สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สนับสนุนนักวิจัยมหาวิทยาลัยศิลปากรลดปัญหามลพิษ จัดกิจกรรมไหว้เจ้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่านเยาวราช พร้อมร่วมกับคณะมัณฑศิลป์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ออกแบบเครื่องกระดาษและธูปแบบใหม่ให้ “เผาง่ายและเร็ว” หวังลดฝุ่น PM2.5 จากการไหว้เจ้าให้น้อยลง
โครงการวิจัยการพัฒนาทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมย่านเยาวราช ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ตามวิถีประเพณีและวัฒนธรรม “การไหว้เจ้า เสริมดวง เสริมบารมี ตามวิถีวัฒนธรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในชุมชนย่านเยาวราช” ตามสถานที่ศักสิทธิ์ย่านเยาวราช-เจริญกรุง เพื่อเสริมสิริมงคล เสริมดวง เสริมบารมี ในวาระเทศกาลตรุษจีน ประกอบด้วย ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง ทรงวาด, ศาลเจ้าพ่อกวนอูและเจ้าพ่อม้า, ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี้ย พร้อมเยี่ยมชมบ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเจริญไชย, ศาลเจ้าหลื่อตี้เบี่ย, ศาลเจ้าไต่ฮงกง (ไต่ฮงโจวซือ) มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง และวัดมังกรกมาลาวาส (เล่งเน่ยยี่) โดยมี ดร.วุฒิชัย อารักษ์โพชฌงค์ นักวิจัยในโครงการจากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้บรรยายและนำชม
ดร.วุฒิชัย กล่าวว่า กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ปัญหาจริง สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นและการจัดการปัญหาของศาลเจ้าต่าง ๆ รวมทั้งแหล่งเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการไหว้ ซึ่งเป็นส่วนของปัญหาค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ในวิธีการที่ผู้วิจัยพยายามถ่ายทอดในอีกแง่มุมของการไหว้แบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายหลังจากเสร็จกิจกรรมได้มีการสรุปร่วมระหว่างผู้เข้าร่วมถึงความรู้สึกต่อการรับรู้แบบใหม่ ๆ ในการไหว้ รวมถึงความคิดเห็นต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงและการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศ โดยนักวิจัยได้สอดแทรกตลอดช่วงเวลาที่เข้าร่วมกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมในการไหว้เจ้าขอพรโดยไม่ต้องใช้ธูป แค่เพียงตั้งจิตอธิษฐานก็เพียงพอแล้ว ซึ่งผู้เข้าร่วมต่างรู้สึกสบายใจที่ได้มีส่วนในการลดมลพิษ และจะนำไปปฏิบัติในการไหว้ขอพรครั้งต่อไปเพราะเป็นผลดีต่อสุขภาพโดยเฉพาะผู้ที่เป็นภูมิแพ้
ทั้งนี้ การจัดการศาลเจ้าให้มีการไหว้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ วัดและศาลเจ้า กับตัวผู้ไหว้ ที่จะต้องช่วยกันลดจำนวนธูปและกระถางธูป เร่งเก็บธูปให้เร็วขึ้น รวมถึงการจัดการวัสดุประกอบการไหว้ทั้งธูป เทียน และเครื่องกระดาษ ซึ่งคณะวิจัยได้คิดโจทย์ร่วมกับคณะมัณฑศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บนพื้นฐานวัฒนธรรมว่าจะทำอย่างไรให้ “เผาง่ายและเร็ว” โดยจะออกแบบเครื่องกระดาษให้มีรูปทรงโปร่ง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ขายเป็นรายชิ้นแทนที่จะขายยกปึก ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการและผู้บริโภคให้เข้าใจตัวสินค้า รวมถึงบริบทอื่น ๆ ทั้งภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน จะต้องมีเจ้าภาพหลัก
“เราเลือกเผาไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้ไหว้ง่าย เร็ว และไม่ก่อมลพิษ เจ้าภาพในการแก้ปัญหาควรสร้างสถานที่ที่เผาไหม้สมบูรณ์ ไร้มลพิษ ต้องมีการจัดการแบบเบ็ดเสร็จ เมื่อเปลี่ยนธูปไม่ได้ทำอย่างไรจะให้คนจุดธูปน้อยลง จึงร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์พัฒนาธูปแบบใหม่โดยทดลองผสมโซเดียมคาร์บอเนตหรือหินปูนเพื่อลด PM2.5 ไม้ที่เผาแล้วจะต้องไม่ทิ้งกากเถ้าอย่างเช่นธูปที่ใช้ในปัจจุบัน” ดร.วุฒิชัย กล่าว
สำหรับกระดาษไหว้มีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ที่จังหวัดนครปฐม หากลดขนาดลงได้และเปลี่ยนประเภทของกระดาษก็จะช่วยลดปริมาณสารตะกั่วที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพลงได้ ซึ่งวัดมังกรกมลาวาสเป็นผู้นำในการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในวัดและศาลเจ้าด้วยการจัดหาธูปเทียนและกระดาษที่ก่อมลพิษน้อยลง ทำให้ไม่มีอิทธิพลในการต่อรองกับผู้ประกอบการ สินค้าเหล่านี้จึงเป็นทางเลือกที่ในการแก้ปัญหา ราคาถูกและผู้บริโภคยอมรับ ขณะที่ศาลเจ้าก็ต้องเปิดรับสินค้าใหม่ด้วย แต่จุดสำคัญที่ต้องดำเนินการ คือ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน
ด้าน ภก. ศ. ดร.พรศักดิ์ ศรีอมรศักดิ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นการค้นหาและช่วยเหลือชุมชนในการแก้ปัญหาด้วยการปรับเปลี่ยนมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็ได้ตระหนักและได้คำตอบส่วนตัวแล้วว่าการไหว้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทำได้อย่างไร โดยคณะวิจัยจะนำข้อสรุปทั้งหมดไปเป็นแนวทางหรือต้นแบบในการสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากย่านเยาวราชก่อนขยายวงไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งประเทศต่อไปเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม