กรุงเทพฯ – 30 พฤศจิกายน 2563 : ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะ ได้ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยกว่า 70 ผลงาน ภายใต้การสนับสนุนและส่งเสริมจาก วช.และหน่วยงานในสังกัด โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้การต้อนรับ ณ อาคาร วช. ชั้น 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ได้มาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบาย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยแห่งชาติที่เก่าแก่มาก ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2501 ในสมัยนายกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งต้องการพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วนจึงตั้งขึ้นเพื่อทำงานวิจัยให้ทุนวิจัยในการพัฒนาประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมีหน่วยงานภายใต้สังกัดอีกหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นต้น รวมทั้งให้ความร่วมมือในการทำการวิจัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและมหาวิทยาลัยอื่นๆในประเทศ มีผลงานที่น่าชื่นชนเป็นประจักษ์สู่สาธารณชนจนถึงปัจจุบันมากมาย
“สำหรับการเปลี่ยนผ่าน (Transform) ของ วช.ในอนาคตนั้น คาดว่าภายในอีก 2 ปีจากนี้คงจะมีข้อสรุปให้ วช. ดำเนินการไปอย่างไร จะอยู่ในฐานะกรม หรือ องค์กรมหาชน ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มปรับโครงสร้างภายใน วช. มาประมาณ 1 ปี แล้ว” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าว
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณได้เยี่ยมชม นิทรรศการแสดงผลงานวิจัยตามนโยบายกระทรวง อว. จากการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมตามภารกิจของ วช. ซึ่งมีผลงานวิจัยที่น่าสนใจมาจัดแสดงมากกว่า 70 ผลงาน เช่น การวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรมแบบการปลูกป่าแบบบูรณาการเพื่อสร้างแหล่งอาหารและพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนอย่างยั่งยืน, โครงการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้การใช้ประโยชน์ไม้อย่างคุ้มค่า, การสร้างมูลค่าเพิ่มของข้าวโพดฝักสดด้วยอัตลักษณ์ชุมชน, โครงการชุมชนเข้มแข็ง ด้วยวิจัยและนวัตกรรมด้านการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรด้วยระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจกหรือพาราโบลาโดม, โครงการการใช้ประโยชน์จากเครื่องอบแห้งอินฟราเรดแบบถังแห้งหมุนเพื่อการจัดการผลผลิตทางการเกษตร, การถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตปุ๋ยหมักและพืชอินทรีย์ยั่งยืนโดยประยุกต์ใช้นวัตกรรมเครื่องผลิตปุ๋ยหมักในการเพิ่มศักยภาพการผลิต, การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไซน์มัสแคทเชิงพาณิชย์, การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนหลงลับแลและหมอนทองเชิงพาณิชย์ในเขตภาคเหนือตอนล่าง, การพัฒนามาตรฐานการผลิตแมคคาเดียอบแห้งสำหรับชุมชน, การจัดการองค์กรความรู้งานวิจัยนมแพะครบวงจรเพื่อการใช้ประโยชน์ในชุมชนและสังคมตามแนวพระราชดำริของชุมชนอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี, การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเทคนิคการม้วนเส้นด้ายยืนด้วยนวัตกรรมที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่สู่ชุมชนเชิงพาณิชย์ จังหวัดหนองบัวลำภู, การพัฒนาชุมชนต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง : กลุ่มหัตถกรรมสิ่งทอ, กิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ถูกคุมความประพฤติประกอบด้วย กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพ วิเคราะห์ความต้องการด้านอาชีพที่เหมาะสมตามทักษะของผู้ถูกคุมความประพฤติ, การบริหารจัดการสวนเกษตรชุมชน ผักไร้สารบ้านพูนทรัพย์ อย่างยั่งยืน
สำหรับ ผลงานวิจัยภายใต้แพลตฟอร์มโจทย์ท้าทายทางสังคมในกลุ่มโจทย์ท้าทายด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและการเกษตร ได้แก่ การเฝ้าระวังและเตือนภัยปัญหาหมอกควัน โดยเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศระบบเซนเซอร์ Dustboy ในประเทศไทย ระยะที่ 3 กลุ่มสังคมสูงวัย ได้แก่ ระบบหุ่นยนต์เคลื่อนที่ลำเลียงยาและเวชภัณฑ์ ระยะที่ 2 การติดตั้งและทดสอบระบบเตียงพลิกตะแคงอัตโนมัติพร้อมโปรแกรมสมาร์ทเบดสำหรับผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ กลุ่มสังคมคุณภาพและความมั่นคง ได้แก่ โครงการประเมินผลกระทบของ COVID–19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ ชุดแผนงานครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง, การสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนในการจัดการทำธนาคารปูม้า เพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทยและชุดแผนงานครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง เป็นต้น
นอกจากนี้ ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2564 ที่จะถึงนี้ วช. ได้เตรียมมอบเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศระบบเซนเซอร์ (Dust Boy) ซึ่งเป็นเครื่องวัดข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซ็นเซอร์ เชื่อมต่อข้อมูลด้วยระบบสถาปัตยกรรมเน็ตเวิร์คอัจฉริยะ สามารถวัดฝุ่น PM2.5 และ PM10 โดยเทคนิคการกระเจิงแสง (Light Scattering) เพื่อเฝ้าระวังฝุ่นละอองขนาดเล็ก จำนวน 500 เครื่อง เพื่อให้คนไทยได้รู้ว่าอากาศปลอดภัยหรือไม่ โดยจะติดตั้งที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ