Ananda UrbanTech หน่วยงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อพัฒนารูปแบบคุณภาพชีวิตของคนเมืองในด้านต่างๆ เช่น ด้านที่อยู่อาศัย การเดินทาง สุขภาพ การเงิน และด้านอื่น ๆ ของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ Brick & Mortar Ventures ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการก่อสร้างในระดับโลก และผู้ก่อตั้งสมาคมเพื่อการแก้ปัญหาการก่อสร้าง (SCS) จัดเสวนา “The World’s Leading -Edge Construction Technologies” เพื่อถ่ายทอดความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีสำหรับวงการก่อสร้าง ตั้งแต่การออกแบบการก่อสร้าง การคำนวณระยะเวลาการก่อสร้าง การคำนวณงบประมาณในการก่อสร้าง ตลอดจนอัพเดทเทคโนโลยีเทรนด์ก่อสร้างในอนาคต
ดร.จอห์น เลสลี่ มิลลาร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ อนันดา เออร์เบินเทค หน่วยงานที่ช่วยขับเคลื่อนวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นด้านผู้นำทางเทคโนโลยี บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันในวงการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศเร่งพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น โดยนำ AI (Artificial Intelligence), IoT (Internet of Things), BIM (Building Information Modeling) และอื่น ๆ เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง การคำนวณระยะเวลาการก่อสร้าง การคำนวณงบประมาณในการก่อสร้างและอื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน ช่วยลดค่าใช้จ่ายและหวังยกระดับมาตรฐานการทำงานของวงการก่อสร้างของไทยให้ทัดเทียมในระดับสากล พร้อมทั้งอัพเดทเทรนด์เทคโนโลยีการก่อสร้างในอนาคตสำหรับผู้อยู่อาศัยในเมือง ต่างจังหวัด รวมทั้งคนย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานต้องใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับรูปแบบบ้าน คอนโดมิเนียมหรือที่พักอาศัยรูปแบบไหนบ้างที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนแต่ละวัยได้อย่างเหมาะสม
เป็นที่แน่นอนว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆนั้นต้องใช้งบประมาณที่มีมูลค่าสูงแต่ผลตอบแทนคุ้มค่าทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ๆ เริ่มให้ความสนใจและพร้อมที่จะทุ่มงบประมาณสำหรับซื้อนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับการก่อสร้างเข้ามาใช้ให้เหมาะสมกับโครงการก่อสร้างแต่ละประเภทตามยุคสมัย
นอกจากซื้อนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญมาใช้ในการก่อสร้างแล้วหลาย ๆ บริษัทเริ่มใช้งบประมาณสำหรับสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีการก่อสร้างจากการคิดค้นของพนักงานในบริษัทของตนเองมาพัฒนาต่อยอดทดลองนำไปใช้งานจริงมากขึ้น เช่น ในประเทศจีน และญี่ปุ่น สำหรับประเทศไทยนั้นการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับการก่อสร้างเพิ่งเริ่มต้นแต่ก็สามารถที่จะช่วยให้ทุกส่วนของการทำงานมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการแต่ละโครงการ ตั้งแต่ผู้รับเหมาไปจนถึงนักออกแบบ ทีมการขาย และทีมการตลาด ได้สัมผัสถึงความสามารถของการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้งานในโครงสร้างอาคารต่าง ๆ ของบริษัทฯ ซึ่งบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นรายแรกในประเทศไทยที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการก่อสร้างเข้ามาใช้ในการก่อสร้าง โดยเฉพาะระบบ BIM (Building Information Modeling) โมเดล 3 มิติ ที่ผู้เชี่ยวชาญของบริษัทฯ คิดค้นขึ้นเป็นรูปแบบเฉพาะของบริษัทเอง ซึ่งนำมาใช้ตั้งแต่ กระบวนการออกแบบจนถึงกระบวนการก่อสร้างช่วยให้ทีมงานทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ออกแบบ ผู้ร่วมงาน ผู้รับเหมา สามารถสื่อสารได้เข้าใจกันง่ายขึ้นเพื่อลดปัญหาความไม่เข้าใจในการทำงานในระบบนี้ เนื่องจาก BIM นั้นมีความซับซ้อนมาก จึงจำเป็นต้องมีกฎ กติกา เพื่อให้เป็นแนวทางในการทำงานให้ถูกต้องตั้งแต่วันแรกที่เริ่มโครงการ เห็นขั้นตอนกระบวนการทำงานว่าใครจะต้องทำงานก่อนและหลัง ทีมงานติดตั้งกระจก ฝ้า เพดาน ติดตั้งโคมไฟ เครื่องปรับอากาศ ตู้เตียง ปลูกต้นไม้ สร้างสวน ช่วงเวลาเดินรถขนส่งวัสดุสำหรับการก่อสร้างที่เหมาะสมและช่วงเวลาที่พนักงานทำความสะอาดเก็บกวาดควรเข้าไปเวลาไหนตรงจุดไหน อย่างไรบ้าง เพื่อให้ได้งานที่มีคุณภาพและยังคงความสวยงามไม่มีภาพพื้นเลอะไปด้วยขยะ เศษปูน เศษกระเบื้อง และอื่น ๆ ตามที่ผู้ออกแบบจินตนาการ เพื่อให้ลูกค้าได้รับสิ่งที่ดีที่สุด คุ้มค่าเงิน คุ้มค่าเวลา ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการก่อสร้างให้น้อยลงเพียง 12 ชั่วโมงสำหรับบาง Site งานก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่ไม่มีรูปแบบพิมพ์เขียวแปลนห้องที่ซับซ้อน
“นอกจากนี้บริษัทฯ พร้อมที่จะเปิดรับแนวคิดรูปแบบการก่อสร้างสมัยใหม่จากเหล่าสนับสนุนสตาร์ทอัพชาวไทยทั้งในมหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญ นวัตกร บริษัทพันธมิตร และหน่วยงานภาครัฐที่มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องผ่านเงินทุนสนับสนุนการวิจัยของบริษัทฯเพื่อสร้างเป็นทีมงานใหม่ ๆ เข้ามาร่วมทำงานร่วมคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้างในแต่ละพื้นที่แต่ประเภททั้งบ้านเดี่่่ยว ทาวน์เฮาส์ คอนโดมิเนียมขนาดความสูงต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งทางบริษัทฯ ได้คิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับการก่อสร้างหลายรูปแบบเพื่อทดลองนำไปใช้ในพื้นที่การก่อสร้างจริง พบว่าสามารถช่วยลดระยะเวลาในการก่อสร้างและลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้กว่า 20%” ดร.จอห์น เลสลี่ มิลลาร์ กล่าว
ด้าน เคอร์ติส ร็อดเจอร์ส ประธาน Brick & Mortar Ventures และผู้ก่อตั้งสมาคมเพื่อการแก้ปัญหาการก่อสร้าง (SCS) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง และหลากหลายรูปแบบ ซึ่งล้วนแต่มีข้อดีและเหมาะสมสำหรับในการก่อสร้างแต่ละประเภททั้งในแนวดิ่งและแนวราบ ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วผู้พัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์จะเลือกรูปแบบการลดต้นทุนที่เหมาะสมพร้อม ๆ กับประเมินความเสี่ยงในการก่อสร้างอย่างรอบด้าน เช่น การก่อสร้างต้องออกแบบสร้างบริเวณส่วนไหนก่อนและหลังเพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดการสูญเสียวัสดุอุปกรณ์และกำลังคนในการทำงาน สามารถบ่งชี้จุดบกพร่องในระหว่างการก่อสร้างแต่ละจุดได้เมื่อมาย้อนดูในพิมพ์เขียวแปลนของโครงการ ที่สำคัญช่วยสร้างโอกาสในการสร้างศักยภาพความเป็นผู้นำในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับการก่อสร้างให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป
“ทั้งนี้บรรดาผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ต้องมีการปรับตัวและพัฒนาตนเองอยู่เสมอให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุดในอนาคต จะทำการก่อสร้างแบบเดิม ใช้แรงงาน กางแบบแปลนเดินดูตาม Site งานคงไม่ได้อีกต่อไป สำหรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยอันดับแรก ๆ ไม่ว่าจะเป็น AI, 3D Printing, Robot สำหรับการก่อสร้างและ Big Data Analytics ซึ่งผู้ประกอบการจะหันมาเลือกใช้เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการ เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำในธุรกิจของตน โดยเฉพาะการก่อสร้างที่มีการแบ่งสัดส่วนการใช้งานของภายในตัวห้องของลูกค้าครอบครัวเดียว ครอบครัวใหญ่ ครอบครัวสูงวัย ครอบครัวผสมผสานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ทั้งห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว การเปิดปิดไฟ การเปิดปิดประตู จึงต้องมีการคิดค้นเลือกใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเฉพาะห้องเพื่อให้โครงการของบริษัทฯ มีความเป็น Smart Home, Smart Technology Solution รองรับกลุ่มลูกค้าทุกเพศทุกวัย” เคอร์ติส ร็อดเจอร์ส กล่าว
ดร.เบนจามิน คูเรย์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท ArchiStar กล่าวว่า ในอดีตการออกแบบตึก อาคาร หรือโครงการหนึ่งโครงการจะต้องใช้เวลาในการออกแบบนานกว่าปัจจุบัน เนื่องจากรูปแบบที่ออกแบบนั้นจะต้องผสมผสานให้เหมาะสม มีการร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อเสนอแนะระหว่างสถาปนิกกับวิศวกรผู้ควบคุมงาน ปรับเปลี่ยนแบบเพื่อให้ถูกใจแก่เจ้าของโครงการและสอดรับกับกฎหมายอาคารกฎหมายสิ่งแวดล้อมในแต่ละพื้นที่แต่ละประเทศ แต่ในปัจจุบันเมื่อมีการคิดค้นนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในอุตสาหกรรมก่อสร้างโดยเฉพาะในประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย เรียกว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีจะเข้าไปมีบทบาทในทุกแง่มุมของการใช้ชีวิตมากขึ้น ทำให้การออกแบบ วิธีการก่อสร้าง การออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะนำมาใช้นั้นสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา ที่สำคัญยังสามารถที่จะปรับแต่งอาคารที่ชำรุดมีอายุกว่า 100 ปี โดยนำวัสดุก่อสร้าง ซึ่งได้พัฒนาให้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย มาฟื้นฟูอาคารให้กลับมาทรงคุณค่าไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมความงามควรค่าแก่การอนุรักษ์มากขึ้น
ทั้งนี้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีแต่ละประเภทนั้นก็จะมีความเหมาะสมที่แตกต่างกัน แต่ก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันเพื่อให้งานก่อสร้างออกมาตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากที่สุด และท้ายสุด เจ้าของโครงการก็จะได้รับความเชื่อมั่น ส่งผลให้ได้รับงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ทั้งจากภาครัฐและเอกชนในอนาคตเพิ่มมากขึ้น