บราเดอร์ ผู้นำธุรกิจเครื่องพิมพ์ผ้าระบบดิจิทัลของไทย สบช่องเทรนด์ตลาดเปลี่ยน เปิดตัวเครื่องพิมพ์ผ้าระดับอุตสาหกรรมระบบดิจิทัลรุ่นล่าสุด “GTX600” เจาะกลุ่มโรงงานสกรีนและโรงงานการ์เมนท์ทั่วประเทศ หลังพบกระแสนิยมการผลิตเปลี่ยนจาก Mass Production สู่ Mass Customization ชี้การเปิดตัวในครั้งนี้ ทำให้ปัจจุบันบราเดอร์มีนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์ผ้าระบบดิจิทัลครอบคลุมทุกกลุ่มตลาด ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นธุรกิจจนถึงระดับอุตสาหกรรมนับเป็นแบรนด์แรกในไทย มั่นใจขยายตลาดจับกลุ่มอุตสาหกรรมในครั้งนี้ จะสร้างอัตราเติบโตให้กลุ่ม GTX ได้สูงถึง 30% ในปีงบประมาณ 2565
พงษ์พันธ์ สุระวัฒน์เจริญ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขยายธุรกิจ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงภาพรวมอุตสากรรมการพิมพ์ผ้าระบบดิจิทัลในปัจจุบันว่า ในปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการพิมพ์ผ้าในเมืองไทยเริ่มปรับตัวสู่การพิมพ์แบบ Mass Customization เพราะปริมาณการพิมพ์ในจำนวนมากเริ่มลดลง ประกอบกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยต้องการความละเอียดของลวดลาย มีการออกแบบที่ซับซ้อนขึ้น ทำให้กระบวกการการผลิตแบบขึ้นบล็อกสกรีนดังเช่นในอดีตเริ่มไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนไปได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการพิมพ์ผ้าในไทย ต้องแสวงหาเครื่องพิมพ์ที่สามารถเติมเต็มความต้องการในส่วนนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ และด้วยช่องว่างของตลาดนี้เองทำให้บราเดอร์ตัดสินใจนำเข้าเครื่องพิมพ์ผ้าระดับอุตสาหกรรมระบบดิจิทัลรุ่นล่าสุด “GTX600” จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย นับเป็นรายแรกที่มีผลิตภัณฑ์ที่รองรับตลาดกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว
แม้ว่าตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์ผ้าระบบดิจิทัลจะเริ่มจากกลุ่มลูกค้า SME แต่ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการพิมพ์ผ้าขนาดใหญ่ทั่วโลก ก็เริ่มหันมาขยายธุรกิจและสร้างการเติบโตด้วยผู้ช่วยรุ่นใหม่อย่างเครื่องพิมพ์ผ้าระบบดิจิทัลเช่นกัน
ด้วยประสิทธิภาพของ GTX600 จะช่วยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการพิมพ์ผ้าหมดกังวลเรื่องการควบคุมด้านมาตรฐานคุณภาพการผลิตและการบริหารต้นทุนได้อย่างดี โดยเฉพาะการที่ตลาดกำลังเบนเข็มสู่การผลิตในแบบ Mass Customization หากผู้ประกอบการปรับตัวช้า ก็จะเสียโอกาสทางธุรกิจไปได้ จากการสำรวจภาพรวมตลาดพบว่า ปัจจุบันในไทยยังมีการใช้ระบบการพิมพ์แบบ Direct to Garment (DTG) ไม่มากนัก ดังนั้นตลาดในส่วนนี้ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แม้กระทั่งกลุ่มนักออกแบบชั้นนำในไทย ก็หันมาใช้การพิมพ์แบบ DTG หรือเทคโนโลยีการพิมพ์ลายลงบนผ้าโดยตรงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อลดขั้นตอนการผลิต เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน
“บราเดอร์เชื่อว่าในช่วง 1-2 ปีนับจากนี้ เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการพิมพ์ผ้าที่ก้าวเข้าสู่โลก DTG กันมากขึ้นในเวลาที่รวดเร็ว เพื่อให้สามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้ในอนาคต” พงษ์พันธ์ กล่าว
ปัจจุบัน บราเดอร์ ครองส่วนแบ่งการตลาดของเครื่องพิมพ์ผ้าระบบดิจิทัลในไทยได้กว่า 50% และการนำเสนอ GTX600 สู่ตลาดเมืองไทยในครั้งนี้ จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการขยายส่วนแบ่งการตลาดได้มากยิ่งขึ้นจากการขยายฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมโรงงานสกรีน และโรงงานการ์เมนท์ โดย บราเดอร์ ได้มอบหมายให้ บริษัท เอสเคที. เอ็มบรอยเดอรี่ จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ GTX ในประเทศไทย
ประกายกุล ถมมา เจ้าหน้าที่การตลาดอาวุโสผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์ผ้าระบบดิจิทัลบราเดอร์ GTX กล่าวว่า หลักการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบราเดอร์คือ การรับฟังเสียงความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ และนำมาพัฒนาศักยภาพให้ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแท้จริง โดย GTX600 ถือเป็นเจนเนอเรชันที่ 6 สำหรับเครื่องพิมพ์ผ้าระบบดิจิทัล GTX600 ของบราเดอร์ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเจาะกลุ่มการผลิตปริมาณมาก (High Volume) และกลุ่มโรงงานโดยเฉพาะ โดดเด่นด้านความรวดเร็วในการพิมพ์ ใช้หมึกพิมพ์น้อยกว่า ขนาด 4 หัวพิมพ์ พื้นที่พิมพ์ในครั้งเดียวใหญ่ถึง 24×24 นิ้ว รองรับการพิมพ์แบบ Over Print ได้แบบเต็มระบบ ถาดสามารถปรับสูงต่ำได้อัตโนมัติ มีระบบทำความสะอาดหัวพิมพ์แบบอัตโนมัติ พร้อมฟังก์ชันพิเศษอื่นๆ อีกมากมาย
“จากการทดลองแนะนำสู่ตลาดเมืองไทยตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการให้ความสนใจ GTX600 แบบเกินคาด ทั้งยังปิดการขายไปได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยสามารถจำหน่าย 4 เครื่องแรกได้เป็นประเทศแรกในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งถือเป็นบทพิสูจน์การยอมรับและเชื่อมั่นของลูกค้าในไทยได้เป็นอย่างดี เพราะ GTX600 ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ รองรับความต้องการที่เปลี่ยนไปของตลาดที่มีความซับซ้อนในลวดลายและการออกแบบ การผลิตด้วย GTX600 จึงทำให้ผู้ประกอบการสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ในราคาที่สูงยิ่งขึ้น หากมองในมิติของนักออกแบบ GTX600 ก็ยังสามารถเปิดกว้างให้นักออกแบบมีอิสระในการสร้างสรรค์ลวดลาย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องข้อจำกัดของการพิมพ์แบบเดิม” ประกายกุล กล่าว