ปี พ.ศ. 2573 เป็นปีที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission เพื่อโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับศูนย์ แม้จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นได้ในวงกว้าง แต่ปัจจุบันยังคงไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควรในหลายภาคส่วน
รองศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้มุมมองต่อการรณรงค์เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ทางสาธารณสุขของประเทศสู่ความสำเร็จว่า นอกจากการให้ความรู้ความเข้าใจแล้ว จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นในทันที สร้างความท้าทายให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ จากการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน และชี้ให้เห็นประโยชน์ร่วมกัน
จากประสบการณ์ดูงานมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งในเอเชีย พบมีการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission อย่างเต็มรูปแบบดังกล่าว โดยใช้ประโยชน์แม้จากสิ่งปฏิกูลเพื่อนำก๊าซมีเทนไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า และคิดเป็นแต้มสะสมให้ผู้มาใช้บริการห้องน้ำในโรงอาหารของมหาวิทยาลัย
เช่นเดียวกับ “ระบบคาร์บอนเครดิต” หรือการคิดคำนวณตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อแปรเปลี่ยนสู่ผลประโยชน์ (Benefits) ที่สร้างความตื่นตัวต่อภารกิจ Net Zero Emission ลดการใช้พลังงานของทั่วโลก นอกจากเป็นไปโดยสมัครใจแล้ว ยังทำเพื่อการลงทุนที่นับวันยิ่งมีมูลค่าผลประโยชน์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการรณรงค์ใช้พลังงานสะอาดจากการใช้แผงวงจรผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) อย่างกว้างขวาง โดยเป็นการออกแบบการใช้พลังงานตามความจำเป็นจริงของแต่ละแห่ง เช่นเดียวกับในภาคสาธารณสุขไทยที่ได้มีการลงทุนด้านดังกล่าวในโรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายพันแห่ง จนทำให้ประเทศสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละเป็นจำนวนมหาศาล
นอกจากนี้ การขับเคลื่อน Net Zero Emission ให้บรรลุผลสำเร็จ สำคัญที่การวางเป้าหมายให้ชัดเจน การจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินมาตรการก่อน – หลัง และวิเคราะห์ได้ถึงสาเหตุที่แท้จริง ทั้งนี้รวมไปถึงในส่วนของปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ รองศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ เทพานนท์ มองว่าหากจะบริหารจัดการให้ตรงจุด ควรมุ่งแก้ที่ “แหล่งกำเนิด” ของการเกิดฝุ่น PM2.5 ในเชิงรุก มากกว่าในเชิงรับเพียงการให้บริการทางสาธารณสุขต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ