รมว.อว. ชูนโยบาย “อว. for AI” ผ่าน 3 แผนงานหลัก พัฒนาการศึกษา ปั้นบุคลากร AI หนุนนวัตกรรม AI สู่ตลาด


กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดแถลงข่าวเปิดตัวนโยบาย “อว. for AI” ผ่าน 3 แผนงานหลักได้แก่  1.AI for Education  2.AI Workforce Development และ 3.AI Innovation เพื่อพัฒนาประเทศด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้สามารถใช้งานได้จริง มีศักยภาพไร้รอยต่อ ช่วยยกระดับขีดความสามารถของคนไทยทัดเทียมนานาประเทศ

ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า นโยบาย “อว. for AI” ถือเป็นนโยบายที่สำคัญลำดับที่ 2 ที่ได้เปิดตัวต่อจากนโยบาย อว. for EV โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาประเทศด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้สามารถใช้งานได้จริง มีศักยภาพแบบไร้รอยต่อ ช่วยยกระดับขีดความสามารถของคนไทยทัดเทียมนานาประเทศ โดยมีหลายหลายงานใน อว. เป็นหน่วยงานตั้งต้นในการขับเคลื่อน AI ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อพัฒนาประเทศไทย ระหว่างพ.ศ. 2565 – 2570 ซึ่งมี 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ด้านจริยธรรมและกฎระเบียบ AI โดยมีเป้าหมายสร้างความเข้าใจและความตระหนักด้านจริยธรรมในการใช้ AI อย่างน้อย 600,000 คน และมีกฎหมาย ข้อบังคับด้าน AI ที่จำเป็น 2.ด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI เพื่อให้เกิดการลงทุนด้าน AI เพิ่มขึ้น 10% ต่อปี 3.ด้านกำลังคน AI มีเป้าหมายผลิตกำลังคน AI ประมาณ 30,000 คน 4.ด้านวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม AI ตั้งเป้าสร้าง 100 นวัตกรรม AI ที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ 4.8 หมื่นล้าน และ 5. ด้านการส่งเสริมธุรกิจและการใช้ AI โดยมีการใช้นวัตกรรม AI ใน 600 หน่วยงานทั่วประเทศ

สำหรับนโยบาย อว. for EV จะดำเนินผ่าน 3 แผนงานหลัก ได้แก่ 1.AI for Education คือ การใช้ AI ในการเรียนการสอนให้คนไทยมีศักยภาพสูงสุด และเร็วที่สุด ปัจจุบันมีทักษะหลายๆ ด้านที่คนไทยยังไม่สามารถพัฒนาให้เพียงพอ และมีคุณภาพตามความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยยังต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน และเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อว.จึงมีแนวคิดนำ AI มาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยใช้เครื่องมือด้าน Education Tools ต่าง ๆ เป็นแนวทางที่จะเพิ่มจำนวนคนในทักษะที่จำเป็นในระยะเวลาสั้น ๆ นอกจากนี้จะต่อยอดโดยนำ AI มาทำหน้าที่เหมือนครูหรือโค้ชช่วยเรียนรู้นอกเวลาเรียนนอกห้องเรียนห รือนำไปใช้กับการเรียนนอกเวลาเรียนสำหรับผู้ที่จบการศึกษาไปแล้ว และต้องการ Reskill Upskill หรือ Newskill เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้าน AI ให้มากยิ่งขึ้น

 

ศุภมาส  กล่าวว่า ในส่วนของแพลตฟอร์มการเรียนการสอนออนไลน์แบบเปิดประเทศไทย เช่น Thai MOOC (Thailand Massive Open Online Course) เพื่อเพิ่มช่องทางการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานให้กับคนไทย โดยสามารถเรียนออนไลน์ได้ฟรี และเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา สามารถนำ AI ที่สามารถพูด อ่าน เขียน มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ Thai MOOC โดย AI จะช่วยทำหน้าที่เหมือน Teacher Tutor หรือ Coach ช่วยเรียนรู้ในการสนทนา ถาม ตอบในเวลาเรียน แบบ Interactive ในลักษณะการเรียนเฉพาะบุคคล แบบตัวต่อตัวกับผู้เรียนทุกคนหรือเลือกเรียนกับผู้สอนที่อยากเรียนด้วย เช่น ดารา หรือจะเรียนกับ รมว.อว. ก็ได้

นอกจากนี้ AI ยังสามารถประเมินความรู้ ความสามารถของผู้เรียนผ่านระบบทดสอบ ออกแบบหลักสูตรหรือเนื้อหาการเรียนให้เหมาะกับระดับความรู้ ประเมินการเรียนรู้ในระหว่างเรียน ปรับระยะเวลา ความเร็วในการเรียนจนจบในหลักสูตรที่ไม่ต้องเริ่มต้นที่ Level 1 สามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา และเรียนพร้อม ๆกันเป็นจำนวนมากเป็นแสนคนก็ได้ ซึ่งวิธีการเรียนแบบนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในด้านการศึกษา

 

แผนงานที่ 2.AI Workforce Development การพัฒนาบุคลากรด้าน AI และการสร้างพื้นฐานด้าน AI ให้คนไทยในระบบการศึกษาและตลาดแรงงาน โดยจะเร่งดำเนินการเพื่อผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด AI โดยเร็ว ผ่านโครงการพัฒนากำลังคนด้าน AI ในทุกระดับ เช่น โครงการขับเคลื่อนการเข้าใจ AI ในระดับประถม มัธยม และอาชีวศึกษา โครงการพัฒนาศูนย์นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ระดับนานาชาติ โครงการพัฒนากำลังคนด้าน AI สำหรับสถาบันการศึกษากลุ่ม AI degree โครงการ Super AI engineer โครงการ AI สำหรับบุคลากรภาครัฐ และโครงการ Credit Bank ตั้งเป้าให้สามารถผลิตกำลังคนได้ใน 3 ระดับคือ ผู้เชี่ยวชาญ AI (AI Professional) วิศวกร AI ที่เข้าสู่ภาคธุรกิจ (AI engineer) และนัก IT หรือวิชาชีพอื่น ๆ ที่มีทักษะการใช้เครื่องมือ AI (AI beginner) ให้ได้ไม่น้อยกว่า 30,000 คน ภายใน 3 ปี  ข้อมูลจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ปัจจุบันมีการขาดแคลนคนทำงานด้าน AI กว่า 80,000 คน แต่คน AI กว่า 50% ไม่ได้ทำงานด้าน IT และธุรกิจยังมีความต้องการจ้างคนไปทำวิจัยพัฒนาในสัดส่วนที่สูงประมาณ 35%         

                แผนงานที่ 3. AI Innovation การสนับสนุนนวัตกรรม AI สู่ตลาด การพัฒนามาตรฐานและทดสอบ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดความแพร่หลาย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทย โดยจะสนับสนุนการทำนวัตกรรมด้าน AI อย่างเต็มที่ ซึ่งผลการสำรวจความพร้อมในการใช้ AI ขององค์กร โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) พบว่าหน่วยงานที่อยู่ระหว่างตัดสินใจใช้ AI ยังขาดความมั่นใจและแรงกระตุ้นที่จะลงทุนและใช้งานอยู่มากกว่าครึ่ง เพราะประเทศไทยยังมีการใช้งานน้อย ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และงบประมาณ ทำให้ยังไม่เห็นถึงการใช้ประโยชน์ที่ชัดเจนอย่างแท้จริง ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า ในอีก 6 ปีข้างหน้าประมาณ ปี พ.ศ.2573 AI จะเติบโตขึ้นกว่า 18% ต่อปี ด้วยมูลค่ามากกว่าหนึ่ง 100,000 ล้านบาท

 

“สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินนโยบาย อว. for AI  นั้น คาดว่าจะเป็นเรื่องการนำมาใช้งานได้จริง ขาดการสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง อีกทั้งกำลังคนที่รู้จริงด้าน AI ยังมีจำนวนน้อย  ในภาคส่วนราชการ จำเป็นที่จะต้องเร่งประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI มาร่วมถ่ายทอดความรู้สร้างบุคลากรทางด้าน AI ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตทางด้าน AI ในอนาคตของประเทศ”  ศุภมาส กล่าวทิ้งท้าย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save