ร่วมขับเคลื่อนระบบบริหารการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (RDIMS) สำหรับ SMEs



สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ (สรอ.) และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (สพช.) ร่วมขับเคลื่อนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้ประยุกต์ใช้ และได้รับการตรวจประเมินและรับรองความสอดคล้องตามข้อกำหนดระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Research, Technology Development and Innovation Management System : RDIMS) โดย สวทช. วว. และ สรอ. จะทำหน้าที่ตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานระบบ RDIMS ตามข้อกำหนดที่พัฒนาขึ้น ส่วน สพช. จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำการจัดให้มีมาตรฐานดังกล่าว ให้เป็นไปอย่างมีระบบและมีความต่อเนื่อง


ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อยังคงความสามารถในการแข่งขันและการอยู่รอดแบบยั่งยืน ซึ่งต้องมีการริเริ่มพัฒนาและใช้เงินในการลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อยอดผลงานวิจัยให้เกิดเป็นนวัตกรรมสู่การนำไปใช้ได้จริงเชิงพาณิชย์มากขึ้น เพราะจะช่วยให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถตอบสนองต่อโอกาสภายนอก ที่มีปัจจัยเสี่ยงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะยุติลงได้เมื่อไรและปัจจัยภายในทั้งสถานการร์การเมือง เศรษฐกิจ การค้าและสถานการณ์ COVID-19 ได้อย่างยั่งยืน

ในช่วงที่ผ่านมา สวทช. ได้จัดทำมาตรฐานการบริหารจัดการองค์กรเกี่ยวกับระบบ RDIMS ขึ้นร่วมกับพันธมิตร 3 หน่วยงาน ได้แก่ วว. สรอ.และสพช. ร่วมขับเคลื่อนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้ประยุกต์ใช้ และได้รับการตรวจประเมินและรับรองความสอดคล้องตามข้อกำหนดระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Research, Technology Development and Innovation Management System : RDIMS) โดยเบื้องต้นเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีในรูปแบบ Self-Declaration ซึ่งผู้ประกอบการจะสามารถนำรายจ่ายด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ โดยไม่ต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก สวทช. ก่อน

ดร.ณรงค์ กล่าวว่า สำหรับปีงบประมาณปีพ.ศ. 2564 นี้ สวทช. ได้ประสานความร่วมมือกับ 3 หน่วยงานดังกล่าวมากขึ้น เช่น ร่วมกับ สพช. เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำการจัดให้มีมาตรฐาน และร่วมกับ วว. และ สรอ. เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบรับรองมาตรฐานดังกล่าว โดยเป็นความร่วมมือภายใต้หนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ทั้ง 4 หน่วยงานพันธมิตรจะร่วมกันดำเนินการผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานระบบ RDIMS รวมทั้งสามารถประยุกต์ใช้ระบบ RDIMS ในองค์กรได้อย่างถูกต้อง อันจะนำไปสู่การกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารองค์กรพันธมิตรเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัยฯ ของผู้ประกอบการเอกชนต่อไป


ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า วว. เป็นหน่วยรับรอง (Certification Body) มีความเชี่ยวชาญด้านการตรวจประเมินระบบบริหารจัดการตามมาตรฐานสากล เมื่อได้ร่วมทำงานกับ สวทช. ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการพิจารณาโครงการวิจัยที่จะนำไปใช้ประโยชน์ทางภาษี จึงได้ร่วมกันพัฒนามาตรฐาน RDIMS โดยประยุกต์จากมาตรฐานระบบบริหารจัดการคุณภาพ (ISO 9001) รวมถึงพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับผู้ตรวจประเมิน RDIMS ต่อมาขยายความร่วมมือเรื่อยมา กระทั่งล่าสุด คือ การดำเนินงาน “การสร้างความสามารถในการดำเนินการด้านระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับองค์กรภาครัฐและเอกชน” โดย วว. และ สวทช. ได้ร่วมกันปรับปรุงแก้ไขมาตรฐาน RDIMS และประกาศใช้ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมกันผลักดันและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผ่านการรับรองมาตรฐาน RDIMS เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจของผู้ประกอบการ อีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านภาษีเพื่อให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทุกประเภทที่สนใจเข้าร่วมโครงการมีที่ปรึกษาในขอบเขตการพัฒนาผลืตภัณฯฑ์ของแต่ละบริษัท เพื่อที่จะสร้างให้เกิดประโยชน์แข่งขันได้ในระดับสากลต่อไป


 พรรณี อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ (สรอ.) กล่าวว่าว่า สรอ. เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองระบบบริหารจัดการตามแนวทางมาตรฐานสากล รวมทั้งการพัฒนาบุคลากร การตรวจประเมินและการทวนสอบการนำมาตรฐานระบบการบริหารจัดการสากลไปปฏิบัติในองค์กรหรือสถานประกอบการ

สำหรับบทบาทของ สรอ. ในการเข้าร่วมโครงการนี้ มี 2 บทบาทหลัก ได้แก่ 1.การตรวจประเมินและการทวนสอบการนำข้อกำหนดระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ระบบ RDIMS) ไปปฏิบัติขององค์กรหรือนำไปใช้ในสถานประกอบการภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ร่วมกับ วว. และ สวทช. และ 2. การพัฒนาผู้ตรวจประเมิน (Auditor) และวิทยากร (Trainer) ระบบ RDIMS และระบบการจัดการนวัตกรรมอื่นๆ ตามแนวทางมาตรฐานสากล รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรขององค์กร/สถานประกอบการ ร่วมกับ สวทช. โดยระบบ RDIMS สามารถพัฒนา ต่อยอดการดำเนินงานสู่มาตรฐานสากลได้หลายมาตรฐาน โดยเฉพาะ ISO 56002 Innovation Management System (InMS) หรือระบบการจัดการนวัตกรรม หรือแม้กระทั่ง ISO 30401 Knowledge Management System (KMS) หรือระบบการจัดการองค์ความรู้ ซึ่งการจัดการองค์ความรู้เป็นพื้นฐานที่สำคัญขององค์กรหรือสถานประกอบการภาครัฐและเอกชนในการพัฒนานวัตกรรม

นอกจากนี้ ระบบ RDIMS ยังสามารถบูรณาการและประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบบริหารจัดการสากลต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกได้อีก เช่น ISO 9001 ระบบการบริหารคุณภาพ, ISO 14001ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม, ISO 45001 ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งการทำงานจะร่วมกันนำบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญของ สรอ.มาร่วมทำงานในทุกๆความเชี่ยวชาญที่จะช่วยตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SMEs นำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ได้ตรงตามมาตรฐานแต่ละประเภทที่กำหนดเพื่อ ลดความเสี่ยงในการกีดกันทงการค้า ให้สามารถแข่งขันได้อย่างดีที่สุด


ผศ.ดร.อธิศานต์ วายุภาพ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (สพช.) กล่าวว่า สำหรับการเข้าร่วมโครงการRDIMS นี้ สพช. ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำการจัดทำระบบมาตรฐาน RDIMS แก่ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งทาง สพช. ได้เตรียมความพร้อมไว้ในหลายด้าน โดยเฉพาะวิทยากรที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะทำหน้าที่อบรมให้ความรู้ด้านข้อกำหนดของมาตรฐานให้กับผู้บริหารและทีมงาน พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำในการจัดทำเอกสารต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น ข้อเสนอโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม คู่มือการดำเนินงานและเอกสารต่าง ๆ รวมถึงการปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน RDIMS เช่น การวางแผนการดำเนินงานวิจัย การควบคุมกระบวนการวิจัย การจัดการกับผลของงานวิจัยให้เป็นระบบ โดยที่ปรึกษาจะช่วยตรวจประเมินระบบเบื้องต้น (Pre-Assessment) และให้คำแนะนำในการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้มีความพร้อมในการขอการรับรองมาตรฐาน RDIMS

“สพช.หวังอย่างยิ่งว่าจะสามารถประสานความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้ผู้ประกอบการยกระดับผลิตภาพขององค์กรด้วยการสร้างผลงานวิจัย ก่อเกิดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมกระบวนการได้ต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะในช่วง New Normal ที่ผู้ประกอบการต้องค้นคว้าหาความรู้ผลิตสินค้า ผลิตภัณฑ์ต่างๆตอบโจทย์ตลาดและมองข้ามสู่ตลาดในอนาคตภายหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย” ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตฯ กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save