สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. (DGA) จัดแถลงรายละเอียดเนื้อหา พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 หรือ พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา เพื่อให้การบริการภาครัฐเบ็ดเสร็จในจุดเดียวพร้อมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลการทำงานระหว่างภาครัฐด้วยกัน และเชื่อมโยงกับภาคเอกชนสะดวก มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยไม่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายดิจิทัลอื่น
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. (DGA) กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบยับนี้มีที่มาจากข้อเสนอการปฏิรูปประเทศ และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ที่มุ่งหวังให้เกิดการปฏิรูประบบข้อมูลภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลที่เปิดเผยและเชื่อมต่อกัน (Open and Connected Government) รวมทั้งเป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ระบบการทำงานและข้อมูลของภาครัฐสามารถเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างมั่นคงปลอดภัย มีประสิทธิภาพ สามารถ เปิดเผยข้อมูลเพื่อให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ ภายใต้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ โดยมีกลไกตามกฎหมายเพื่อให้เกิดการทำงานที่สอดคล้องและไม่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายดิจิทัลอื่น กฎหมายนี้ยังนับเป็นครั้งแรกที่มีการระบุถึงเรื่องธรรมาภิบาลข้อมูล ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่มีกฎหมายอื่นใดของไทยที่เคยบัญญัติว่า ให้มีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เป็นกรอบในการจัดการบริหารข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐที่ชัดเจน เพื่อให้ข้อมูลในระบบมีความถูกต้อง ทันสมัย แลกเปลี่ยนข้อมูลได้ด้วยปลายนิ้วค้นหาข้อมูลได้ทันที พร้อมที่จะนำไปต่อยอดและพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล
สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลนี้ครอบคลุม 8 ด้าน ประกอบด้วย 1. ให้มีการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (แผนระดับชาติ) 2. ให้มีคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 3. ให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายนี้ 4. ให้มีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เป็นกรอบในการจัดการบริหารข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ 5. ให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำข้อมูลและบริการในรูปแบบดิจิทัล (Digitization) 6. ให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล (Open Government Data) 7. ให้หน่วยงานของรัฐแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน (Integration) และมีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง 8. สนับสนุนการเชื่อมโยงบริการดิจิทัล ให้เกิดบริการสาธารณะแบบเบ็ดเสร็จ
สำหรับกฎหมายฉบับนี้ได้ประกาศใช้แต่วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาทำให้การทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน ภาครัฐกับภาคเอกชนมีความสะดวก มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยไม่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายดิจิทัลอื่น สำหรับประชาชนที่เข้ามาใช้บริการจะได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล ประกอบด้วย จาก พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลนี้ได้แก่ 1. ได้รับการบริการจากภาครัฐที่สะดวกและรวดเร็วไม่สร้างภาระแก่ประชาชน ลดการใช้สำเนาเอกสารในการติดต่อราชการ 2. การติดต่อภาครัฐ ใช้บัตรประจำตัวประชาชนเพียงใบเดียวทำได้ทุกเรื่อง หรือติดต่อออนไลน์ได้แบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) 3. ใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐ สำหรับการติดตามและตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ และ4. สามารถนำข้อมูลเปิดของหน่วยงานรัฐพัฒนานวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม
“DGA ตั้งเป้าในการทำงานในปีแรกจะสามารถให้บริการภาคธุรกิจราว 70-80 หน่วยงาน และหน่วยงานที่ให้บริการประชาชน 120 หน่วยงาน สามารถเชื่อมต่อข้อมูลและเข้าถึงข้อมูลระหว่างกันได้” ดร.ศักดิ์ กล่าว
บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัล
กล่าวว่า ตามมาตรา 6 ของกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัล ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิตามคณะกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ เป็นการรวมคณะกรรมการด้านดิจิทัลจากหลากหลายคณะทำให้สามารถเชื่อมโยงการทำงานในภาพรวมเพื่อให้การพัฒนาประเทศไปในทิศทางเดียวกัน
ในส่วนงานราชการสามารถเตรียมการหรือเริ่มการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ได้ทันที เช่น การนำระบบดิจิทัลที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้กับการบริหารงานและการให้บริการประชาชน ลดการใช้กระดาษหรือสำเนาเอกสาร กำหนดให้ทุกหน่วยต้องเปิดและแชร์ข้อมูลระหว่างกัน จัดให้มีระบบการชำระเงินทางดิจิทัลอีกช่องทางหนึ่ง ตลอดจนมาตรฐาน หรือหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายนี้ก่อน จึงจะสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ
“DGAได้จัดการประชุมระดมสมอง ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาชนเพื่อนำความคิดเห็นมาจัดทำร่างกรอบแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลต่อไป โดย DGA จะเป็นทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการอำนวยการเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานเกี่ยวกับการเป็นรัฐบาลดิจิทัล” อภิณห์พร กล่าว
กล่าวว่า เมื่อกฎหมายฉบับประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ภายใน 2 ปีแรก DGA จะต้องดำเนินการจัดตั้งศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ (Government Data Exchange Center: GDX) เพื่อการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลและการดําเนินงาน ให้สามารถเห็นข้อมูลประชาชนเป็นภาพเดียวที่สมบูรณ์ ให้เกิดบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ครบวงจร ณ จุดเดียวหรือ One Stop Service (OSS) โดยในระยะแรกจะเริ่มนำร่องกับบริการภาครัฐที่มีการเรียกขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ภายใต้โครงการยกเลิกสำเนาเอกสาร และขยายผลไปสู่บริการยกเลิกเรียกขอเอกสารทะเบียนดิจิทัลและใบอนุญาตอื่น ๆ ต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมาการดำเนินการนั้นจะกระทำในรูปแบบการขอความอนุเคราะห์การทำงานระหว่างกันมากกว่าที่จะเป็นรูปแบบกึ่งบังคับเหมือนอย่างในกฎหมายฉบับนี้
กล่าวว่าการให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนในเรื่องข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการในรูปแบบดิจิทัลต่อสาธารณะ ผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ โดยประชาชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อต่อยอดธุรกิจเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นเรื่องของข้อมูลทั้งสิ้น จึงต้องมีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance) เป็นกรอบการกำกับดูแลข้อมูล ภายใต้กรอบการกำกับดูแลข้อมูล (Data Governance Framework) จะมีเพื่อกำหนดสิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อให้ได้มาและการนำไปใช้ข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน มั่นคงปลอดภัย รักษาความเป็นส่วนบุคคลและสามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงปลอดภัยได้จริง
“เพราะฉะนั้นทุกส่วนราชการต้องให้ความสำคัญ ทั้งการออกนโยบาย แนวปฏิบัติ การรักษาข้อมูลส่วนบุคคล สิ่งเหล่านี้จะเป็นกลไกที่สำคัญที่จะทำให้สามารถบริหารจัดการข้อมูลหน่วยงานของตนเองได้ เพื่อมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ” วิบูลย์ กล่าว