สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย (วปท.) หรือ The Consulting Engineers Association of Thailand (CEAT) เป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรที่ปรึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดประโยชน์ทางวิชาชีพ รักษาสิทธิและผลประโยชน์ของสมาชิก ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา งานวิจัย และเผยแพร่งานวิชาชีพวิศวกรรม ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก กำกับดูแลการดำเนินงานของสมาชิกให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณและมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ ให้ความร่วมมือ คำปรึกษา และข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำงานวิศวกรรมแก่รัฐและองค์กรสาธารณะ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยปัจจุบันมี ดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ดูแลมวลหมู่สมาชิกทั้ง 105 บริษัท
สั่งสมองค์ความรู้ในการทำงานวิศวกรรมหลายด้าน ได้รับความไว้วางใจดำรงตำแหน่งนายก วปท.
ดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย (วปท.) เล่าว่า หลังจากเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี 2521 ก็ได้เข้าทำงานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในสายงานฝ่ายพัฒนาระบบส่ง เป็นวิศวกรออกแบบระบบไฟฟ้าแรงสูง และในระหว่างที่ทำงานอยู่ก็ได้ลาไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย สาขาวิทยาการพลังงาน รวมระยะเวลาในการทำงานที่ กฟผ.ประมาณ 10ปี ตั้งแต่ปี 2522-2531 ต่อมาในปี 2531-2532 ก็ได้มาทำงานในบริษัทเครือปูนซิเมนต์ไทย ที่บริษัท กระเบื้องกระดาษไทย จำกัด ทำหน้าที่เป็นวิศวกรควบคุมการผลิต ในโรงงานผลิตกระเบื้องมุงหลังคา จากนั้นในช่วงปี 2532-2543 ได้เข้าทำงานที่ บริษัท พรีไซซ อีเลคตริค แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ในส่วนการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง โดยเริ่มในตำแหน่งผู้จัดการโรงงาน จากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการ และบริษัทในเครือ ระหว่างที่ทำงานที่นี่ก็ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทอีกใบด้านการบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจมากขึ้น และในปี 2544 ก็เปลี่ยนมาทำงานในด้านวิศวกรที่ปรึกษา บริษัท โปร-เอ็น เทคโนโลยี จำกัด ในตำแหน่งผู้อำนวยการพัฒนาธุรกิจ จนกระทั่งได้รับการปรับตำแหน่งให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของบริษัทฯ จนถึงปัจจุบัน ในช่วงนี้ก็ได้มีโอกาสเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่ คณะรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต การจัดการภาครัฐภาคเอกชน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
“การเข้ามาช่วยทำงานที่สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทยนั้นได้เข้ามาในช่วงที่ทำงานที่ บริษัท โปร-เอ็น เทคโนโลยี จำกัด โดยทำหน้าที่ในตำแหน่งอุปนายกดูแลด้านต่างประเทศ ก่อนที่จะได้รับเลือกจากสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ เมื่อปี 2560 เพราะสมาชิกเห็นว่าผมมีองค์ความรู้ในการทำงานด้านวิศวกรรมหลายด้าน เช่น วิศวกรผู้ออกแบบ วิศวกรผู้ผลิต วิศวกรบริหารโครงการ และวิศวกรการพาณิชย์การค้าขาย และได้เข้ามาช่วยงานสมาคมอย่างยาวนานกว่า 15 ปีแล้ว
“หน้าที่ของนายกสมาคมฯ นั้น ผมพยายามที่จะสานต่องานของนายกสมาคมฯ คนก่อนในการดูแลเรื่องงานออกแบบ กับควบคุมงานก่อสร้าง ส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดประโยชน์ทางวิชาชีพ รักษาสิทธิและผลประโยชน์ของสมาชิก ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา งานวิจัย และเผยแพร่งานวิชาชีพวิศวกรรม ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก กำกับดูแลการดำเนินงานของสมาชิกให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณและมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ ให้ความร่วมมือ คำปรึกษา และข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำงานวิศวกรรมแก่รัฐและองค์กรสาธารณะ ทั้งภายในและภายนอกประเทศของสมาชิก 105 บริษัทอย่างดีที่สุด”
ดร.วิทูรเชื่อมั่นว่ากระบวนการทำงานที่ดีโดยนำ Input ดี ๆ จะได้ได้ Process Output ที่ดีออกมา โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล มีข้อมูล กระบวนมากมายที่จะทำให้ได้สิ่งที่ดี ๆ ออกมา นอกจากนี้แล้ว การมีพันธมิตรที่ดี ผู้เชี่ยวชาญที่ดี เข้ามาร่วมทำงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในทุก ๆ งานทั้งที่บริษัทฯ และสมาคมฯ ให้เกิดผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการแต่ละโครงการก็จะยิ่งเป็นสิ่งที่ดีในการทำงาน
หัวใจสำคัญของการทำงานมีความรู้และความเข้าใจในงานที่ทำ
สำหรับกลยุทธ์ในการทำงานที่ ดร.วิทูร ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานเสมอมา นั่นคือการมีความรู้และความเข้าใจในงานที่ทำ ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใดก็ตาม และจะต้องหาความรู้ให้กับสิ่งที่เราจะทำนั้นให้ได้ เพื่อให้เข้าใจในงานที่เราทำมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตำแหน่งที่เรารับผิดชอบ ซึ่งจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้สามารถจะดำเนินการไปสู่เป้าหมายนั้นได้ และต้องหมั่นหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาเติมเต็มองค์ความรู้ที่มีอยู่ตลอดเวลาด้วย นอกจากนี้ ดร.วิทูรยังได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีแก่ผู้ร่วมงานอยู่เสมอ
“ถ้าเราไม่มีความรู้และความเข้าใจงานที่ทำแล้ว เมื่อเกิดปัญหาติดขัดขึ้นเราจะหาทางแก้ปัญหานั้นอย่างไร ดังนั้น เรารู้ต้องเสียก่อนว่าเรามีสิ่งนี้ รู้สิ่งนี้ แล้วจะมีความรู้พอหรือไม่พอในการที่จะนำมาแก้ปัญหาเรื่องนั้น ๆ เราก็จะสามารถทำสิ่งนั้นได้ถึงจุดที่เราต้องการได้ ส่วนการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ผมมีและศึกษามาแก่คนรอบข้างที่ร่วมทำงานด้วยนั้นผมมักจะทำให้ดูเป็นตัวอย่าง มากกว่าที่จะไปพูดแนะนำเพราะผมคิดว่าค่อนข้างยากในการมองให้เกิดภาพการกระทำ นอกจากนี้แล้ว ผมจะหาองค์ความรู้ใหม่เข้ามาอยู่เสมอ เพราะผมคิดว่าองค์ความรู้ต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในทุก ๆ เรื่อง ไม่จำเป็นต้องเป็นองค์ความรู้จากตำรา หนังสือ แต่อาจจะเป็นจากการทำงานแลกเปลี่ยนกับคนรอบข้างเราก็ได้”
แนะปรับการทำงานให้ทันยุคดิจิทัล สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0
ดร.วิทูร กล่าวว่า การพัฒนาองค์กรให้สอดคล้องกับ Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาลนั้นสะท้อนความคิดว่า ปัจจุบันทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำในประเทศไทยนี้ มูลค่าเพิ่มน้อย เพราะว่าเรายังยึดโยงวิถีชีวิตการทำงานแบบเดิม ๆ ปลูกข้าวปลูกแบบเดิม ควบคุมงานก่อสร้างก็ทำแบบเดิม แต่เรายังไม่มีแรงผลักดันไปกระตุ้นให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดมูลค่าขึ้น อย่างเช่น งานชิ้นหนึ่งเราจะใช้คนทำงานหลายคน ใช้เวลามาก แต่ถ้าลดจำนวนคนลงและใช้เวลาทำให้น้อยกว่านี้ ทั้งหมดนี้ถ้าทำได้สำเร็จเราจะเป็นการเพิ่มมูลค่าต่อความสำเร็จในงานที่ทำ เวลาที่ใช้ไป และค่าใช้จ่ายที่ใช้ไป เป็นต้น
การปรับใช้ Thailand 4.0 ในชีวิตนั้น โดยใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร เราไม่ต้องอยู่ที่ทำงานทุกวันก็ได้ เพราะหากมีเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เราจะทำงานที่ไหนก็ได้ทุกที่ทุกเวลา เช่น การมีโทรศัพท์มือถือที่ทันสมัยเข้ามาใช้ทำงานในปัจจุบันมีทั้งภาพ เสียง อินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงการทำงาน ซึ่งมีวิธีที่ทำงานที่จะได้ข้อมูลที่เร็วขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญคือคนทั้งหลายจะต้องเปลี่ยนความคิดตนเองเสียก่อนว่า วิธีการทำงานที่เคยปฏิบัติอยู่แบบเดิมนั้นไม่ทันยุคสมัยแล้ว
สำหรับเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมในอนาคตนั้น วิศวกรจะต้องทำความเข้าใจเรื่องการไหลเวียนของข้อมูลเพื่อดึงเอาข้อมูลมาปรับใช้งานตามสายงานที่ทำ จะได้ไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นอาจจะอยู่ในคลาวด์ เพื่อรอการดึงมทาใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น โรงงานอุตสาหกรรม 4.0 วิศวกรรมที่ควบคุมจะนำเทคโนโลยีใช้งานแทนคนมากขึ้น หรือ การใช้โดรนทำการตรวจสอบภายนอกอาคารโดยที่ไม่ใช้คน รถไม่ต้องมีคนขับ เพราะเราใช้ดาวเทียม และเซ็นเซอร์บังคับ เป็นต้น
“การทำงานเดิมคือแบบอนาล็อก ไม่ทันสมัยแล้ว เราต้องปรับให้ทันยุคสมัยในยุคดิจิทัล โดยใช้แนวคิดว่า ข้อมูลที่เป็นแบบดิจิทัลมีอยู่แล้วแต่เราไม่เคยเก็บรวบรวมเท่านั้นเองเพื่อนำมาใช้ในทันทีที่ต้องการ มองอีกมุมคือว่าใช่ เราเก็บข้อมูลเพื่อรอการใช้ กับการเก็บข้อมูลมาไว้เพื่อใช้งานได้ทันที แล้วข้อมูลที่เรามีจะเพิ่มมูลค่าขึ้นอย่างทันทีทันใด ผมยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องเก็บข้อมูลอย่างหนึ่งไว้ก่อน 3 วันค่อยมาวิเคราะห์ แล้วทราบว่าดีหรือไม่ดี แล้วต้องไปเก็บข้อมูลมาใหม่ก็เท่ากับว่าเราจะเสียเวลาไป การทำให้เป็น Thailand 4.0 จะต้องใช้เวลาน้อยที่สุด เรียกว่า Output กับ Outcome ต้องเป็นเวลาเดียวกันหรือห่างกันไม่มากนัก”
มีธงนำในการดำเนินชีวิตให้ถูกทิศถูกทาง
สำหรับปรัชญาในการดำเนินชีวิตของ ดร.วิทูร จะมองที่ปลายทางของการดำเนินชีวิตเสมอในทุก ๆ เรื่องที่ทำ มีการดำเนินชีวิตที่เป็นขั้นตอน รู้ว่าอะไรควรทำก่อนและหลัง และในแต่ละขั้นตอนนั้นต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อไปสู่เป้าหมายของชีวิตในทุก ๆ เรื่อง เรียกว่ามีธงนำในการดำเนินชีวิตให้ถูกทิศถูกทาง
“บางคนที่ไม่มีจุดมุ่งหมายหรือปลายทางในการดำเนินชีวิตนั้น เราก็บอกไม่มีธงนำ ก็เดินทางไปเรื่อย ๆ ในแต่ละวันอาจจะเดินถูกก็ได้ แต่การมีธงนำในการดำเนินชีวิตเมื่อมีปัญหาเราอาจจะเลี้ยวซ้ายบ้าง เลี้ยวขวาบ้าง คือหาทางแก้ปัญหาที่เกิดในระหว่างธงที่นำให้หมดไป แต่เป้าธงก็ยังสู่จุดหมายเดิม ทีนี้คำถามต่อไปก็จะเกิดขึ้นว่า แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่าจุดหมายปลายทางถูกหรือผิด ผมก็ตอบเสมอว่าย้อนกลับไปดูในความเป็นจริงว่าเราต้องมีความรู้ ความเข้าใจที่จะบอกได้ว่าธงที่เราวางเอาไว้นี่ ไม่ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้วในบางเรื่อง แต่ก็คงจะมีเกณฑ์ในการตอบว่าอยู่ในข่ายที่เชื่อถือ ยึดถือได้ ตอบได้ และเมื่อเดินตามไปสักพักหนึ่งอาจจะมีการขยับธงบ้างก็ได้ แต่โดยที่มีบทบาทหน้าที่หลายอัน ผมก็ต้องมีหลายธง และธงเหล่านั้นต้องสอดประสานกันด้วย ถ้าธงเหล่านั้นไม่สอดประสานกันชีวิตเราจะเหมือนกับคนสับสนชุลมุนวุ่นวายตลอด ดังนั้นธงที่มีจะต้องนำมาจัดเรียงเชื่อมโยงร้อยเรียงกันให้ได้ ไม่เช่นนั้นชีวิตเราจะลำบากมาก
“โชคดีที่ผมเป็นคนที่มีวินัยในการแบ่งเวลามาก เพราะฉะนั้น ผมอาจจะแบ่งเวลา โดยเอาวัตถุประสงค์เป็นหลัก แล้วก็มาดูว่า ในวัน ๆ หนึ่ง ในเวลา ๆ หนึ่ง เราจะคิดเรื่องอะไร ธงไหนคิดเรื่องอะไรเป็นหลัก บางครั้งก็จะดูแลและควบคุมได้บ้างและไม่ได้บ้าง แต่ธงที่ทำงานแต่ละงานนั้นก็จะกลับมาที่ทิศทางที่วางเสมอ แม้ภารกิจค่อนข้างมาก เช่น ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เรารู้ว่า ตอนนี้ขาดทุนแน่ถ้าลงทุน กระแสเงินสดไม่มีแน่ ทำความเข้าใจแล้วหาทางแก้เสีย ส่วนใหญ่บางคนกลัว แล้วไม่มีวิธีแก้ กลัวจนเครียด ถ้าคุณเป็นหนี้พันล้าน ถ้าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไปทุกวันจะเป็นเท่านี้ แต่ถ้าคุณไปเจรจาลดหนี้ได้ก่อน ก็จะลดลงไปก่อน ดังนั้นเราต้องหาวิถีทางแก้ปัญหาให้ได้เสียก่อน ดูแลให้ถูกต้อง ผมไม่ได้แปลว่าไม่เครียด แต่อย่างน้อยผมก็มีวิธีการทำความเข้าใจก่อนที่จะเพิ่มความเครียดให้กับตัวเองในเรื่องนั้น ๆ มากจนเกินไป อีกข้อคือผมจะมีวิธี Break down เป็นเรื่อง ๆ เป็นช่วง ๆ ในการทำงาน นี่คือสิ่งที่สำคัญมาก คนส่วนใหญ่จะมองปัญหาเป็นก้อนใหญ่ทั้งหมด แต่ผมจะมองเป็นก้อน ๆ เป็นเรื่อง ๆ มองว่าจะแก้เรื่องไหนก่อน เรื่องไหนหลัง หลายคนมองรวมปัญหาจะสับสนไม่รู้จะทำอย่างไรดี จึงจมอยู่กับปัญหา หาทางออกไม่ได้” ดร.วิทูร กล่าว
ที่มา : Engineering Today No 163 January -February 2018