ทุกวันนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วมากและเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน เพราะทักษะใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน ทำให้โลกการทำงานจากนี้ไปจะไม่เหมือนเดิมมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งทำให้สมรรถนะ องค์ความรู้ และทักษะเก่าๆ อาจจะไม่จำเป็นต่อไปในอนาคต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรขององค์กรจะต้องได้รับการพัฒนาต่อเนื่องตลอดเวลาเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีนโยบายขยายพันธกิจด้านการพัฒนาบัณฑิต ไปสู่การพัฒนากลุ่มคนวัยทำงาน (Working Adults) ในภาคอุตสาหกรรม ภายใต้ชื่อ “KMUTTWORKS” ซึ่งเป็นโมเดลความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ เพื่อการพัฒนาทักษะและสมรรถนะของคนวัยทำงานอย่างยั่งยืน โดยออกแบบหลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้นภายใต้โจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม (Real Demand) เพื่ยกระดับภาคอุตสาหกรรมของไทย สอดรับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่ต้องการให้สถาบันอุดมศึกษามีบทบาทกว้างมากขึ้นโดยเข้าไปมีส่วนในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตของประเทศไทย
ดร.อรกัญญาณี เลี้ยงอิสสระ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มจธ. กล่าวว่า วัฏจักรของความรู้ในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก การเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรขององค์กรโดยสนับสนุนการเรียนในหลักสูตรระยะยาวอาจจะไม่ทันการณ์ ด้วยเหตุนี้หลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้น จึงตอบโจทย์คนวัยทำงานมากกว่า เพราะฉะนั้นการออกแบบและการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อกลุ่มวัยทำงานจึงจำเป็นที่ต้องแตกต่างจากกระบวนการจัดการศึกษาแบบ Formal Education ให้แก่นักศึกษาปริญญาตรี แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ การมุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ ทำได้ทำเป็นหรือเรียกว่า Outcome-Based Education (OBE) ซึ่งมุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน และเป็นแนวทางที่ มจธ. ยึดถือ
“KMUTTWORKS เป็นโครงการริเริ่มที่ถูกออกแบบขึ้น เพื่อพัฒนาสมรรถนะและทักษะสำหรับกลุ่มคนวัยทำงาน โดยได้รวบรวมทรัพยากรที่เป็นจุดแข็งและจุดเด่นทางด้าน Sci & Tech ของมหาวิทยาลัยที่จะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมจัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตร ประกอบด้วย นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญหลากหลาย อาจารย์ที่มีประสบการณ์การทำงานกับภาคอุตสาหกรรม และองค์ความรู้ในการจัดฝึกอบรมทักษะด้านต่างๆ หรือองค์ความรู้ในการพัฒนากำลังคนที่แตกต่างจากการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี-เอก” ดร.อรกัญญาณี กล่าว
ทั้งนี้ KMUTTWORKS เป็น Solution Provider เพื่อการร่วมพัฒนาองค์กรและกำลังคนวัยทำงานอย่างยั่งยืน หากบริษัทหรือองค์กรที่ต้องการ Customized Program ร่วมกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย ซึ่งนอกจากจะมีทีมอาจารย์สาขาเฉพาะทางที่มากประสบการณ์การทำงานกับภาคอุตสาหกรรมมาเป็นผู้สอนแล้ว ทุกโปรแกรมการอบรมจะผ่านการสำรวจความต้องการของภาคอุตสาหกรรม คือ เน้นจากโจทย์จริง (Real Demand) นำมาออกแบบโปรแกรมการพัฒนาทักษะเพื่อตอบความต้องการของกลุ่มเป้าหมายร่วมกับพันธมิตรภาคอุตสาหกรรม (Co-Design) และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ และเป็นโปแกรมที่มุ่งผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน (OBE) เป็นหลัก
นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบ Facilitator เพื่อเพิ่มความสำเร็จ มีระบบการวัดประเมินผลสมรรถนะ และระบบติดตามผล คือ เมื่อผู้เรียนผ่านการวัดประเมินผลแม้จะได้รับใบประกาศนียบัตรระยะสั้นกลับไปแล้ว ทีมงานก็จะยังคงติดตามผลที่เกิดขึ้นของผู้เรียนในทุก 3 และ 6 เดือน เพื่อติดตามผลงานของผู้เรียนว่ามีสมรรถนะและทักษะเพิ่มขึ้นตามที่องค์กรคาดหวังไว้มากน้อยเพียงใด
“อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้ของโปรแกรม KMUTTWORKS แตกต่างจากโปรแกรมอบรมอื่นๆ ทั่วไปคือ รูปแบบการเรียนรู้ใหม่ที่เรียกว่า “Hybrid Learning” เป็นรูปแบบการเรียนแบบผสมผสาน มีทั้ง Online, Onsite และ Coaching (Consultation) ซึ่งผสานจุดแข็งของ มจธ. คือ Hands-on Workshop และ E-Learning หรือระบบห้องเรียนออนไลน์ ที่ผู้เรียนสามารถเข้าเรียนย้อนหลังได้ทุกที่ทุกเวลา เป็นการนำประสบการณ์การฝึกอบรมของอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญใน มจธ. มาร่วมกันออกแบบกระบวนการการเรียนรู้ขึ้นใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับคนวัยทำงาน” ดร.อรกัญญาณี กล่าว
นอกจากนี้โปรแกรรม KMUTTWORKS ยังมีความ“ยืดหยุ่น”“ปรับได้” เนื่องจากโปรแกรมจะแยกในส่วนของการอบรมภาคทฤษฎีหรือเชิงวิชาการออกจากภาคปฏิบัติ (Workshop) ทำให้ตัวโปรแกรมที่ออกแบบมาสามารถนำไปปรับหรือประยุกต์ไปใช้กับบริษัทอื่นๆ ได้ ถือเป็นจุดเด่นของโครงการที่แตกต่างจากที่อื่น เพราะ KMUTTWORKS เป็นโครงการที่ต้องการร่วมพัฒนาองค์กรไปกับพันธมิตรภาคอุตสาหกรรมและกำลังคนวัยทำงานอย่างยั่งยืน
สำหรับการพัฒนาทักษะและสมรรถนะสำหรับคนวัยทำงาน KMUTTWORKS แบ่งออกเป็น 12 หมวด ประกอบด้วย 1. Digital Literacy 2. Data Analytics for All 3. Smart Factory & IoT 4. Bio-Circular-Green Economy (BCG) 5. Logistic 6. Essential Skills 7. Robotics & AI 8. Energy & Environment 9. Food Industry 10. Biofuel & Biochemical 11. Electric Vehicles และ 12. Media & Digital Creativity
ดร.อรกัญญาณี กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา (ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2565) มจธ.ได้ร่วมกับพันธมิตรภาคอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ 15 แห่ง ออกแบบและเปิดอบรมโปรแกรมพัฒนาสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นตามโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมไปแล้ว 17 โปรแกรมใน 6 หมวด อาทิ โปรแกรมการพัฒนางานควบคุมคุณภาพชิ้นงานโลหะด้วยเทคนิคการวิเคราะห์โครงสร้างจุลภาคและการใช้งานโปรแกรมวิเคราะห์ภาพถ่าย, โปรแกรมความปลอดภัยในการปฏิบัติงานกับยานยนต์ไฟฟ้า, โปรแกรมการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมด้วยการสื่อสารยุคที่ 5 และนวัตกรรมดิจิทัล ฯลฯ
ล่าสุด ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ“ภาษาอังกฤษเยี่ยมยุทธ์ ติดอาวุธนักเดินเรือไทย (Internationalization of Thai Marine Logistics) ขึ้นระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กรมเจ้าท่า กองบังคับการตำรวจน้ำ บริษัท โทรีเซน ชิปปิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด และ มจธ. เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวนี้เป็นการขยายผลจากหลักสูตรภาษาอังกฤษระยะสั้น ในโปรแกรม Basic English Communication for Ship Crews
ด้านพิศาล บำรุงชู ผู้จัดการโรงงานแปรรูปสุกร พัทลุง บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ KMUTTWORKS กล่าว ว่าKMUTTWORKS เป็นรูปแบบการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรที่แปลกใหม่ หัวข้อหรือวิชาที่จัดขึ้นเกิดจากการประเมินผลระหว่างหัวหน้างานกับตัวพนักงานว่ามีทักษะใดที่ขาดและต้องการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมในเรื่องอะไร ทำให้หัวข้อที่เรียนตรงจุด เช่น โปรแกรม Data Management and Data Analysis for Manager ส่วนการเรียนรู้แบบระบบไฮบริดสะดวกมากสำหรับพนักงาน จากเดิมการเรียนหรือเพิ่มทักษะก็ต้องลางานไปเรียน และมีความยืดหยุ่นมากกว่าการเรียน Onsite นอกจากนี้ยังมีบททดสอบหรือแบบฝึกหัดก่อนและหลังเรียน อีกทั้งผู้เรียนสามารถสอบถามวิทยากรและอาจารย์ในวิชานั้นๆ ได้โดยตรง และเรียนย้อนหลังได้ เมื่อเรียนจบจะได้นำวิชาเหล่านี้ไปแก้ไขในสถานการณ์จริงได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป
วยุพิน สืบซึ้ง ผู้จัดการฝ่ายผลิต โรงงานลพบุรี BFS บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า การเรียนรู้ภายใต้โปรแกรม KMUTTWORKS นอกจากจะตรงจุดที่ต้องการแล้วยังตอบสนองทักษะที่เรายังขาดอยู่ บางวิชาช่วยย้ำเตือนความจำ และบางวิชาที่เป็นความรู้ใหม่ ก็ทำให้เราเข้าใจศัพท์ใหม่ ๆ ในยุคดิจิทัลมากขึ้น ด้วยการเรียนในรูปแบบระบบไฮบริดที่มีความยืดหยุ่น มีทั้งคลาสเรียน และห้องเรียนออนไลน์ ที่เราสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองเวลาไหนก็ได้ แบ่งเวลาเรียนรู้ได้ไม่จำเป็นต้องเรียนในคลาส จะเรียนหลังเลิกงานหรือในวันหยุดก็ได้ ไม่กระทบกับเวลาทำงาน ถือเป็นระบบที่ดีมาก
สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีการจัดฝึกอบรมพัฒนาสมรรถนะและทักษะให้กับกลุ่มคนวัยทำงานใน 6 หมวดไปแล้ว 614 คน มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 300 คน โดยระยะต่อไปในอีกหนึ่งปีข้างหน้า KMUTTWORKS ตั้งเป้าที่จะดำเนินการออกแบบโปรแกรมอบรมร่วมกับพันธมิตรภาคอุตสาหกรรมให้ครบทั้ง 12 หมวด เพื่อเป็นโมเดลที่สนับสนุนโจทย์ความต้องการให้กับบริษัทอื่น ๆ ได้ต่อไปพร้อมขยายความร่วมมือกับพันธมิตรเพิ่มขึ้นอีก 30 แห่ง