บริษัท ยันม่าร์ เอส.พี. จำกัด ผู้นำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรในประเทศไทย และบริษัท ยันม่าร์ อกริ จำกัด ในเครือบริษัท ยันม่าร์ จำกัด เข้าร่วมโครงการใช้เทคโนโลยีนำทางความละเอียดสูงมาใช้ในเครื่องจักรกลการเกษตรในประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนด้านการพัฒนาจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และคณะกรรมการทำงานร่วมไทย-ญี่ปุ่น ยันม่าร์จึงได้จัดการสาธิตเครื่องจักรกลการเกษตรอัตโนมัติที่เชื่อมต่อกับระบบ GNSS ของประเทศไทย ณ ตำบลท่ามะปราง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
คาชิวาวิ โนบุฮโกะ ประธาน บริษัท ยันม่าร์ เอส พี. จำกัด กล่าวว่า การสาธิตเครื่องจักรกลการเกษตรอัตโนมัติ จากทาง ยันม่าร์ ที่เชื่อมต่อกับระบบ GNSS ของประเทศไทย ในวันนี้ ที่ ตำบลท่ามะปราง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนด้านการพัฒนาจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และคณะกรรมการทำงานร่วมไทย-ญี่ปุ่น เพื่อทดสอบการใช้งานเครื่องจักรกลอัตโนมัติ ที่จะนำมาช่วยการทำการเกษตรของเกษตรกรชาวไทยโดยเฉพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ให้การทำการเกษตรที่มีประสิทธภาพ ทำงานง่าย มีความคล่องตัว ลดต้นทุนการทำการเกษตรทำให้การทำการเกษตรมีความแม่นยำมากขึ้นและสามารถดูข้อมูลการทำการเกษตร ทั้งการไถพรวนดินปลูก การปลูก ดำนาและการเก็บเกี่ยวแบบเรียลไทม์ โดยสามารถตรวจสอบการทำการเกษตรได้ด้วยสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์
JICA พร้อมสนับสนุนการทำการเกษตรอัจฉริยะของไทย
Mr. SUZUKI Kazuya Chief Representative of japan International Cooperation Agency (JICA) Thailand Office กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องที่ทาง JICA ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุน ภายใต้รัฐบาลไทยในโครงการ เกษตรอัจฉริยะ 4.0 เพื่อให้ภาคธุรกิจการเกษตรไทยได้นำระบบการเกษตรอัจฉริยะไปใช้แล้วเกิดประโยชน์สูงสุดในการทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีเทคนิคและการแนะนำการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรจากผู้เชี่ยวชาญจากทางยันม่าร์ นำมาใช้เพื่อเป็นตัวช่วยในการลดการใช้แรงงานคนที่ขาดแคลนในภาคการเกษตร รวมทั้งมีข้อมูลประกอบการทำการเกษตรบนข้อมูลที่ถูกต้องเก็บในฐานข้อมูลแล้วนำมาใช้ในการทำการเกษตรในอนาคต เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ ควบคุมคุณภาพผลผลิต และสร้างมาตรฐานการผลิตให้ได้ตามที่เกษตรกรต้องการได้ง่ายและรวดเร็ว และช่วยในการทำการเกษตรรนอกฤดูกาล ในหลายๆพืชผลทางการเกษตรซึ่งะช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรนอกฤดูกาลที่ได้มีราคาสูงกว่าการทำการเกษตรแบบเดิม
ประสิทธิภาพของการใช้งานเครื่องจักรกลอัตโนมัติจากยันม่าร์
ฮิดากะ ชิเกมิ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยี YANMAR AGRIBUSINESS CO., LTD. กล่าวว่า ยันม่าร์ ในฐานะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร มีความยินดีที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการเชิงทดลองเพื่อสังคมดังกล่าว ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนให้สังคมไทยมุ่งสู่สังคมเกษตรอัจฉริยะสอดรับยุทธศาสตร์ชาติส่งเสริมการเกษตร 20 ปี (Thailand 4.0) ซึ่งแต่ละเทคโนโลยีล้วนตอบโจทย์เกษตรกรยุคใหม่ ทั้งในด้านการประหยัดเวลาและพลังงาน และช่วยเพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืน ในอนาคตยันม่าร์จะมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) มาใช้ในผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับลูกค้าและลดความต้องการใช้แรงงานคนลง เพื่อให้ยันม่าร์เป็นผู้นำด้านการเกษตรแบบยั่งยืน
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่นำมาทำการสาธิต ประกอบด้วย 1.แทรกเตอร์ไร้คนขับอัจฉริยะ รุ่น YT5113A ใช้เพื่อเตรียมดินและการปลูกข้าวไปพร้อมกัน โดยใช้แทรกเตอร์ไร้คนขับอัจฉรยะรุ่น YT5113A ที่มาพร้อมเครื่องยนต์ดีเซล สูบตั้ง ระบบไดเร็คอินแจ็คชัน 4 สูบ ระบายความร้อนด้วยน้ำ ทำหน้าที่เตรียมดินไถพรวนในการเพาะปลูก วิ่งนำหน้า ตามมาด้วยแทรกเตอร์รุ่น YM357A ที่ติดตั้งระบบควบคุมระบบช่วยให้ขับตรงและระบบบังคับเลี้ยวอัตโนมัติอยู่ด้านหลังในการทำหน้าที่หยอดเมล็ดข้าว ซึ่งช่วยให้เกษตรกรประหยัดเวลาและแรงงานคน โดยเกษตรผู้ใช้งาน 1 คนสามารถควบคุมแทรกเตอร์จากแท็บเล็ตได้ 2 คันพร้อมกัน ซึ่งในแท็บเล็ตยังมีการลงทะเบียนพื้นที่ของทุ่งนา และขั้นตอนการทำงานไว้ล่วงหน้าด้วยระบบดาวเทียม GNSS ทำให้สามารถทำงานไปพร้อมกับตรวจสอบพิกัดของตัวเอง ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานโดยอัตโนมัติตามเส้นทางที่กำหนดไว้ล่วงหน้า รวมทั้งเก็บข้อมูลการทำการไถ การหยอดเมล็ดข้าว เมล็ดข้าวโพดและอื่นๆในแต่ละครั้งไว้ด้วยเพื่อนำมาเปรียบเทียบในการทำการเกษตรในแต่ละครั้ง ช่วยในการวางแผนการทำการเกษตรล่วงหน้าในอนาคตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2.รถดำนาอัตโนมัติ รุ่น YR8D มาพร้อมเครื่องยนต์ดีเซล 3 สูบ ระบายความร้อนด้วยน้ำ มีการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยดำกล้าให้ตรงตามแนวการปักดำและติดตั้งระบบควบคุมการบังคับเลี้ยวอัตโนมัติด้วย ซึ่งสามารถทำงานได้ 2 โหมด ทั้งในเส้นทางแนวตรงและการเลี้ยวบริเวณหัวและปลายนาได้อัตโนมัติอย่างปลอดภัย เนื่องจากเชื่อมต่อระบบนำทางดาวเทียม GNSS ช่วยส่งข้อมูลตำแหน่งที่แม่นยำ และสามารถระบุตำแหน่งในการปักดำได้แบบทันที ระบบอัตโนมัติในการติดตั้งต้นกล้าสำหรับปักดำ มีทั้งแบบ 6 แถวปักดำและ 8 แถวปักดำ โดยการปักดำ 2.5 ไร่ ใช้เวลาในการปักดำโดยประมาณ 32-36 นาที สำหรับการใช้รถดำนาไม่เพียงจะได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพแล้ว ยังช่วยประหยัดเวลา ลดต้นทุน และแรงงานคนอีกด้วย
3.รถเกี่ยวนวดข้าว รุ่น YH1180 มีระบบควบคุมทางไกลอัจฉริยะ (SA-R) มาพร้อมกับพวงมาลัย Mary-hand ที่ติดตั้งตัวควบคุมวิ่งแนวตรงอัตโนมัติ สามารถบังคับเลี้ยวรถเกี่ยวนวดข้าวได้อย่างอิสระ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยันม่าร์คิดค้นขึ้น ให้ผู้ใช้งานรถเกี่ยวนวดข้าวสามารถบังคับการเลี้ยวรถตามความโค้งของพื้นที่เก็บเกี่ยวได้อย่างสะดวก ง่ายดายยิ่งขึ้น ประหยัดเวลา ไม่ทำให้แปลงนาเสียหาย และขับผ่านทางเข้าแปลงนาแคบๆได้ เกษตรกรสามารถเห็นการทำงานแบบเรียลไทม์ ตรวจสอบด้วยสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ได้ตลอดเวลาในการทำการเกี่ยวข้าวในแต่ละแปลง มีการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจสอบผลผลิตข้าวในถังเก็บเมล็ด เพื่อใช้ตรวจเช็กผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้อย่างแม่นยำ ด้วยการเชื่อมต่อกับระบบนำทางในการเกี่ยวข้าวด้วยดาวเทียม GNSS ทำให้เกษตรกรบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น โดยในอนาคต จะถูกพัฒนาให้เข้ากับผลผลิตและประเภทข้าว ข้าวโพดและอื่นๆในประเทศไทยด้วย