สภาวิศวกร ผนึกหน่วยงานท้องถิ่น สำรวจปัญหาน้ำกัดเซาะ “ชุมชนสนามจันทร์” เตรียมเสนอแผนภาครัฐบริหารจัดการวิถีชุมชนริมน้ำยั่งยืน


สภาวิศวกร ผนึกหน่วยงานท้องถิ่น สำรวจปัญหาน้ำกัดเซาะ “ชุมชนสนามจันทร์” เตรียมเสนอแผนภาครัฐบริหารจัดการวิถีชุมชนริมน้ำยั่งยืน

กรุงเทพฯ 13 กรกฎาคม 2563 – สภาวิศวกร ผนึกหน่วยงานท้องถิ่น จังหวัดฉะเชิงเทรา ปูพรมสำรวจปัญหาน้ำกัดเซาะ “ชุมชนสนามจันทร์” หลังถูกน้ำกัดเซาะนานกว่าสิบปี และพื้นที่หลายครัวเรือนจมหายไปกับแม่น้ำเป็นวงกว้าง เล็งเสนอแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมตามหลักวิศวกรรม ผ่านการลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย สอบถามปัจจัยเร่งการกัดเซาะ ฯลฯ พร้อมผลักดันสู่ แผนพัฒนาพื้นที่ชุมชนริมน้ำอย่างยั่งยืน เสนอภาครัฐ ในฐานะชุมชนต้นแบบแก่พื้นที่ริมแม่น้ำอื่นในอนาคต

พร้อมกันนี้ สภาวิศวกร ได้เแนะภาคประชาชนรับมือปัญหาน้ำกัดเซาะ 3 ขั้นตอน ได้แก่ เลี่ยงปลูกบ้านติดริมตลิ่ง เหตุพื้นดินริมตลิ่งมีความอ่อนไหวและเสี่ยงกัดเซาะสูง สร้างแนวชะลอน้ำทันที เพื่อชะลอการถูกกัดเซาะตั้งแต่ระยะแรก และ หมั่นสังเกตระดับน้ำ/การพังทลายของดิน ข้อมูลเชิงสถิติหนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรุดตรวจสอบ

ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร

ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า สภาวิศวกร พร้อมด้วยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) วิศวกรอาสา และหน่วยงานท้องถิ่นจังหวัดฉะเชิงเทรา อาทิ จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอบ้านโพธิ์ องค์การบริหารส่วนตำบลสนามจันทร์ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 กรมเจ้าท่า จังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่แบบองค์รวมฯ ของ “ชุมชนสนามจันทร์” ชุมชนริมแม่น้ำบางปะกง ที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะนานนับสิบปี และพื้นที่หลายครัวเรือนจมหายไปกับแม่น้ำเป็นวงกว้าง เพื่อเป็นกรณีศึกษา อันนำไปสู่การเสนอแผนพัฒนาพื้นที่ชุมชนริมน้ำอย่างยั่งยืนแก่ภาครัฐ ในการเป็นชุมชนต้นแบบแก่พื้นที่ริมแม่น้ำอื่นในอนาคต ผ่านการลงพื้นที่สำรวจความเสียหายเชิงโครงสร้าง สอบถามประชาชนถึงปัจจัยร่วมที่มีส่วนเร่งให้เกิดการกัดเซาะของดิน ตลอดจนแนะแนวทางการชะลอการกัดเซาะตามหลักวิศวกรรมศาสตร์

พร้อมกันนี้ สภาวิศวกรได้แนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะในภาคประชาชน สามารถทำได้ใน 3 ขั้นตอน มีรายละเอียดดังนี้

  • เลี่ยงปลูกบ้านติดริมตลิ่ง เพราะพื้นดินบริเวณริมตลิ่ง จะมีความอ่อนไหวและเสี่ยงต่อการกัดเซาะสูง ดังนั้น เมื่อพื้นดินบริเวณดังกล่าว ทำหน้าที่รับน้ำหนักบ้านในปริมาณมาก ย่อมเสี่ยงต่อการทรุดหรือพังทลายของดิน และในกรณีที่มีฝนตกหนัก ยิ่งส่งผลกระทบหรือสร้างความเสียหายแบบทวีคูณ นอกจากนี้ หากพื้นที่บ้านอยู่ในลักษณะที่มีคลองและแม่น้ำประกบโดยรอบ ย่อมมีความเสี่ยงในการกัดเซาะสูงกว่าพื้นที่บริเวณอื่น
  • สร้างแนวชะลอน้ำทันที ประชาชนควรดำเนินการจัดหาหินถมตลิ่งหรือกำแพงกันดิน ตั้งแต่ระยะแรกของการก่อสิ่งปลูกสร้าง เพื่อชะลอการถูกกัดเซาะ หรือในกรณีที่น้ำกัดเซาะอย่างรวดเร็ว และใกล้บริเวณบ้านจากอัตราเร่งของน้ำที่สูงขึ้น จะต้องตอกเสาเข็มทำกำแพงกันดินให้ลึกมากที่สุด (ขึ้นอยู่กับระดับความสูงของน้ำ) เพื่อลดการกัดเซาะที่เพิ่มมากขึ้น
  • หมั่นสังเกตระดับน้ำ/การพังทลายของดิน การหมั่นสังเกตระดับน้ำและอัตราการทลายของดินอย่างต่อเนื่องทุกเดือน จะเป็นข้อมูลเชิงสถิติที่สำคัญต่อการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรุดตรวจสอบ และในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติรุนแรง สามารถแจ้งมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อคำนวณความเสี่ยง ตลอดจนแนะนำวิธีการแก้ไขได้อย่างตรงจุด โดยประชาชนสามารถสังเกตระดับน้ำและการพังทลายของดินด้วยตนเองอย่างง่าย ด้วยการนำไม้ไปปักในจุดที่สังเกตเห็นและมั่นคง หรือถ่ายภาพเก็บไว้

สำรวจปัญหาน้ำกัดเซาะ “ชุมชนสนามจันทร์”

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากการลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของชุมชนสนามจันทร์นั้น สภาวิศวกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องดำเนินการศึกษาข้อมูลเชิงลึกทางสถิติจากหน่วยงานราชการอย่างถี่ถ้วน อาทิ อัตราการเร่งของน้ำรายปี ขณะเปิดหรือปิดประตูเขื่อน การเปลี่ยนแปลงระดับความสูงของน้ำโดยเฉลี่ยต่อเดือน เพื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริงของการกัดเซาะ และการสูญเสียที่ดินไปกับแม่น้ำบางปะกงของประชาชน อันนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ ปัญหาน้ำกัดเซาะพื้นที่ริมชายฝั่งแม่น้ำ ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะพื้นที่ใดที่มีการไหลผ่านของน้ำย่อมมีปัญหาการกัดเซาะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเจอได้ทั่วโลก ขณะที่ทั่วประเทศของไทย อาทิ ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำปิง ก็ประสบปัญหาดังกล่าว และมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาตามหลักการทางวิศวกรรม ภายใต้เงื่อนไขของความเสี่ยงอันตรายตามลำดับ

สำรวจปัญหาน้ำกัดเซาะ “ชุมชนสนามจันทร์”

สภาวิศวกร ตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชุมชนริมน้ำ รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ มาโดยตลอด โดยหากประชาชนประสบปัญหาเรื่องโครงสร้างเชิงวิศวกรรม ทางสภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ก็ความพร้อมให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ผ่านการลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย และให้คำปรึกษาผ่านสายด่วนสภาวิศวกร 1303 ทันที” นายกสภาวิศวกร กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save