กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) หนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เปิดให้บริการรับรองผลิตภัณฑ์ภาชนะสัมผัสจากกาบหมาก เสริมความเชื่อมั่นและสร้างความปลอดภัยให้ผู้บริโภค พร้อมเปิดตัวแพลตฟอร์ม รับรองผลิตภัณฑ์ผ่านระบบดิจิทัล อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ
นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การตรวจและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ เป็นหนึ่งภารกิจหลักของ วศ. ในการส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่ง วศ. เชื่อว่าการตรวจรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์นั้นจะทำให้ผู้บริโภคได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
โดยล่าสุดกองตรวจและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ ของ วศ. ได้เปิดให้บริการรับรองภาชนะสัมผัสอาหารจากธรรมชาติได้แก่ กาบหมาก ซึ่งเป็นการรับรองผลิตภัณฑ์ที่มีแนวคิดและการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย BCG Model และในอนาคตจะขยายบริการทั้งชนิดและจำนวนรวมถึงขอบเขตของการบริการในตรวจสอบให้กว้าง ขวางมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ วศ.ยังได้เปิดตัวแพลตฟอร์มการรับรองผลิตภัณฑ์ผ่านระบบดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่ยื่นขอการรับรองผลิตภัณฑ์ให้สามารถติดตามกระบวนการการดำเนินงานการรับรอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรับรองผลิตภัณฑ์ ให้เชื่อมโยงข้อมูลกันได้ โดยประชาชนทั่วไปสามารถสืบค้นข้อมูล เพิ่มความมั่นใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการใช้งานที่ง่ายและสะดวกต่อไป
ด้านดวงกมล เชาวน์ศรีหมุด ผู้อำนวยการกองตรวจและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ วศ. กล่าวว่า ปัจจุบันกองตรวจและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ ได้ให้บริการรับรองผลิตภัณฑ์วัสดุสัมผัสอาหาร ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง และผลิตภัณฑ์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงมีแผนที่จะให้บริการการรับรองผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve เช่น อุปกรณ์หรือเครื่องยนต์กลไกในหุ่นยนต์อัตโนมัติ ต่าง ๆ
“ในส่วนของการรับรองผลิตภัณฑ์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน วศ.ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการนำวัสดุท้องถิ่นทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ โดยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพเหมาะสมกับการใช้งาน และมีการจัดการแบบ Zero Waste จึงเปิดบริการให้ใบรับรองผลิตภัณฑ์ภาชนะสัมผัสอาหารตามธรรมชาติ : กาบหมาก ขึ้น โดยได้ศึกษาและพัฒนาหลักเกณฑ์ในการออกข้อกำหนดผลิตภัณฑ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการรับรองผลิตภาชนะสัมผัสอาหารที่ทำมาจากกาบหมาก ซึ่งมีข้อกำหนดเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น ความปลอดภัยทางจุลชีววิทยา ปริมาณสารโลหะหนัก และคุณสมบัติทางด้านกายภาพทั้งด้านความคงทน และความชื้นของภาชนะที่อาจทำให้เกิดเชื้อราได้ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจะต้องผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการ และยังต้องผ่านการพิจารณาถึงมาตรฐานในสถานที่ผลิตอีกด้วย” ดวงกมล กล่าว
แม้ปัจจุบันข้อกำหนดในการออกใบรับรองดังกล่าวจะยังไม่มีมาตรฐานที่เป็นสากล แต่ก็มีข้อกำหนดในการซื้อขายโดยเฉพาะการส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งต้องนำมาประกอบในวิธีการทดสอบด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้ และผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการผู้ผลิตภาชนะสัมผัสอาหารจากกาบหมากมาใช้บริการแล้วกว่า 30 โมเดล โดย วศ. ได้ให้ใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ฯ แล้วแก่ 3 ผู้ประกอบการ คือ วิสาหกิจชุมชนพรุควนเคร็ง วิสาหกิจชุมชนโฮมฮักตากและวิสาหกิจชุมชนผลิตจานกาบหมากและวัสดุธรรมชาติ ห้างฉัตร ลำปาง
สำหรับผู้สนใจการให้บริการออกใบรับรองผลิตภัณฑ์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ของ วศ. สามารถเยี่ยมชมได้ที่ งานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2565 ( TechnoMart 2022 ) ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 ที่ลาน Parc Paragon และ Living Hall ศูนย์การค้าสยาม พารากอน