บราเดอร์ จับมือแบรนด์ดัง สร้างสีสันให้แก่แคมเปญการตลาด เดินหน้าสร้างมิติใหม่ให้วงการไอทีเมืองไทย ปีพ.ศ.2563 ด้วยการขยายการรับรู้สู่ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ เตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ ในกลุ่มสินค้าทั้งเครื่องพิมพ์ จักรเย็บผ้า ระบบเครื่องเสียงคาราโอเกะ เครื่องพิมพ์ฉลาก และสแกนเนอร์ตลอดปี เน้นผสานโซลูชั่นเพื่อเพิ่มตอบโจทย์ความต้องการให้แก่ทุกกลุ่มเป้าหมาย ย้ำสร้างทีมที่ปรึกษาเสริมทัพทีมขายและทีมบริการแก่ตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ เพิ่มความมั่นใจสร้างโอกาสการขายให้มากขึ้น มั่นใจปีงบประมาณ 2563 จะสามารถสร้างอัตราการเติบโต 5% ภายใต้กยุทธ์ 3C แม้ภาพรวมตลาดยังทรงตัว ชี้ศักยภาพภาคเอกชนของไทยยังแข็งแกร่งพร้อมรับมือได้ในทุกสถานการณ์
ธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แม้ภาพรวมธุรกิจเครื่องพิมพ์ในไทยยังทรงตัว แต่บราเดอร์สามารถสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดให้เติบโตเพิ่มขึ้น หลังปรับรูปแบบกลยุทธ์สะท้อน DNA ของแบรนด์ที่มีความหลากหลายด้านผลิตภัณฑ์เพิ่มสีสันไลฟ์สไตล์ตอบโจทย์ลูกค้าปัจจุบัน เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญบริษัทฯ ได้ Transform 3 ส่วนหลัก ได้แก่ Business transform, Operational Transform และ Talent Transform ด้วยกลยุทธ์ ‘3C’ มุ่งโฟกัส 1.Customer -ลูกค้า 2.Channel Partner -ช่องทางการจัดจำหน่าย และ 3 Company -องค์กร ทำให้ปีงบประมาณ 2562 ซึ่งจะปิดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2563 นี้ บริษัทฯ คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตแบบสวนกระแสถึง 5 %
จากข้อมูลส่วนแบ่งทางการตลาดของไทยในปีพ.ศ.2561-2562 โดย GFK ในปีพ.ศ.2562 ผลิตภัณฑ์ Mono Laser MFP (Multi-function Printer) บราเดอร์มียอดขาย 56% ซึ่งเติบโตจากปีพ.ศ.2561 ที่มีเพียง 48% ทำให้ครองอันดับ 1 เหมือนเดิม ส่วนกลุ่ม Color Laser MFP ยอดขายเติบโตจากปีพ.ศ.2561 ที่ 30% เป็น 33% ในปีพ.ศ.2562 ครองอันดับ 1 เหมือนเดิม ขณะที่กลุ่ม Mono Laser Printer ในปีพ.ศ.2562 ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 38% ครองอันดับ 1 จากเดิมในปีพ.ศ.2561 อยู่ที่อันดับ 2 ที่มียอดขาย 29% ผลิตภัณฑ์ Color Laser Printer ยอดขายปีพ.ศ.2562 และปีพ.ศ.2561 เท่ากันที่ 18% อันดับ 2 เท่าเดิม และกลุ่ม Ink Jet Tank ยอดขายในปีพ.ศ.2561 อยู่ที่ 20% ส่วนยอดขายในปีพ.ศ.2562 ลดลงอยู่ที่ 17% ครองอันดับ 3
“บราเดอร์ครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Mono Laser Printer กลุ่ม Mono Laser MFP และ Color Laser MFP ที่ครองส่วนแบ่งการตลาด 33% ด้านกลุ่มกลุ่ม Ink Jet Tank บราเดอร์ยังเกาะกลุ่ม 1 ใน 3 ผู้นำตลาด ด้วยส่วนแบ่ง 17% ที่ผ่านมาบราเดอร์ใช้กลยุทธ์ทั้ง “Push & Pull” จนทำให้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ และในปีนี้จะเพิ่มสีสันในการทำตลาดรูปแบบใหม่เพื่อให้เกิดความแตกต่างจากคู่แข่งที่สำคัญในปีนี้บราเดอร์จะใช้งานบริการหลังการขายที่ได้รับการยอมรับอย่างมากถึงคุณภาพมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อเพิ่มรายได้ให้บริษัทฯ ด้วย” ธีรวุธ กล่าว
ในปีงบประมาณ 2563 บราเดอร์ยังคงเดินตามกลยุทธ์ที่ได้วางไว้ในช่วง 3 ปี ครอบคลุมระหว่างปีงบประมาณ 2562 – 2564 ด้วยการเพิ่มความเข้มข้นให้แก่กลยุทธ์ ‘3C’ เริ่มจาก Customer เน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ ที่เติมเต็มความต้องการให้หลากหลายยิ่งขึ้น Channel Partner ช่องทางการจัดจำหน่าย) ปีนี้จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนด้วยการสร้างการทำงานภายใต้คอนเซ็ปต์ Brother: the Power of TEAM เป้าหมายเพื่อสร้างทีมที่ปรึกษาให้แก่กลุ่มตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ สร้างโอกาสทางการขายใหม่ๆ ด้วยการส่งทีมผลิตภัณฑ์ ทีมขาย ทีมสื่อสารการตลาด ทีมเทคนิค และทีมบริการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์บราเดอร์ กระตุ้นการตัดสินใจซื้อของลูกค้า และCompany องค์กร
โดยบราเดอร์ จะนำระบบ “Agile” มาใช้ในการทำงานในแต่ละโครงการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานเกิดความยืดหยุ่นและเกิดความรวดเร็วในการสร้างผลงาน โดยจะคัดเลือกบุคลากรในแต่ละแผนก เข้ามาระดมความคิด เพื่อกำหนดแนวทางในการเพิ่มศักยภาพ ความคล่องตัว และบริหารการใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะใช้ระบบดังกล่าวต่อเนื่องไปถึงปีพ.ศ. 2564
ธีรวุธ กล่าวว่า ในปีพ.ศ.2563 ภาพรวมตลาด Laser Printer อยู่ที่ 260,000 ตัว เท่ากับปีพ.ศ.2562 จะเห็นได้ว่าตลาดในส่วนนี้ไม่เติบโต ขณะที่ Ink Jet มูลค่าตลาดรวมในปีพ.ศ.2562 ราว 630,000 ตัว ในปีพ.ศ.2563 มูลค่าตลาดรวม 640,000 เครื่อง คิดเป็นสัดส่วนที่เติบโต 2%
บราเดอร์ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในผลิตภัณฑ์ทุกๆ ปี โดยรายได้หลักมาจาก Printer 85% ที่เหลือ 15% มาจากจักรเย็บผ้า เครื่องพิมพ์ฉลาก สแกนเนอร์ เครื่องพิมพ์เสื้อ และเครื่องเล่นคาราโอเกะ ปัจจุบัน กลุ่มลูกค้าของบราเดอร์กว่า 60% เป็นกลุ่มลูกค้า SME และ กลุ่มคอร์ปอเรท กลุ่มเครื่องพิมพ์เลเซอร์ยังเป็นสินค้าแฟลกชิป
นอกจากไทยแล้ว ในส่วนของสปป.ลาว ซึ่งดูแลโดยบราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) มีการสร้างเฟสบุค และจัดกิจกรรมให้ผู้บริโภค รวมถึง Commercial รุกตลาดราชการและเอกชน ทำให้ปีงบประมาณ 2562 ตลาดสปป. ลาวเติบโตขึ้นมาก แต่สัดส่วนรายได้ประมาณ 5%
วรศักดิ์ ประดิษฐ์กุล ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริการลูกค้า บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงกลยุทธ์บริการหลังการขายว่า ในปัจจุบันบราเดอร์มีศูนย์บริการ 134 แห่ง ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยล่าสุดได้เปิดศูนย์บริการในประเทศลาวที่เวียงจันทน์ และจะเดินหน้าเปิดศูนย์บริการอีก 2 แห่ง ที่หลวงพระบางและสะหวันนะเขต
ปีที่ผ่านมาได้พัฒนา Omni-Channel เพิ่มช่องทางผ่านเฟซบุคและ Chat เสริมช่องทางพื้นฐานทางโทรศัพท์ โดย Chat ของบราเดอร์สามารถใช้เป็นช่องทาง Brother Live Chat เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า โดยช่องทางดังกล่าวยัง สามารถจัดส่งข้อมูลได้ทั้งรูปแบบภาพและวิดีโอได้ด้วยเพื่อเพิ่มมิติด้านการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ Web App ซึ่งบราเดอร์พัฒนาขึ้นมา โดยลูกค้าสามารถลงแอพ Brother Support Center เพื่อตรวจสอบสถานะการซ่อม ข้อมูลสินค้า คู่มือการใช้งาน และผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งข้อมูลศูนย์บริการบราเดอร์ทั่วประเทศได้ หากพบปัญหาสามารถ Chat กับบราเดอร์ เพื่อแจ้งปัญหาได้ทันที
“ในปีพ.ศ.2563 คาดว่าสัดส่วน Chatbot จะเพิ่มขึ้นเป็น 15% ขณะที่โทรศัพท์อยู่ที่ 85% แต่ในปีพ.ศ.2564 สัดส่วน Chatbot จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 30% ซึ่งในปีพ.ศ.2564 นี้ บราเดอร์จะให้บริการ Chatbot ได้ 24 ชั่วโมง” วรศักดิ์ กล่าว
จากการยอมรับของกลุ่มเป้าหมายต่อคุณภาพงานบริการหลังการขายของ บราเดอร์ ที่พร้อมทั้งด้านบุคลากรและระบบการบริการอันทันสมัย ทำให้บราเดอร์เห็นโอกาสและพัฒนาสู่บริการเสริมเพื่อเพิ่มความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า โดยในปีงบประมาณ 2563 บราเดอร์ เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถซื้อ การขยายระยะเวลารับประกัน และเพิ่มบริการพิเศษพร้อมตัวเครื่องได้ตามความต้องการ เพื่อความคุ้มค่าและสร้างความมั่นใจยิ่งขึ้น ทั้งรูปแบบนำเครื่องเข้าศูนย์บริการและการบริการซ่อมนอกสถานที่ พร้อมกันนี้ยังจัดทำ Zero Inventory เพื่อให้ดีลเลอร์ไม่ต้องสต็อกสินค้าอีกด้วย
เพื่อสร้างมาตรฐานการอบรมแก่พนักงานบราเดอร์ได้นำระบบ e-learning เข้ามาใช้ฝึกอบรมผ่าน Visual Classroom เพื่อความชัดเจนในการสื่อสาร สามารถใช้ผ่าน Smart Devicesเพื่อเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา
“บราเดอร์ ยังได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่ออุทิศองค์ความรู้ด้านเทคนิคบริการให้แก่นักศึกษาทั่วในแต่ละภาค อาทิ ภาคกลางที่ปราจีนบุรีและนครนายก ภาคเหนือที่สุโขทัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สุรินทร์ และภาคใต้ที่สุราษฎร์ธานี และในปีนี้จะขยายโครงการโดยใช้ศูนย์บริการในพื้นที่หลักๆ เช่น เชียงใหม่ หาดใหญ่ ขอนแก่น เปิดให้นักศึกษาเข้ามารับการอบรมความรู้ด้านเทคนิคที่ศูนย์บริการ รวมทั้งเพิ่มการอบรมหลักสูตร Mindset Development เพื่อพัฒนาทัศนคติคิดบวกสร้างความพร้อมก่อนออกสู่สังคมการทำงาน” วรศักดิ์ กล่าว
พรภัค อุไพศิลป์สถาพร ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแผนการปรับกลยุทธ์ด้านการพัฒนาองค์กรด้วยการสร้าง “บุคลากรคุณภาพ” รับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจยุคดิจิทัลว่า บริษัทฯ สร้างโปรเจ็กต์พัฒนาบุคลากรขององค์กร ตามกลยุทธ์ Talent transform ด้วยการพัฒนากลุ่มบุคลากรที่มีทัศนคติที่ดีและพร้อมจะเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่าและยินดีร่วมเป็นหนึ่งในการผลักดันองค์กรสู่การเติบโตที่ยั่งยืน และพร้อมจะนำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้มาแบ่งปันสู่เพื่อนร่วมงาน สร้างบุคลากรคุณภาพใบแบบ Multi Task Skill สร้าง Mindset ที่ดี คิดนอกกรอบ สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ เพิ่มความคล่องตัว เดินหน้าสู่การเติบโตอย่างเข้าใจไปด้วยกัน นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาด้านการฝึกอบรมด้วยระบบออนไลน์ ให้พนักงานสามารถเข้าคอร์สได้ทุกที่ทุกเวลา เพิ่มความยืดหยุ่นในการพัฒนาศักยภาพ
ด้านกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) บราเดอร์มุ่งไปที่การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (Local Community) โดยมีโครงการหลักคือ Brother Beat Cancer Run วิ่งด้วยกัน สู้ด้วยกัน ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 เพื่อนำรายได้ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยากไร้ ในมูลนิธิรามาธิบดี กองทุนมะเร็งโลหิตวิทยาผู้ใหญ่ โรงพยาบาลรามาธิบดี สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งได้ถึง 300 คน
ด้านกิจกรรมสิ่งแวดล้อม (Environment) มีโครงการหลักคือ โครงการ “บราเดอร์อาสาอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติป่าชายเลน” ณ ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลน จังหวัดสมุทรสาคร และ สมุทรสงคราม ซึ่งบริษัทฯ ได้จัดกิจกรรมต่อเนื่องมากว่า 11 ปี โดยบราเดอร์จะยังคงทำโครงการต่อไปอย่างต่อเนื่อง แต่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมบ้างและยังคงเป้าหมายไว้ดังเดิม
“นอกจากนี้ ยังวางแผนเพิ่มการจัดกิจกรรม CSR ในทุกไตรมาส โดยเน้นบริจาคผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือชุมชนหรือโครงการด้านการศึกษา ตลอดจนการส่งเสริมทักษะความรู้ด้านไอทีให้แก่นักเรียนนักศึกษาเพื่อเป็นการคืนกลับสู่สังคมด้วยเช่นกัน” พรภัค กล่าวทิ้งท้าย