กรุงเทพฯ – 13 มกราคม 2565 : ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวง อว. ให้การต้อนรับ ฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นพร้อมคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อแนะนำตัวและหารือในเรื่อง การสอดประสานความร่วมมือระหว่างโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ของไทย และยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว (Green Growth Strategy – GGS) ของญี่ปุ่น และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
โอกาสนี้ ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. ร่วมต้อนรับและหารือด้วย ณ ห้องพระจอมเกล้า สป.อว. ถนนโยธี
โดยฝ่ายญี่ปุ่นนำเสนอนโยบาย Asia-Japan Investing for the Future Initiative (AJIF) เพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่ออนาคต โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมและเทคโนโลยีแบบยั่งยืน มุ่งเน้นให้เกิดการสร้างร่วมกัน ( Co-Creation) ภายใต้แนวคิดการลงทุนเพื่ออนาคตแห่งทวีปเอเชียสำหรับประเทศไทย ซึ่งญี่ปุ่นเล็งเห็นปัญหาในเรื่องอุตสาหกรรมการผลิต ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน กับดักรายได้ปานกลาง และสังคมผู้สูงอายุ ที่รัฐบาลไทยพยายามแก้ปัญหาผ่านนโยบาย Thailand 4.0 และ BCG Economy Model ซึ่งญี่ปุ่นประสงค์ให้มีการส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ปัญหา ผ่านการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเพิ่มศักยภาพในการผลิตผ่านนวัตกรรม และการส่งเสริมการใช้ Data และ AI Technology ทั้งนี้ฝ่ายญี่ปุ่นคาดหวังว่านโยบายดังกล่าวจะได้รับการผลักดันจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของญี่ปุ่นผ่านการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย
ทั้งนี้วว. มีโครงการความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ในกรอบประเด็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG , Total Solutions, Laboratory & Service , Packaging กับหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน และสถาบันการศึกษาของญี่ปุ่น ภายใต้การใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของทั้งสองประเทศ อาทิ โครงการวิจัยและพัฒนากระบวนการออกซิเดชันขั้นสูงสำหรับการกรองน้ำดื่ม การรีไซเคิลน้ำเสียและการแยกเกลือออกจากน้ำ โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ Pro-Herb จากโพรไบโอติกและสมุนไพร โครงการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการจำแนก การประเมิน และการควบคุมส่วนผสมที่มีผลกับสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากทรัพยากรธรรมชาติในราชอาณาจักรไทย โครงการประเมินปัจจัยที่กำหนดประเภทป่าและการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝน โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อการพัฒนาสวนบนดาดฟ้า ฟาร์มแนวตั้ง ฟาร์มหุ่นยนต์ และเกษตรแม่นยำ โครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อศึกษาสิ่งแวดล้อมบรรจุภัณฑ์ขนส่งในประเทศไทย โครงการความร่วมมือด้านการศึกษาการจัดการวัสดุและวิศวกรรมโลจิสติกส์ โครงการวิจัยและพัฒนาการใช้กากมันสำปะหลังหมักยีสต์เป็นอาหารสัตว์เพื่อพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์ และโครงการศึกษาสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและการเก็บรักษาไว้ในคลังเก็บรักษาสายพันธุ์ เป็นต้น