กรุงเทพฯ – 1 กันยายน 2563 : สภาวิศวกร เล็งปรับเงื่อนไขยื่นขอ “ใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม” เดินหน้าหนุน “วิศวกรรุ่นใหม่” รับยุค Disruption ผ่านการนำเสนองานวิจัย หรือแผนดำเนินการแก้ไขสอดคล้องสถานการณ์สังคม อาทิ วิกฤต COVID-19 หรือภัยธรรมชาติ กระตุ้นวิศวกรรุ่นใหม่ พร้อมรับทุกความเปลี่ยนแปลงในยุค Disruption บนพื้นฐานของความเชี่ยวชาญงานวิศวกรรมทุกมิติ
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทยที่ผ่านมา สังเกตได้ว่า นอกเหนือจากองค์ความรู้ด้านการแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญในการคัดกรองผู้เสี่ยงติดเชื้อ และการตรวจรักษา ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์ ก็มีบทบาทสำคัญในการพัฒนานวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์ที่สนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น สภาวิศวกร ในฐานะหน่วยงานที่ควบคุมมาตรฐานวิชาชีพของวิศวกรไทย จึงเตรียมปรับเงื่อนไขการยื่นขอ “ใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม” และการสอบเลื่อนขั้น ผ่านการนำเสนอผลงานด้านวิศวกรรม ที่มีส่วนช่วยแก้ไขหรือบรรเทาสถานการณ์COVID-19 หรือภัยพิบัติธรรมชาติ ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพื่อให้วิศวกรรุ่นใหม่พร้อมเผชิญความเปลี่ยนแปลงยุค Disruption บนพื้นฐานของความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมครบทุกมิติ
“แต่ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ หากขาดความร่วมมือจากทุกมหาวิทยาลัย ที่มีการเรียนการสอนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในการบ่มเพาะทักษะการเรียนรู้นักศึกษา ให้มีความคิดอ่านที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมในอนาคต” นายกสภาวิศวกร กล่าว
อย่างไรก็ดี แม้สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทย จะคลี่คลายลง แต่หลายภาคส่วนยังคงให้ความสำคัญกับมาตรการควบคุมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distance) การทำความสะอาดด้วยเทคโนโลยีฆ่าเชื้อ และมาตรการตรวจคัดกรองบุคคลด้วยการวัดอุณหภูมิ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดซ้ำ
นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างอาคาร/โครงสร้างสาธารณะ ยังเป็นอีกหนึ่งแนวทางแก้ไขในระยะยาว ที่หลายหน่วยงานให้ความสนใจรับวิถีนิวนอร์มอล (New Normal) ซึ่งต้องยอมรับว่าการปรับเปลี่ยนดังกล่าว เป็นการลงทุนค่อนข้างสูง และอาศัยเวลานาน
“ดังนั้น ในกรณีที่หน่วยงานมีความต้องการปรับโครงสร้างเร่งด่วนและต้นทุนต่ำ สามารถใช้ “ฉากกั้น” แบ่งโซนพื้นที่ทานข้าว-ทำงานเพื่อรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล คู่ขนานกับการนำเทคโนโลยีฆ่าเชื้อเข้ามาปรับใช้ ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะสิ้นสุดไม่เกินปีพ.ศ. 2564” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าว