Times Higher Education (THE) องค์กรที่ให้บริการข้อมูลการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับโลก ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก Times Higher Education World University Rankings 2024 (THE 2024) ซึ่งจากการจัดอันดับ 2,673 มหาวิทยาลัย ปรากฏว่ามีสถาบันอุดมศึกษาของไทย ติด 1 ใน 1,000 ลำดับแรก รวม 4 สถาบัน คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล (อันดับที่ 601-800 ของโลก) อันดับที่ 3 ร่วม จำนวน 2 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อันดับที่ 801-1,000 ของโลก) โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้คะแนนรวมเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย
ในส่วนของ มจธ. นั้น จากการให้คะแนนของ THE ใน 5 ด้าน คือ 1. คุณภาพการสอน (Teaching) 2. สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการวิจัย (Research Environment) 3. คุณภาพงานวิจัย (Research Quality) 4. ผลลัพธ์เชิงอุตสาหกรรม (Industry) 5. ความเป็นนานาชาติ (International Outlook) นั้น ด้านที่เป็นจุดเด่นที่สุดของ มจธ. ภายใต้เกณฑ์การให้คะแนน THE ก็คือ “คุณภาพงานวิจัย” (Research Quality) ซึ่งได้คะแนนสูงเป็น อันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยในไทย และลำดับที่ 8 ของมหาวิทยาลัยในอาเซียน
รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ส่วนสำคัญที่ทำให้เราได้มีคะแนนในด้านนี้สูง คือ ‘ผลกระทบจากการอ้างอิง’ (Citation Impact) และ ‘ความเป็นเลิศของงานวิจัย’ (Research Excellence) ที่ทั้งสองหัวข้อ เราได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และอันดับ 7 และ 8 ของมหาวิทยาลัยในอาเซียนตามลำดับ
มจธ. มีการนำผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั้ง THE และสถาบันอื่นๆ มาเป็นเครื่องมือเพื่อใช้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั้งในไทย อาเซียนและทั่วโลก เพื่อมองหาช่องว่างและโอกาสที่จะสามารถพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น แต่ไม่มีการนำ Ranking มาเป็นเป้าหมายของมหาวิทยาลัย
“สิ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญของเราคือ การทำตามพันธกิจหลัก 3 ด้านของมหาวิทยาลัย ทั้งด้านการเรียนการสอน ด้านงานวิจัย และด้านบริการเพื่อสังคมให้สำเร็จ โดยมี Ranking หรือการจัดอันดับของสถาบันต่างๆ เป็นตัวสะท้อนให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น ซึ่งในที่สุดการจัดอันดับ หรือ Ranking ดีๆ ไปสู่การรับรู้ของผู้ที่กำลังจะศึกษาต่อทั้งคนไทยและต่างชาติ รวมถึงสถาบันหรือหน่วยงานด้านการศึกษาวิจัยในระดับโลก ก็จะนำไปสู่โอกาสที่ทำให้เราได้ผู้เรียนที่มีศักยภาพ และเกิดความร่วมมือระดับนานาชาติกับองค์กรและนักวิจัยเก่งๆ อันจะเกิดประโยชน์ในระยะยาวทั้งกับมหาวิทยาลัยและประเทศชาติในที่สุด” รศ.ดร.สุวิทย์ กล่าว
นอกจากนั้นแล้ว การประกาศผลงานวิจัยเผยแพร่ได้รับการตีพิมพ์และอ้างอิงสูงที่สุด Top2% ของโลก World’s Top 2% Scientists 2023 ประเภท Career-long data are updated to end-of-2022 (All citations) ของ John P.A. Ioannidis ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มีคณาจารย์ มจธ. 8 ท่าน ที่ติดอันดับด้วย สื่อถึงศักยภาพและคุณภาพของการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้