บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH บริษัทชั้นนำด้านพลังงานและสาธารณูปโภคพื้นฐาน เผยผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2563 บริษัทฯ มีกำไรก่อนผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 2,516.29 ล้านบาท และกำไรส่วนของบริษัทฯ จำนวน 2,434.98 ล้านบาท ลดลง 34.1 % จากงวดเดียวกันของปีพ.ศ. 2562 จากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยน, สถานการณ์ COVID-19 และการหยุดเดินเครื่องตามแผนการซ่อมบำรุงของโรงไฟฟ้าหงสา และโรงไฟฟ้าราชบุรี ส่งผลให้รายได้ลดลง สำหรับทิศทางของบริษัทฯในการดำเนินธุรกิจช่วงครึ่งปีหลังของปี พ.ศ. 2563 พร้อมเดินหน้าเพิ่มการผลิตอีก 537 เมกะวัตต์ เพื่อบรรลุเป้าหมาย 780 เมกะวัตต์ที่วางไว้ทั้งปี ด้วยเงินลงการลงทุน 11,300 ล้านบาท
กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปีพ.ศ. 2563 ว่า บริษัทฯ มีกำไรก่อนผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 2,516.29 ล้านบาท และกำไรส่วนของบริษัทฯ จำนวน 2,434.98 ล้านบาท ลดลง 34.1 % จากงวดเดียวกันของปีพ.ศ. 2562 จากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยน, สถานการณ์ COVID-19 และการหยุดเดินเครื่องตามแผนการซ่อมบำรุงของโรงไฟฟ้าหงสา และโรงไฟฟ้าราชบุรี ส่งผลให้รายได้ลดลง แต่ยังมั่นใจว่าผลการดำเนินของบริษัทฯจะเป็นไปตามเป้าการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ที่วางเอาไว้ที่ 780 เมกะวัตต์ ซึ่งใน 6 เดือนแรกสามารถดำเนินโครงการไปได้แล้ว 243 เมกะวัตต์ ทั้งในประเทศ เช่น โรงไฟฟ้าเน็กส์ ซิฟ เอ็นเนอร์จี, โรงไฟฟ้า อาร์ อี เอน โคราช (IPS) และโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น ส่วนขยาย สำหรับในต่างประเทศนั้นมีการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ที่ประเทศเวียดนาม ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานงานลม Thanh Phong ด้วยงบการลงทุนประมาณ 3,700 ล้านบาท ส่วนอีก 6 เดือนที่เหลือของปีพ.ศ. 2563 จะเร่งดำเนินการลงทุนอีก 537 เมกะวัตต์ ด้วยงบการลงทุนประมาณ 11,300 ล้านบาท
สำหรับทิศทางและเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจในช่วง 6 เดอืนหลังของปี พ.ศ.2563 นั้น บริษัทฯ จะเร่งดำเนินธุรกิจที่มีอยู่ทั้งที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วและอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง และอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการต่างๆทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้ให้บริษัทฯตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ ทั้งนี้คาดว่าในช่วง 6 เดือนหลังของปีพ.ศ. 2563 นี้บริษัทฯ จะเริ่มรับรู้รายได้จาก 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการส่วนขยายของโรงไฟฟ้านวนคร กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำ 10 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งจะจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าที่ได้เจรจาลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 9 ราย 2.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน กำลังการผลิต 214.2 เมกะวัตต์ ในออสเตรเลีย ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท Alinta Sales Pty Ltd. และ3.โรงไฟฟ้าพลังความร้อน Thang Long ในเวียดนาม หลังจากที่บริษัทฯ ลงทุนในกองทุน An Binh Energy and Infrastructure Fund (ABEIF) นอกจากนี้ บริษัทฯ พร้อมที่จะเดินหน้าเจรจาการร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักและพลังงานทดแทนต่างประเทศที่มีอยู่ในมือขณะนี้แล้ว โดยเฉพาะอินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 400 เมกะวัตต์ และบรรลุเป้าหมายในปีนี้ 537 เมกะวัตต์ได้ตามแผน, ส่วนธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน วางแผนที่จะสร้างฐานและขยายฐานลูกค้าเพื่อสร้างรายได้ของบริษัทร่วมทุนที่ดำเนินธุรกิจด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ บริษัท สมาร์ท อินฟราเนท จำกัด และบริษัท ติงส์ ออน เน็ท จำกัด
กิจจา กล่าวถึงสำหรับความคืบหน้าโรงไฟฟ้าหินกอง ขนาดกำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ว่า ขณะนี้ได้ผ่านการอนุมัติการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมลงนามกับผู้รับเหมาก่อสร้าง คาดว่าจะจบได้ภายในไตรมาส4 ปีพ.ศ. 2563 และลงนามเงินกู้ได้ในปีพ.ศ. 2564 ซึ่งหากเป็นไปตามการคาดการณ์ดังกล่าวจะเริ่มก่อสร้างเฟสแรกได้ไตรมาส 2 ปีพ.ศ. 2564 และใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เพื่อให้เสร็จตามกำหนดการหน่วยผลิตไฟฟ้าแรก 700 เมกะวัตต์ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 และเฟสที่ 2 อีก 700 เมกะวัตต์ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568
“ในส่วนของการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากนั้น บริษัทฯ ยังให้ความสนใจร่วมลงทุน แต่ต้องรอความชัดเจนของนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ว่าจะเดินหน้าโครงการดังกล่าวอย่างไร” กิจจา กล่าวทิ้งท้าย