วศ.เปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ : NQI for Food System แนะนำการนำระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศไปใช้ในการยกระดับระบบอาหาร พร้อมโชว์ผลงานวิจัยด้านการรับรองมาตรฐานในงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม 2566” หรือ “TRIUP FAIR 2023” ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน
รอยัล พารากอน ฮอลล์ – 18 กรกฎาคม 2566 :ภายในงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม 2566 หรือ “TRIUP FAIR 2023” กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัด “การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้: NQI for food system” ซึ่งเป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการนำระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI ) ไปใช้ในการยกระดับระบบอาหารของประเทศให้มีคุณค่าทางคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) มีระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพในส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารหรือกระบวนการผลิตอาหาร การทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร การทดสอบความชำนาญการตรวจสอบคุณภาพอาหารในห้องปฏิบัติการ และการสอบเทียบเครื่องมือวัดในห้องปฏิบัติการอาหารและโรงงานผลิตอาหาร ซึ่งได้มีการดำเนินการอย่างเชื่อมโยงและสอดคล้องกันในระบบ NQI สามารถตรวจสอบและรับรองคุณภาพวัตถุดิบอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริโภคได้รับอาหารที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ตลอดจนผู้ประกอบการอาหารสามารถผลิตสินค้าอาหารที่มีคุณภาพ เป็นการยกระดับระบบอาหารของประเทศให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน
ในการเสวนาฯ เยาวลักษณ์ ชินชูศักดิ์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ วศ. กล่าวว่า NQI เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ ซึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดย NQI ด้านวิทยาศาสตร์จะมีการดำเนินงานใน 5 ด้าน ได้แก่ มาตรวิทยา การกำหนดมาตรฐาน การรับรองระบบงาน การตรวจสอบและรับรอง และการกำกับดูแลตลาด ซึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกของประเทศให้ดีขึ้นนั้น จะประกอบด้วย การขับเคลื่อนและความตระหนักรู้ด้าน NQI เพื่อส่งเสริมและพัฒนาบุคลากร การขับเคลื่อนมาตรฐานจากการวิจัยพื้นฐานและการพัฒนาวิธีทดสอบ ขับเคลื่อนระบบการวัด ขับเคลื่อนมาตรฐานทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามที่กำหนด ขับเคลื่อนพัฒนาหน่วยตรวจสอบและรับรอง และขับเคลื่อนการรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการ ซึ่งทั้ง 6 กลไกนี้ วศ.ได้มีการดำเนินการครบในทุกรูปแบบ
อย่างไรก็ดีการจัดระบบ NQI ให้มีเหมาะสมและมีประสิทธิผล จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์และบริการในท้องตลาดเป็นไปตามกฎระเบียบทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัย ภาคธุรกิจซึ่งส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีการพัฒนากระบวนการในการดำเนินธุรกิจทั้งการผลิต จำหน่ายและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นไปตามข้อกำหนด ขณะที่ภาคสังคมจะช่วยให้เกิดการแข่งขันทางการตลาดอย่างเท่าเทียม โดยมุ่งเน้นสร้างความมั่นใจในคุณภาพและความน่าเชื่อถือสร้างโอกาสให้กับผู้ซื้อผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป ส่วนด้านเทคโนโลยีจะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในการผลิตและบริการใหม่ เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ห่วงโซ่การผลิตและการตลาดในทุกระดับ ซึ่งหากมีการจัดระบบ NQI อย่างเหมาะสมแล้วจะช่วยลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนได้
ด้าน ดร.จิราภรณ์ บุราคร นักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กองผลิตภัณฑ์อาหารและวัสดุสัมผัสอาหาร วศ. กล่าวว่า ในระบบอาหาร หรือ Food System นั้น จะขาดระบบคุณภาพไม่ได้เลย ซึ่งในทุกกระบวนการผลิตอาหารตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จะมี NQI เข้ามาเกี่ยวข้องเพราะตอบโจทย์ผู้บริโภคในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัย และในแต่ละกระบวนการผลิต วศ.ได้เข้าไปตอบโจทย์ด้วยบริการที่หลากหลาย เช่น ด้านการกำหนดมาตรฐาน (SDO สำหรับ สมอ.)รับรองห้องปฏิบัติการ ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ฟิสิกส์ เคมี การทดสอบสินค้าเกษตร อาหาร การวิจัยด้านบรรจุภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้ยังมีฐานข้อมูลด้านอาหารอีกด้วย
สำหรับมุมมองเกี่ยวกับระบบอาหารและความท้าทายของ วศ.ในงานด้าน NQI ในอนาคต ดร.จิราภรณ์ กล่าวว่า ในเรื่อง NQI ขณะนี้ วศ.มียุทธศาสตร์ด้านอาหาร 2 ด้านคือ การยกระดับ NQI ในด้านอาหารเพื่อสร้างคุณค่าของระบบอาหารของประเทศ และการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหาร ซึ่งอาหารที่ วศ.พัฒนาจะมุ่งเน้นที่ “สมาร์ทฟู๊ด” ซึ่งเป็นอาหารที่ตอบโจทย์ด้านความมั่นคงทางอาหาร มีความปลอดภัย มีคุณค่ามากขึ้น และมีความทันสมัย
ขนิษฐา อินทร์ประสิทธิ์” หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนาอาหารแปรรูป กองเทคโนโลยีชุมชน วศ. กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ซึ่งข้อมูลที่ผ่านมาในรอบ 10 ปีจะเห็นว่ามีการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะมีการชะลอตัวบ้างในช่วง COVID-19 ซึ่งจากฐานข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ระบุมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารไทยเดือนเมษายน 2566 มีมูลค่า 143,631 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 24.4 % โดยสิ่งที่น่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรมนี้คือ อัตราส่วนสินค้าของไทยที่สามารถส่งออกได้ และที่เป็นตลาดภายในประเทศในกลุ่มของวัตถุดิบ และวัตถุดิบที่มีการแปรรูปขั้นต้นซึ่งมีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอาหารควรมองทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน หรือ Food Supply Chain ซึ่งระบบมีความซับซ้อนและใหญ่มาก ไม่สามารถจัดการกับระบบอาหารโดยใช้โซลูชั่นเดียวได้ จึงต้องมีการจัดการในเชิงบูรณาการทั้งกระบวนการของธุรกิจ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยง ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การรวบรวม การแปรรูป การกระจายสินค้า การขนส่ง การบริโภคและการค้าปลีก
“ เรื่องของ Food Supply Chain เมื่อก่อนจะมีการพูดถึงเรื่องของ Farm to Table ซึ่งเน้นเรื่อง Food Safety แต่ปัจจุบันเรากำลังพูดถึง Farm to Fork ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องของ Food Safety อย่างเดียว แต่ยังเป็นการสร้างระบบการผลิตอาหารที่เป็นธรรม ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำอย่างไรให้การจัดการอาหารเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการสูญเสียอาหารในตลอดห่วงโซ่อุปทานและสร้างความมั่นคงของอาหารเพิ่มขึ้น โดยในห่วงโซ่อุปทานทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำนั้นจำเป็นต้องมีการควบคุมมาตรฐาน ตรวจสอบมาตรฐานและการกำกับตามมาตรฐานในทุกกระบวนการ ซึ่งวงการอาหารเป็นอะไรที่ซับซ้อนมาก ไม่ใช่เรื่องง่ายในการเข้ามาและอยู่ได้นาน ปัจจุบันมีเกณฑ์กำหนดและตัวชี้วัดในเรื่องของความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้น และไม่ใช่แค่เรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคอย่างเดียว แต่ยังต้องใส่ใจในเรื่องของการรักษ์โลก และสร้างอัตลักษณ์อีกด้วย” ขนิษฐา กล่าว
ด้านการวัด ฐานันดร พิทักษ์เกียรติ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กองสอบเทียบเครื่องมือวัด วศ.กล่าวว่า มาตรวิทยาหรือการวัดมีบทบาทสำคัญสำหรับการสนับสนุนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ซึ่งการวัดเป็นกระบวนการหนึ่งในหลายๆกระบวนการที่สร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ก่อนถึงผู้บริโภค โดยการวัดจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ภาคเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ การเก็บรักษา การแปรรูป การขนส่ง การจัดจำหน่ายร้านค้า จนถึงมือผู้บริโภค
นอกจากนี้ ภายในงาน “TRIUP FAIR 2023” กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ยังนำเสนอผลงานวิจัยในบูธนิทรรศ ฯ ในโซนการรับรองมาตรฐาน และกฎหมาย/กฎระเบียบ ซึ่งมีผลงานที่น่าสนใจ เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการทดสอบวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพรเพื่อรองรับการจัดทำมาตรฐานสารสกัดสมุนไพร ซึ่ง วศ.เป็นหน่วยงานที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐาน(SDOs)ประเภทขั้นสูง ในสาขาผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากสมอ. ซึ่งได้เล็งเห็นความสำคัญในการควบคุมคุณภาพสารสำคัญในพืชกระท่อม โดยได้มีการศึกษาวิธีการสกัด วิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในตัวอย่างพืชกระท่อม รวมถึงทดสอบความใช้ได้ของวิธีการวิเคราะห์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีนำเสนอการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน:ภาชนะสัมผัสอาหารจากธรรมชาติกาบหมาก การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบวัสดุและอุปกรณ์การแพทย์และการรับรองงานห้องปฏิบัติการอีกด้วย
สำหรับงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม 2566 หรือ “TRIUP FAIR 2023” สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และภาคเอกชน จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Journey to Impact : เส้นทางจากงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” เพื่อเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้เกิดระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ โดยในงานมีการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่พร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์กว่า 300 ผลงาน มีบริการให้คำปรึกษาจากหน่วยงานต่าง ๆ กว่า 60 หน่วยงาน การอบรมเกี่ยวกับการรับรองมาตรฐานรวมถึงการจับคู่ธุรกิจ งานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่18-19 กรกฏาคม 2566 ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน