กรุงเทพฯ : ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม วุฒิสภา และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมหารือความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหา COVID-19 ครั้งที่ 10/2563 ณ ห้องประชุม 311 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย)
ดร.สุวิทย์ กล่าวนำเสนอแนวคิดที่สำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหา COVID-19 และภายหลังจากที่สถานการณ์ดังกล่าวหมดไปทั้ง 5 เรื่อง ได้แก่ 1) 7 รอยปริ ปั่นป่วนโลก 2) 7 ตราบาป หลัง COVID 3) 7 ขยับ ปรับเปลี่ยนโลก 4) เหลียวหลัง แลหน้า ประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน และ5) ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน ในโลกหลัง COVID
รอยปริ ปั่นป่วนโลก (Systemic Divides)
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตซ้ำซาก ทำให้โลกกำลังเรียกหากระบวนทัศน์การพัฒนาชุดใหม่ จาก “โลกที่มุ่งพัฒนาสู่ความทันสมัย” (Modernism) สู่ “โลกที่มุ่งพัฒนาสู่ความยั่งยืน” (Sustainism) ซึ่งประชาชนคนไทยยังคงยึดหลักคิดที่ว่า “ตัวกูของกู” จนนำไปสู่ 7 รอยปริในระบบ ดังนี้
- ความไร้สมดุลระหว่างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความอยู่ดีมีสุขทางสังคม ความยั่งยืนของธรรมชาติ และภูมิปัญญาของมนุษย์
- เศรษฐกิจการเงิน ที่ครอบงำเศรษฐกิจที่แท้จริง
- ความต้องการอย่างไม่สิ้นสุดของมนุษย์ กับทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดในโลกใบนี้
- ผู้ครอบครองทรัพยากร กับผู้ต้องการใช้ทรัพยากร ไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกัน
- ความเหลื่อมล้ำของรายได้ สินทรัพย์ และ โอกาส ระหว่าง “คนมีและคนได้” กับ “คนไร้และคนด้อย”
- ดาบสองคมของเทคโนโลยีในการตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์
- ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ระหว่าง รัฐ, เอกชน กับ ประชาสังคม
โดย 7 รอยปริในระบบนี้เองที่ก่อให้เกิดโลกที่ไร้สมดุล นำไปสู่โลกแห่งความเสี่ยง ภัยคุกคาม และวิกฤตซ้ำซากดังที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน
7 ตราบาป หลัง COVID (Deadly Sins) มีดังนี้
- ไม่มีสันติภาพในโลกอย่างถาวร หากผู้คนยังไร้ซึ่งความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
- ไม่มีทุนนิยมที่ยั่งยืน หากไม่มีการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม
- ความร่ำรวยทางวัตถุจะไร้ประโยชน์ หากปราศจากซึ่งความรุ่มรวยทางจิตใจ
- งานที่ทำจะไร้ประโยชน์ หากขาดซึ่งนัยแห่งความหมาย
- มีผลประกอบการที่ดีก็ไร้ค่า หากไม่สามารถเป็นผู้ประกอบการที่ดีได้
- จะเพรียกหาเจตจำนงร่วมจากที่ใด หากไม่คิดเปิดพื้นที่ให้ร่วมอย่างจริงใจ
- อย่าหวังการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง หากปราศจากการเปิดหู เปิดตา และเปิดใจ
7 ขยับ ปรับเปลี่ยนโลก (Major Shifts)
หากมองวิกฤตเป็นโอกาส COVID-19 อาจเป็นสิ่งนำโชคในสถานการณ์ที่เลวร้าย โดยเปลี่ยน “โลกที่ไม่พึงประสงค์” เป็น “โลกที่พึงประสงค์” ทำให้ผู้คนต้องหันกลับมาทบทวนสมมติฐานในความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ จากตัวกูของกู กลายเป็นการผนึกกำลังร่วม ไปจนถึงการคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติให้เกิดคุณค่าอย่างสุดด้วยเช่นกัน
กล่าวโดยสรุป การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของมนุษยชาติ ได้แก่ 1) โมเดลร่วมรังสรรค์ 2) การผลิตและการบริโภคที่มุ่งเน้นการผนึกกำลังความร่วมมือ 3) มุ่งเน้นการพัฒนาที่สมดุล 4) สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของมนุษย์ 5) ชีวิตที่ร่ำรวยความสุข 6) เศรษฐกิจหมุนเวียน และ7) การรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม
เหลียวหลัง แลหน้า ประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน
ดร. สุวิทย์ กล่าวถึงประเด็นท้าทายของประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่านจากนี้ไปว่า จะเป็นเรื่องของการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การเรียนรู้ โอกาส รายได้และทรัพย์สิน โรคระบาด เครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติ เครือข่ายการก่อการร้ายข้ามชาติ โซเชียลมีเดีย และสงครามไซเบอร์ โดยหลักคิดการขับเคลื่อนประเทศไทยในโลกหลัง COVID-19 คือ การสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก การเดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน ในโลกหลัง COVID
การพัฒนาที่สมดุลตามหลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง คือ 1) ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ 2) ความอยู่ดีมีสุขของผู้คนในสังคม 3) ศักยภาพและคุณค่าของมนุษย์ และ 4) การรักษ์สิ่งแวดล้อม โลกจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาครั้งสำคัญจาก “โลกที่มุ่งพัฒนาสู่ความ ทันสมัย” (Modernism) สู่ “โลกที่มุ่งพัฒนาสู่ความยั่งยืน” (Sustainism)
สำหรับสัญญาประชาคมชุดใหม่ จะต้องเป็น สังคมที่เป็นธรรม (Clean & Clear Society) สังคมแห่งโอกาส (Free & Fair Society) และสังคมที่เกื้อกูลแบ่งปัน (Care & Share Society) โดยใช้โมเดลการขับเคลื่อนประเทศไทยในโลกหลัง COVID BCG (Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy) คือ การใช้หลัก : SEP (Sufficiency Economy Philosophy) ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับการใช้กลไก : STI ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย : SDGs (Sustainable Development Goals) การพัฒนาที่ยั่งยืน
การนำ BCG มาใช้เพื่อตอบโจทย์ทั้ง 6 มิติ ได้แก่
- ต่อยอดจุดแข็งประเทศไทย ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม
- เชื่อมโยงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
- ตอบโจทย์ 10 ใน 17 เป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs
- ครอบคลุม 5 ใน 10 อุตสาหกรรม S-Curve
- กระจายโอกาสและความมั่งคั่งสู่เศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจภูมิภาค
- สานพลังมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ชุมชน เอกชน หน่วยงานภาครัฐ และเครือข่าย ต่างประเทศ
โดยมี 4 สาขายุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ อาหารและการเกษตร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมี, ชีวภาพ รวมทั้งการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมกันความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม
อว. เน้นขับเคลื่อน BCG เชิงพื้นที่
ดร. สุวิทย์ กล่าวว่า ในส่วนของการขับเคลื่อน BCG เชิงพื้นที่ ก็เป็นสิ่งที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พยายามผลักดันมาโดยตลอด ได้แก่
- ล้านนา 4.0 : ยกระดับข้าวคุณค่าด้วยนวัตกรรม, ระบบเกษตรปลอดภัยมาตรฐานส่งออก, ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเชื่อมโยงวัฒนธรรม, นำวัฒนธรรมเชิงพื้นที่ เช่น วัฒนธรรมล้านนามาสร้างพื้นที่ สร้างสรรค์ พัฒนาสินค้าและบริการ
- อีสาน 4.0 : โปรตีนทางเลือกจากแมลง, ระบบแก้ไขปัญหาและป้องกันโรคพยาธิใบไม้ในตับ, ระบบบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก, ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อริมฝั่งโขง
- ภาคตะวันออก 4.0 : พัฒนาผลผลิตทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มไม้ผล, การพัฒนาต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอนาคต, สร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่
- ภาคกลาง 4.0 : ประเทศไทยไร้ขยะ, นวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัย (Active Ageing), พัฒนาวัฒนธรรม ต่อยอดกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่
- ด้ามขวาน 4.0 : นวัตกรรมด้านฮาลาล, ท่องเที่ยวมูลค่าสูงใน 3 จังหวัดภาคใต้, นวัตกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Precision Aquaculture), และนำเสนอเรื่องราวของปักษ์ใต้ยุคใหม่ พัฒนาพื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงพหุวัฒนธรรม