สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ทุนสนับสนุน ผศ.ดร.ว่าน วิริยา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาหน้ากากนาโนป้องกัน COVID -19 และ ฝุ่น PM2.5 ภายใต้ความร่วมมือกับ รศ.ดร.นพวรรณ ชนัญพานิช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ทำให้ผลิตฟิลเตอร์คุณภาพใกล้เคียงผลิตภัณฑ์จากไต้หวัน สามารถป้องกัน COVID -19 ไปพร้อม ๆ กับมลภาวะทางอากาศฝุ่น PM2.5
ผศ.ดร.ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พัฒนาและผลิตหน้ากากนวัตกรรมนาโนป้องกัน COVID -19 และฝุ่น PM2.5 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. ซึ่งก่อนจะพัฒนาหน้ากากให้มีคุณสมบัติดังกล่าว นักวิจัยได้พัฒนาหน้ากากสำหรับป้องกันมลภาวะทางอากาศอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งยังมีสายสัมพันธ์กับเพื่อนในไต้หวันที่ทำงานด้านการป้องกันมลภาวะทางอากาศในไต้หวันที่ผลิตแผ่นกรองนาโน (Nano Filter)
เมื่อประเทศไทยเกิดปัญหาขาดแคลนหน้ากากสำหรับป้องกันฝุ่น PM2.5 ดร.ว่านจึงนำแผ่นกรองนาโนจากไต้หวันและเกาหลีใต้มาผลิตเป็นไส้กรองสำหรับหน้ากากผ้า และยังเป็นวิทยากรให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลต่าง ๆ ในเรื่องการผลิตหน้ากากป้องกันฝุ่นขนาดเล็ก โดยให้ชุมชนใช้แผ่นกรองนาโนเย็บเป็นหน้ากากและฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีเพื่อให้ประชาชนและแพทย์ใช้งาน จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID -19) และหน้ากากอนามัยได้หายจากตลาด จึงได้พัฒนาหน้ากากที่ใช้แผ่นกรองนาโนสำหรับป้องกันฝุ่นและป้องกัน COVID -19
ดร.ว่าน กล่าวว่า หน้ากากนวัตกรรมนาโนป้องกัน COVID -19 และฝุ่น PM2.5 เป็นหน้ากากแบบ Non-woven ซึ่งเป็นเส้นนาโนที่ฉีดให้เป็นเส้นเล็ก ๆ ยิ่งเล็ก ยิ่งกรองฝุ่นขนาดเล็กได้มาก และกรองฝุ่นและเชื้อโรคด้วยการปะทะให้ติดตรงเส้นใย จึงสามารถล้างทำความสะอาดได้ ในส่วนของแผ่นกรองนาโน ดร.ว่านได้ร่วมมือกับ รศ.ดร.นพวรรณ ชนัญพานิช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ในการพัฒนาแผ่นกรองนาโนขึ้นใช้เอง ซึ่งมีคุณสมบัติในการกรองฝุ่นระดับเดียวกับหน้ากาก N95 สามารถกรองอนุภาคขนาด 0.5 ไมครอน มีประสิทธิภาพป้องกันได้ 96.5% สามารถป้องกันได้ทั้งโควิด-19 และ PM2.5 ซึ่งมีคุณภาพใกล้เคียงแผ่นกรองนาโนจากไต้หวัน ที่สามารถกรองอนุภาคขนาด 0.075 ไมครอน มีประสิทธิภาพป้องกันได้ 99%
ปัจจุบันหน้ากากนาโนใช้ระบบเย็บด้วยเข็ม แต่แนวทางการพัฒนาในอนาคตจะปรับเป็นการเย็บด้วยแรงสั่นสะเทือน โดยใช้เครื่องจักรสั่นสะเทือนที่ทำให้เกิดความร้อน ซึ่งประสิทธิภาพดีกว่าการเย็บด้วยเข็ม เนื่องจากเป็นการเย็บแบบหนีบ จึงไม่ทำให้เกิดรูตรงรอยเย็บ