มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดยสำนักพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม ร่วมกับ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง การยกระดับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยสู่สากลในยุคดิจิทัลด้วยยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยในยุคดิจิทัลด้วยยานยนต์ไฟฟ้า ให้แก่สถานประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ รวมทั้งสถานศึกษาที่เปิดสอนในสาขาวิศวกรรมโลจิสติกส์และเทคโนโลยีโลจิสติกส์ ได้เกิดมุมมองในการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทย ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะเป็นการยกระดับการขนส่งสินค้าของประเทศไทยด้วยยานยนต์ไฟฟ้า และสร้างโอกาสในการขยายเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างองค์กรภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศให้เจริญเติบโตก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือกล่าวถึงที่มาของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ว่า เกิดจากโอกาสที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือหรือที่รู้จักกันในนาม“เทคนิคไทย -เยอรมัน” ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับบริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 เพื่อขยายความร่วมมือในการพัฒนานักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และบุคลากรของบริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ในด้านอุตสาหกรรมการผลิตและบริการด้านอาหาร และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เชื่อมโยง เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษา การพัฒนาบุคลากร การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) รวมถึงมีการบริหารจัดการองค์ความรู้ การบริหารจัดการอุตสาหกรรม และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยและบริษัทในด้านอุตสาหกรรมการผลิต และการบริการด้านอาหาร มีการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีของความร่วมมือทางวิชาการนี้ขององค์กรทั้งสองฝ่าย เพื่อร่วมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ในการพัฒนากำลังคนของประเทศตามแนวนโยบายด้านการศึกษาของชาติ
อภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยได้มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการพัฒนากลไกเพื่อการขับเคลื่อนความมั่งคั่งของประเทศโดยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันโดยได้กำหนดแนวทางการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ รวมทั้งมีการส่งเสริมในการลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์และเพิ่มมูลค่าจากการเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ ส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวข้อง โดยการส่งเสริมการสร้างศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคและเชื่อมต่อกับเครือข่ายโลจิสติกส์ของโลก การผลักดันการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ และส่งเสริมเทคโนโลยีและพัฒนาอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งช่วยลดภาวะโลกร้อน ลดมลพิษทางเสียง และฝุ่นละออง
การขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศโลกที่หนึ่งในศตวรรษที่ 21 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยใช้โมเดลประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) เป็นเครื่องมือในการนำประเทศให้ก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งและยั่งยืน พัฒนาจากประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง โดยจะต้องมีการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และปรับเปลี่ยนจากการให้บริการพื้นฐานเป็นบริการที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูง เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีการแสวงหานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่เพื่อการต่อยอด S-curve เดิมที่กำลังจะถึงจุดอิ่มตัว ให้มีการพัฒนาต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศไทยมีความพร้อมสามารถรับมือและสร้างโอกาสจากความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ พร้อมทั้งพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการยกระดับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยสู่สากลในการขนส่งสินค้าด้วยยานยนต์ไฟฟ้าในยุคดิจิทัล ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวถึงภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ว่า ทางมหาวิทยาลัยได้ส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการบริการวิชาการที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นส่งผลต่อภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ปัญหาฝุ่นละอองโดยเฉพาะ PM 2.5 ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของประชาชน รวมไปถึงปัญหาด้านพลังงาน ซึ่งการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นทางออกสู่การแก้ปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนาด้านระบบขนส่งทั้งในระบบการขนส่งทางราง การขนส่งทางอากาศ และการขนส่งทางน้ำ ดังจะเห็นได้จากที่มหาวิทยาลัยมีผลงานที่หลากหลาย อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติได้อย่างกว้างขวางอีกด้วย