กรุงเทพฯ, ประเทศไทย – 2 พฤษภาคม 2566: วีซ่า ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก ประกาศความร่วมมือกับ บริษัท ทีทูพี จำกัด (T2P) บริษัทฟินเทคชั้นนำของประเทศไทย เปิดให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศแบบดิจิทัลสำหรับลูกค้าทั่วไปเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยโซลูชัน วีซ่าไดเร็ค (Visa Direct) ให้ลูกค้าสามารถโอนเงินข้ามประเทศเข้าบัตรเดบิตวีซ่าภายในเวลาอันรวดเร็วเกือบจะเรียลไทม์[1]
ผู้ส่งเงินในประเทศไทย สามารถโอนเงินไปยังผู้รับในต่างประเทศได้อย่างง่ายดาย เพียงกรอกเลขบัตรเดบิต 16 หลักของผู้รับเงินในแอปพลิเคชัน DeepPocket ของทีทูพี เงินจะถูกโอนไปยังบัตรของผู้รับโดยตรงภายในเวลาไม่ถึง 30 นาที[2] และสามารถนำเงินที่โอนผ่านระบบนี้ไปใช้ได้ในร้านค้าเครือข่ายของวีซ่าที่มีมากกว่า 70 ล้านแห่งทั่วโลก
ซีรีน เกย์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า เรามีความยินดีที่ได้ร่วมกับ ทีทูพี ในการเปิดตัว วีซ่าไดเร็ค ที่จะทำให้การโอนเงินข้ามประเทศมีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยนวัตกรรมโซลูชันการชำระเงินที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน การเปิดตัววีซ่าไดเร็คในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มทั้งด้านความคาดหวังที่เพิ่มสูงขึ้น และความต้องการที่แปรเปลี่ยนไปของผู้บริโภค ที่มองหาวิธีการเคลื่อนย้ายเงินแบบไร้รอยต่อ และปลอดภัยในทุกที่ทุกเวลาที่พวกเขาต้องการ
ด้านทวีชัย ภูรีทิพย์ ประธานบริหาร บริษัท ทีทูพี จำกัด กล่าวว่า จากการเพิ่มขึ้นของการชำระเงินถึงกันได้โดยตรงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์แบบทันทีในประเทศ (Instant Domestic peer-to-peer Payment) เราจึงอยากทำให้การส่งเงินระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับลูกค้า โดยพัฒนาโซลูชันที่ทั้งสะดวก คล่องตัว และปลอดภัย และเพื่อทำตามคำมั่นสัญญานี้ เราจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับวีซ่าในการเปิดใช้โซลูชัน วีซ่าไดเร็ค บนแอป DeepPocket ของเรา ที่ช่วยให้สมาชิกในครอบครัวสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ในเรื่องของการเงินไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก นอกเหนือจากฟังก์ชันที่ง่ายต่อการใช้งาน แอปพลิเคชันยังแสดงให้เห็นถึงอัตราแลกเปลี่ยนแบบเรียลไทม์ และช่วยให้ทั้งผู้โอนและผู้รับทราบจำนวนเงินที่แน่นอนซึ่งจะได้รับในบัตรเดบิตของวีซ่าอีกด้วย
การโอนเงินแบบดิจิทัลกำลังได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก จากผลการวิจัยของ Money Travel: 2023 Remittance Landscape[3] พบว่า ระหว่าง 60-70% ของกลุ่มตัวอย่างในอเมริกาเหนือเคยใช้บริการชำระเงินดิจิทัลผ่านแอปเพื่อโอนหรือรับเงินข้ามประเทศ โดยมีเพียง 10-15% ของกลุ่มตัวอย่างที่ยังพึ่งพาการโอนเงินด้วยเงินสด เช็ค และธนาณัติ
สำหรับสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศหลักด้านบริการโอนชำระเงินในฝั่งของผู้โอน พบว่า 3ใน 5 ของผู้บริโภคที่ร่วมตอบแบบสอบถาม 61% เลือกใช้บริการแบบดิจิทัลเท่านั้นในการโอนเงินระหว่างประเทศ โดยให้เหตุผลในเรื่องของความสะดวกในการใช้งานและความปลอดภัย 53% นอกจากนี้ จากการศึกษาเกี่ยวกับทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคฉบับล่าสุดของวีซ่า[4] ยังแสดงให้เห็นว่าเกือบครึ่งของผู้บริโภคชาวไทย หรือ 48% มองว่าการโอนเงินแบบดิจิทัลเป็นการทำธุรกรรมที่มีความปลอดภัยมากกว่า
โซลูชัน วีซ่าไดเร็ค บนแอป DeePocket นี้ ลูกค้าสามารถโอนเงินได้สูงสุดถึง 2,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อการทำธุรกรรมหนึ่งครั้ง[5]
“สิ่งนี้ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมการชำระเงินของประเทศไทย ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทยที่กำลังมองหาวิธีการส่งเงินไปให้คนที่พวกเขารักในต่างแดน วีซ่ายังจะมุ่งมั่นสร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับทุกคน ทุกที่ และทุกเวลา” ซีรีน กล่าวทิ้งท้าย
[1] เงื่อนไขเป็นไปตามที่กำหนด ยอดเงินที่ใช้ได้จริงจะแตกต่างกันตามที่สถาบันการเงินที่รับและประเภทบัญชีที่รับ วีซ่ากําหนดให้ผู้ออกบัตร Fast Funds สามารถจัดหาเงินไว้ให้ผู้ถือบัตรที่เป็นผู้รับเงินได้ภายในไม่เกิน 30 นาทีนับจากธุรกรรมได้รับอนุมัติ โดยยอดเงินที่รับจริงจะผันแปรตามสถาบันการเงินที่รับเงินปลายทาง
[2] เงื่อนไขเป็นไปตามที่กำหนด ยอดเงินที่ใช้ได้จริงจะแตกต่างกันตามที่สถาบันการเงินที่รับและประเภทบัญชีที่รับ วีซ่ากําหนดให้ผู้ออกบัตร Fast Funds สามารถจัดหาเงินไว้ให้ผู้ถือบัตรที่เป็นผู้รับเงินได้ภายในไม่เกิน 30 นาทีนับจากธุรกรรมได้รับอนุมัติ โดยยอดเงินที่รับจริงจะผันแปรตามสถาบันการเงินที่รับเงินปลายทาง
[3] การสำรวจที่ได้รับมอบหมายจากวีซ่า จัดขึ้นโดย Morning Consult ระหว่างวันที่ 14-28 ธันวาคม 2565 ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใช้บริการโอนเงินและรับเงินครอบคลุมในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก เปรู ฝรั่งเศส โปแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดิอาระเบีย ผ่านการสัมภาษณ์ออนไลน์ โดยการสำรวจในแต่ละประเทศ กลุ่มตัวอย่างจะถูกกำหนดโดยอิงจากการประมาณสำมะโนประชากรด้านอายุ เชื้อชาติ/เผ่าพันธุ์ เพศ การศึกษา และภูมิภาค
[4] การศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2565 ของวีซ่า ซึ่งจัดทำโดย CLEAR ในนามของวีซ่าระหว่างเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม 2565 ในเจ็ดประเทศทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 6,550 คน รวมทั้งผู้บริโภคในประเทศไทยจำนวน 1,050 ราย ที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปี ครอบคลุมทุกระดับการศึกษา และมีรายได้ขั้นต่ำต่อคนที่ 15,000 บาท
[5] ข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่ www.atdeeppocket.com หรือ www.t2pco.com