ศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะ จัดหลักสูตรบูรณาการการเรียนรู้ให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ฟรี เพื่อพัฒนาบุคลากรของหน่วยงาน เพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านโลจิสติกส์ ตั้งแต่โลจิสติกส์ขั้นพื้นฐาน, การบริหารจัดการโลจิสติกส์ จนถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ IT, IoT, Data Analytics ไปใช้ในกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ของหน่วยงาน โดยเรียนรู้จากโจทย์ปัญหาจริงของแต่ละบริษัท ผ่านอาจารย์จากคณะต่างๆของ มจธ. และผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจ บริษัทและหน่วยงาน SME ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ผศ.ดร.กานดา บุญโสธรสถิตย์ หัวหน้าโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ และหัวหน้าศูนย์นวัตกรรมโลจิสติกส์ บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มจธ. กล่าวว่า กลไกของการเรียนรู้ในโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ ของ มจธ. เน้นโจทย์จริงของบริษัทเป็นสำคัญ โดยเริ่มต้นจากการหารือกับผู้บริหาร เพื่อออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับโจทย์ของบริษัทที่สร้างผลกระทบสูง ก่อนแบ่งกลุ่มผู้เรียน ให้แต่ละกลุ่มนำความรู้ที่ได้จากการเรียนนำกลับไปใช้จัดการกับโจทย์จริง และต่อยอดสู่การพัฒนาหน่วยงานผ่านนโยบายของผู้บริหาร ซึ่งเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของบุคลากรตั้งแต่เริ่มต้นจนจบหลักสูตร
“บัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ เปิดสอนมาแล้ว 3 รุ่น เน้นสอน 2 หลักสูตร คือ การจัดการโลจิสติกส์ (Logistics Management) และ ดิจิทัล โลจิสติกส์ (Digital Logistics) โดยในอนาคตจะเพิ่มหลักสูตรที่ 3 เรื่อง การจัดการโลจิสติกส์ร่วมกับระบบการวางแผนทรัพยากรขององค์กร (Logistics ERP System) ทั้งนี้การเรียนจะแบ่งเป็นภาคทฤษฎี สลับกับนำความรู้ไปใช้หน้างานจริง และเสริมด้วยโค้ชผ่านออนไลน์ (Online Coaching) ให้ผู้เรียนปรึกษาอาจารย์ผู้สอนอย่างใกล้ชิด สม่ำเสมอ ปิดท้ายด้วยการให้ผู้เรียนนำเสนอผลงานให้กับผู้บริหาร เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาองค์กร ทั้งนี้ หลายบริษัทใช้เวทีนี้เฟ้นหาพนักงานที่โดดเด่นเพื่อผลักดันศักยภาพต่อไป” ผศ.ดร.กานดา กล่าว
ด้านเนื้อหาหลักสูตรดิจิทัล โลจิสติกส์ สอนตั้งแต่การเตรียมความพร้อมก่อนนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในโลจิสติกส์ ลดความสูญเปล่าออกจากกระบวนการ และแนวคิดควบคุมคุณภาพการผลิต/บริการ, การวางโครงสร้างข้อมูลของบริษัท, การนำเทคโนโลยี IoT ไปใช้เก็บข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ และนำไปวิเคราะห์ต่อ (Data Analytics) ส่วนหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ ปูพื้นฐานตั้งแต่ภาพกว้างการวางแผนงานด้านโลจิสติกส์, ความรู้เชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับโลจิสติกส์ เช่น สินค้าคงคลัง, ความต้องการ, คลังสินค้า, ศูนย์กระจายสินค้า และการขนส่ง ผู้เรียนจะสามารถคิด วางแผน มีหลักในการตัดสินใจ และแก้ปัญหาในเชิงระบบได้
นัธทวัฒน์ ศรีเลิศรักษ์ ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์กระจายสินค้า และธุรกิจ E-commerce บริษัท รีโน (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในวิทยากรในโครงการบัญฑิตพันธุ์ใหม่ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับภาคธุรกิจอย่างมาก และมีแนวโน้มเข้ามาทดแทนการใช้แรงงานคน การพัฒนาศักยภาพเดิม (Reskill) และพัฒนาศักยภาพใหม่ (Upskill) จึงเป็นเรื่องจำเป็นของบุคลากรยุคใหม่ ไม่เฉพาะหน่วยงานด้านโลจิสติกส์ แต่หน่วยงานสายอื่นก็สามารถเพิ่มทักษะด้านโลจิสติกส์ได้ เพราะความรู้ด้านโลจิสติกส์สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานของแต่ละแผนกได้ โดยเฉพาะหลักการคิดและมองภาพรวมองค์กรเป็นห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) คือ ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันทั้งองค์กร การทำงานจึงต้องผสานและร่วมมือกันทุกฝ่าย
โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ เป็นหลักสูตรประเภทประกาศนียบัตร (Non-Degree) ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้บุคลากรในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โดยมุ่งเน้นทักษะที่ขาดแคลน และเป็นที่ต้องการของอนาคต ซึ่งโลจิสติกส์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูง และเป็นสายงานที่ยังขาดแคลนในตลาดแรงงาน โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่า ภายในปีพ.ศ. 2566 ภาคอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ต้องการแรงงานด้านโลจิสติกส์ มากกว่าแสนอัตรา คิดเป็น 23% ซึ่งเป็นโอกาสของบุคลากรไทย ที่หากเตรียมพร้อมทักษะด้านโลจิสติกส์ ก็จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตได้ในอนาคต
สำหรับหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ สามารถติดต่อสอบถาม หรือสมัครเข้าร่วมโครงการได้ผ่านทางเฟซบุ๊กของศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Logistics innovation) และ อีเมล log-in@mail.kmutt.ac.th ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป