ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท ฮิตาชิ เอบีบี เพาเวอร์กริดส์ ประเทศไทย (Hitachi ABB Power Grids) แถลงความร่วมมือโครงการ “Supporting Apprentice Students Program” คัดเลือกนิสิตชั้นปีที่ 2 และ 3 ที่มีความสนใจจำนวน 16 คน เข้าฝึกงานที่บริษัท ฮิตาชิ เอบีบี เพาเวอร์กริดส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นระยะเวลา 360 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม - 30 กรกฎาคม 2564
รศ. ดร.ธวัชชัย ชรินพาณิชกุล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์มีความยินดีอย่างยิ่งที่ร่วมมือกับบริษัท ฮิตาชิ เอบีบี เพาเวอร์กริดส์ (ประเทศไทย) จำกัด อีกครั้ง ในการส่งนิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปร่วมฝึกงานจริงจากพี่เลี้ยงและทีมผู้เชี่ยวชาญของบริษัทฯ ตลอดระยะเวลาการฝึกงาน มั่นใจว่านิสิตนักศึกษาที่ร่วมฝึกงานในครั้งนี้จะนำประสบการณ์ที่ได้รับมาเสริมสร้างประสบการณ์ในการเรียนและนำไปใช้ประกอบอาชีพในอนาคตต่อไป
รศ. ดร.แนบบุญ หุนเจริญ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับนิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้มีทั้งหมด 16 คน กำลังศึกษาอยู่ปี 3 ในภาควิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งการส่งนิสิตไปฝึกงานเพื่อให้ได้ประสบการณ์การทำงานจริงเป็นสิ่งที่ภาควิชาให้ความสำคัญมาโดยตลอด ที่ผ่านมาทางภาควิชาเองได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท ฮิตาชิ เอบีบี เพาเวอร์กริดส์ มาให้ความรู้แก่นิสิตมาแล้ว ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้นิสิตได้สัมผัสกับการทำงานจริงกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีการทำงานที่เป็นสากล เป็นการเปิดโลกทัศน์นิสิตอีกทางหนึ่ง และในอนาคตอาจจะมีการส่งนิสิตไปฝึกงานตั้งแต่ปี 2 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และให้นิสิตได้ตระหนักว่าตนเองมีความสนใจด้านใดก็เลือกเรียนทางด้านนั้น
ดร.ประดิษฐพงษ์ สุขสิริถาวรกุล Director & Vice President, HAPG ฮิตาชิ เอบีบี เพาเวอร์กริดส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นิสิตที่เข้าร่วมฝึกงานกับทางบริษัทฯครั้งนี้จะฝึกงานเป็นระยะเวลา 360 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม - 30 กรกฎาคม 2564 ซึ่งจะได้รับประสบการณ์ขณะทำการฝึกงานที่หลากหลาย ทั้งโปรแกรมที่ตนเองสนใจ การได้ออกไปทำงานจริงยังโรงงานของบริษัทฯ ตามความสนใจใน 11 โมดูล ประกอบด้วย 1.Grids Edge Solutions, Microgrid & Battery Energy Storage System (BESS) and e-mesh™ ,2.SCADA and Control Systems, Substation Automation, Protection & Control ,3.High Voltage Switchgear & Breakers, Instrument Transformer Surge Arrester, Capacitor & Filters and Generator Circuit Breakers, 4.Power Transformers and TXpert™ Ecosystem, 5.FACTS & HVDC, 6.Substation & Electrification and Digital Substation with SAM 600, 7.Power Quality, 8.Overvoltage & Controlled Switching (Capacitor, Line and Shunt Reactor), 9.Grid E-Motion Fleet (E-mobility) and TOSA E-bus, 10.Smart Grids and Virtual Power Plants (VPP) และ11.Enterprise Software and The Digital Energy Transformation
“ทั้งหมดนี้นิสิตสามารถเลือกฝึกงานได้ตามความสนใจได้อย่างเต็มที่และในระหว่างฝึกงานหากโมดูลที่ตนเองเลือกทำการฝึกงานแล้วไม่ถนัดก็สามารถที่จะปรับเปลี่ยนไปฝึกงานในโมดูลอื่น ๆได้ นอกจากนั้นยังมีโอกาสเข้าร่วมประชุมออนไลน์กับผู้เชี่ยวชาญของบริษัทจากทั่วโลกอีกด้วย” ดร.ประดิษฐพงษ์ กล่าว
ก่อนสิ้นสุดโครงการฯ ทางบริษัทฯ จะมีระบบประเมินผล รวมถึงระบบการสัมภาษณ์เชิงพฤติกรรม เพื่อวัดทัศนคติ ความรู้ ทักษะที่ได้รับจากการฝึกงานของโครงการ เพื่อพิจารณาและเพิ่มโอกาสให้กับนิสิตนักศึกษาในการร่วมงานกับบริษัทฯ ในอนาคตอีกด้วย