เมื่อพููดถึง“วิศวกร” เพียงวิชาความรู้ในเชิงช่างอาจยังไม่เพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่จะต้องพร้อมใส่ใจรับผิดชอบต่ออนาคตโลกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา พรพุทธาพิทักษ์ อาจารย์ผู้คร่ำหวอดบ่มเพาะนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สู่การเป็น “บัณฑิตวิศวกรพลเมืองโลกคุณภาพ” ที่พร้อมเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดลมานานนับทศวรรษจนได้รับการยกย่องในฐานะครูวิศวกรผู้มีผลงานการสอนที่โดดเด่นจากสมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย ให้เข้ารับรางวัล TIChE Award for Rising Star in Chemical Engineering Education ประจำปี 2566 เมื่อเร็วๆ นี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรางคณามีหลักการสอนแบบมุ่งผลลัพธ์ (Outcome-based Learning) ซึ่งเน้นการเรียนรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ตลอดจนสอนให้รู้ลึกและรู้กว้างจากการมองโจทย์ให้เป็นภาพรวม และคิดวิเคราะห์เชื่อมโยง โดยให้โอกาสนักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติเพื่อเรียนรู้ด้วยตัวเอง
ที่สำคัญที่สุดของการเป็น “บัณฑิตวิศวกรพลเมืองโลกคุณภาพ” จะต้องมีความ “รับผิดชอบต่อสังคม” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา พรพุทธาพิทักษ์ ได้พยายามสอดแทรกไว้ในทุกบทเรียนของการสอน จากการสร้างโจทย์และสถานการณ์ให้นักศึกษาได้ฝึกคิดเชิงวิเคราะห์ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสูงสุดของการเป็น “วิศวกรพลเมืองโลกคุณภาพ” ในภายภาคหน้า
ตัวอย่างเช่นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มักพบเหตุระเบิดบ่อยครั้ง นอกจากการควบคุมดูแลที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ยังเกิดจากการขาดทักษะและประสบการณ์ในการตัดสินใจแก้ไขปัญหา ในเรื่องนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา มองว่า การทำงานเป็นทีม” เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งการตัดสินใจเพียงคนเดียวในบางสถานการณ์อาจนำไปสู่ความหายนะ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย และประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีความตื่นตัวตระหนักเรื่องความปลอดภัยกว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก
ความคิดที่ขาดความรอบคอบ และรับผิดชอบ นอกจากความเสียหายต่อทรัพย์สินทั้งในส่วนตัวและส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาชีพวิศวกร ความประมาทอาจหมายถึงความเสี่ยงต่อชีวิต ด้วย “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมสร้าง และขับเคลื่อนนักศึกษา ด้วยองค์ความรู้สู่การเป็น “วิศวกรพลเมืองโลกคุณภาพ” เพื่อเป็นพลังแห่งอนาคตของโลกที่ยั่งยืนต่อไป