วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท. ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ “การบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ : มาตรการทดแทนปูนเม็ด” โดยความร่วมมือ 21 องค์กร ภายใต้แนวคิด “รวมพลังเพื่อโลกของเรา” ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศได้ไม่น้อยกว่า 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี พ.ศ. 2565
วสท.ได้ร่วมลงนาม MOU บูรณาการความร่วมมือฯ กับ 21 องค์กร ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.), กรมโยธาธิการและผังเมือง, กรมทางหลวง, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรมทางหลวงชนบท, กรมชลประทาน, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก, สถาบันสิ่งก่อสร้างแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร, สภาวิศวกร, สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย และสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ประเทศไทยได้ร่วมขับเคลื่อนกับประชาคมโลก เข้าเป็นภาคีความตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยแสดงเจตจำนงในเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 20 – 25 ภายในปี พ.ศ. 2573 ทั้งนี้อุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทยนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยในปีพ.ศ.2562 มีมูลค่ารวมสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หลายองค์กรจึงได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการสนับสนุนเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) เพื่อส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น
เป็นที่น่ายินดีที่ภาคอุตสาหกรรมร่วมขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในสาขา “กระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์” ด้วย “มาตรการทดแทนปูนเม็ด” เนื่องจากในกระบวนการเผาวัตถุดิบเพื่อเปลี่ยนให้เป็น “ปูนเม็ด” นั้น เป็นขั้นตอนที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาปริมาณมาก จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เรียกว่า “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” (HYDRAULIC CEMENT) ซึ่งมีวิธีการผลิตที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาดว่าจะลดราว 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี พ.ศ.2565 หากสนับสนุนส่งเสริมเพิ่มการใช้งานปูนซีเมนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในงานก่อสร้างต่าง ๆ
“โดยในปีพ.ศ. 2573 วางเป้าหมายว่าจะสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 850,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ความสำเร็จสู่เป้าหมายนี้จะเป็นจริงได้ต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้รับเหมาก่อสร้าง วิศวกรทั่วประเทศ และประชาชนทุกภาคส่วน” นายก วสท. กล่าว
สำหรับการลงนามบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ มีข้อตกลงดำเนินการร่วมกัน ดังนี้
- สร้างความรู้ ความเข้าใจ และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแต่ละภาคส่วนที่จะมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ มาตรการทดแทนปูนเม็ด ให้บรรลุเป้าหมายของประเทศ
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคการผลิตให้ความสำคัญตลอดกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผลิตผลิตภัณฑ์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการวิจัย พัฒนา และการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular
- Economy)
ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดทำมาตรฐานลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำหรับผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์คอนครีตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และประชาสัมพันธ์ให้นำไปใช้งานอย่างแพร่หลาย - ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ การใช้งาน และประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แก่ภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคเอกชน และผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคการศึกษา
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้โครงการภาครัฐและภาคเอกชนเพิ่มการใช้งานผลิตภัณฑ์ ปูนซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์กอนกรีตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการปรับปรุง กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพิ่มเติมผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในบัญชีจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
- ร่วมกันจัดทำข้อมูลสำหรับการติดตามและประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
- ร่วมกันดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ด้วยมาตรการทดแทนปูนเม็ด ให้บรรลุเป้าหมายของประเทศ