ระยอง – 25 สิงหาคม 2563: สวทช. ประกาศพร้อมเดินหน้าดำเนินงาน “ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC)” ภายใต้เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และ ระบบอัจฉริยะ ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi ARIPOLIS) ณ วังจันทร์วัลเลย์ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติจัดตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าว มีนโยบายให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อต่อยอดการวิจัยพัฒนานำไปสู่เชิงพาณิชย์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ในฐานะที่ สวทช. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เป็นเจ้าภาพหลักในการพัฒนา EECi ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในทุกภาคส่วน ให้เป็นศูนย์กลางการทำวิจัยและพัฒนา เพื่อต่อยอดไปสู่การใช้งานจริงเชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ตามนโยบาย Thailand 4.0
สำหรับโครงการจัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC)” ภายใต้เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และ ระบบอัจฉริยะ ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi ARIPOLIS) ที่ได้รับการอนุมัติจาก ครม. นี้มีระยะเวลาในการดำเนินงานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2564 – 2568 ด้วยงบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อเป็นศูนย์สาธิตด้านอุตสาหกรรมอัจฉริยะ พัฒนาแพลตฟอร์มที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต ผู้พัฒนาระบบ (SI) นวัตกร นักวิจัย ตลอดจนนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดเตรียมไว้ให้ ทั้งในรูปแบบการสาธิต การเรียนรู้ และการทดลองปฏิบัติจริง ได้แก่ เครื่องมือประเมินความพร้อมสู่อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0 Assessment Tools), สายการผลิตเพื่อการเรียนรู้ (Learning Station/Line) และ แพลตฟอร์มทดสอบ (Testbed/Sandbox) รวมไปถึงกิจกรรมวิจัยเพื่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ในการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมและศูนย์กลางรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของประเทศ เปลี่ยนวิถีการผลิตของประเทศตลอด Value Chain ครอบคลุมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และ SME รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มจากการเป็นฐานเชื่อมโยงงานบูรณาการองค์ความรู้และนวัตกรรมร่วมกัน เพื่อต่อยอดการวิจัยพัฒนาสู่การสู่เชิงพาณิชย์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และสร้างให้เกิดผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนสอดคล้องนโยบาย BCG เพิ่มคุณภาพชีวิตและการจ้างงานของประเทศต่อไป