั้งผู้ส่งและผู้รับทราบสถานะและคุณภาพอาหารตลอดระยะทางของการขนส่ง
จะเห็นว่าปัจจุบันเวลาเราสั่งอาหารจากแพลตฟอร์ม Food Delivery เราจะสามารถเช็คได้ว่าตอนนี้ไรเดอร์ของเราอยู่ตรงไหน อาหารของเรากำลังเคลื่อนที่มาถึงจุดไหนแล้ว ทำให้เราสามารถวางแผน และรอรับอาหารได้ ซึ่งนี่คือการนำไอโอที มาใช้ในธุรกิจขนส่งอาหารแล้ว เป็นการใช้เซนเซอร์ระบุตำแหน่ง หรือ GPS ที่ติดอยู่บนโทรศัพท์ของไรเดอร์ หรือ ผู้ขับ ตรวจจับตำแหน่งและเชื่อมต่อกับแอปพลิชันบนโทรศัพท์มือถือ ทำให้เราสามารถเช็กอาหารของเราได้ตลอดระยะทาง สิ่งนี้ทำให้ผู้บริโภครู้สึกวางใจในการสั่งอาหาร หรือสามารถกำหนดกิจกรรมของตัวเองระหว่างรออาหารได้ แต่ในอนาคต เช่น ปี 2022 ธุรกิจขนส่งอาหารยังต้องพัฒนาต่อไปอีก โดยไอโอทีจะถูกนำมาใช้มากขึ้น การติดเซ็นเซอร์จะไม่ใช่ติดตามเพื่อดูสถานะการเคลื่อนที่เพียงอย่างเดียว แต่เพื่อตรวจสอบและเช็กคุณภาพอาหารระหว่างการขนส่งด้วย ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าจะได้รับอาหารที่คุณภาพดี ตรงเวลา เป็นหัวใจสำคัญที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตได้ต่อเนื่อง
รศ. ดร. ราชวดี กล่าว
ตลอดปีพ.ศ.2564 ธุรกิจขนส่งอาหาร หรือ Food Delivery เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าธุรกิจขนส่งอาหารขยายตัวถึง 18.4 – 24.4% เมื่อเทียบกับปีพ.ศ.2563 นอกจากนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังวิเคราะห์ว่าธุรกิจขนส่งอาหารนี้จะยังเติบโตต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า แม้สถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลายแล้ว
รศ. ดร. ราชวดี กล่าวเสริมว่า ช่วง COVID -19 ที่ผ่านมา ไอโอทีอาจยังไม่จำเป็นมากนัก เนื่องจากว่าการจราจรไม่ติดขัด การขนส่งสามารถควบคุมเวลาได้ แต่เมื่อวิกฤตคลี่คลาย ผู้คนเริ่มกลับมาเดินทางเหมือนเดิม การควบคุมเวลาในการขนส่งอาหารจะทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และการขนส่งระยะไกล หากไม่มีการบริหารจัดการเรื่องเวลาที่ดีจะส่งผลให้ขนส่งล่าช้า และยังทำให้การควบคุมคุณภาพอาหารทำได้ยาก เพราะไม่มีการตรวจเช็ก หรือควบคุมอุณหภูมิทั้งร้อนและเย็น ขณะขนส่งได้เรียลไทม์ กระทบโดยตรงต่อความพึงพอใจของลูกค้า
ไอโอที จะช่วยวิเคราะห์หาเส้นทางที่ดีและปลอดภัยที่สุด รวมถึงเวลาที่เหมาะสมในการขนส่งได้ ช่วยลดความเสี่ยงที่อาหาร หรือสินค้าจะไปถึงผู้บริโภคล่าช้า นอกจากนี้ ไอโอทียังช่วยควบคุมอุณภูมิของอาหารที่จัดส่ง ไม่ว่าจะอาหารที่ต้องการความร้อน หรือ อาหารแช่แข็งที่ต้องการอุณภูมิคงที่ ทำให้คุณภาพยังคงสดใหม่จนถึงมือผู้บริโภค เช่น ธุรกิจรถขนส่งอาหารที่ใช้ตู้แช่เย็น เมื่อนำไอโอทีไปใช้ ระบบจะสามารถตรวจจับระดับความเย็นได้แบบเรียลไทม์ หากความเย็นเริ่มผิดปกติ ผู้ขับและศูนย์ขนส่งจะรับรู้ได้ทันที เพื่อแก้ปัญหาได้ทันเวลา นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนระยะยาวให้ผู้ประกอบการ เพราะช่วยลดการสูญเสียพลังงาน, สูญเสียอาหาร (Food Waste) รวมไปถึงใช้ทรัพยากรณ์ที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ การนำไอโอทีเข้ามาใช้ในกิจกรรมการขนส่ง ยังมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไอโอทีจะวิเคราะห์เส้นทางขนส่ง หลีกเลี่ยงเส้นทางจราจรที่ติดขัด ช่วยลดมลพิษทางอากาศได้
รศ. ดร. ราชวดี กล่าว
ปัจจุบันผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ในไทย เริ่มศึกษาการนำไอโอทีเข้ามาใช้ในธุรกิจ ทั้งนี้ผู้ประกอบการจะต้องคำนวณต้นทุน และระยะเวลาคุ้มทุน เพื่อวิเคราะห์กับทุนของกิจการ และออกแบบระบบการทำงานของไอโอทีให้เหมาะสม จะเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เสริมแกร่งให้ธุรกิจแข่งขันได้ในระยะยาว