กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอผลการทดสอบการคงประสิทธิภาพสารฆ่าเชื้อไวรัส-แบคทีเรียจากออร์แกนิคซิงค์ไอออน หลังฉีดพ่นลงบนพื้นผิวยาวนาน 24 ชั่วโมง ตัวช่วยเสริมความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย ลดภาระงานเจ้าหน้าที่ ลดต้นทุนการใช้สารฆ่าเชื้อสำหรับอาคารสถานที่ ตอบความต้องการยุควิกฤตโรคระบาด พร้อมจับมือบริษัท ยูนิซิล กรุ๊ป จำกัด ส่งมอบสารฆ่าเชื้อไวรัส-แบคทีเรียให้กับโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของคณะเวชศาสตร์เขตร้อนที่เข้ามามีบทบาทในงานวิจัยเรื่องนี้ คือในขณะที่ประเทศไทยมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อโรค COVID-19 มหาวิทยาลัยมหิดลได้สนับสนุนให้คณะเวชศาสตร์เขตร้อนหารือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อหาแนวทางในการรับมือกับโรค COVID-19 โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพและการแพทย์ กับ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563
ภายใต้การลงนามความร่วมมือในครั้งนั้น ทางคณะเวชศาสตร์เขตร้อน และ สวทช.ได้มีงานวิจัยที่ดำเนินการร่วมกันมาอีกหลายโครงการ โดยจุดแข็งของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน คือเป็นสถาบันทางการแพทย์ที่มีทีมวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวินิจฉัย การรักษา และป้องกันโรค มีห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านโรคเขตร้อน (Tropical Medicine Diagnostic Reference laboratory) หรือ TMDR ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการเครือข่ายที่ผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ สำหรับการตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARA-CoV-2) ด้วยวิธี Real time RT-PCR จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการตรวจวินิจฉัย ตรวจยืนยันตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วย ผู้สัมผัส และผู้มีประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ด้วยวิธีการ Real time RT-PCR ตั้งแต่มีการระบาดของโรค
ขณะที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. มีงานวิจัยหลายด้านที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อการฆ่าเชื้อ ซึ่งสามารถป้องกันการติดต่อของโรคติดเชื้อได้ โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง จนปัจจุบันขยายผลมาสู่การทดสอบประสิทธิภาพการออกฤทธิ์สารฆ่าเชื้อหลังฉีดพ่นลงบนพื้นผิว ซึ่งเป็นงานวิจัยที่สามารถพัฒนาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้ได้คือ สารฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่มีองค์ประกอบของออร์แกนิคซิงค์ไอออน
นอกจากนี้คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ยังมีงานวิจัยที่กำลังพัฒนาร่วมกับ ศูนย์นาโนเทค เช่น การพัฒนา Negative pressure helmet เป็นต้น จึงถือเป็นโอกาสดีที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน กับ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ จะร่วมมือกันผลิตผลงานวิจัย เพื่อพัฒนาต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวินิจฉัย รักษา และป้องกันโรคเขตร้อนอื่น ๆ ตลอดจนโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย (Neglected Tropical Diseases: NTDs) ในอนาคต
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมงานวิจัยด้านสุขภาพและการแพทย์นั้น สวทช. มีเป้าหมายสำคัญในการสนับสนุนและเร่งสร้างขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาที่ตอบความต้องการของประเทศด้านระบบสาธารณสุข ได้แก่ นวัตกรรมยา วัคซีน ยาชีววัตถุ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงการพัฒนาฐานกำลังบุคลากรและความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทางด้านการวิจัยทางคลินิกและการบริหารจัดการข้อมูลวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งทางด้านสาธารณสุขของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สวทช. ได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์สาธารณสุขของประเทศและ รวมถึงการได้รับทุนจากแหล่งทุนภายนอกร่วมกันกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
ในปีพ.ศ. 2563 ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศอย่างมาก การวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพและการแพทย์จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องผลักดันให้มีการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในด้านวิชาการ เศรษฐกิจและสังคม ในส่วนของนาโนเทค สวทช. มีการปรับแผนการทำงานเกิดเป็นโครงการเฉพาะกิจจากฐานความรู้และความเชี่ยวชาญของทีมวิจัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในสถานการณ์โรคระบาดเป็น 2 กลุ่มงาน ได้แก่ งานวิจัยและพัฒนาด้านการรับมือวิกฤต COVID-19 และงานด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังวิกฤต COVID-19 อาทิ ชุดตรวจหาเชื้อในกลุ่มโคโรนาไวรัสแบบรวดเร็วเพื่อการคัดกรองเบื้องต้น, แผ่นกรองและหน้ากากอนามัยสำหรับการป้องกันฝุ่น PM 2.5 แบคทีเรียและไวรัส, หมวกแรงดันลบ Negative Pressure Helmet เป็นต้น
ดร.วรรณีกล่าว
ในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ สวทช. ก็ได้เร่งผลักดันผลงานวิจัยด้านสุขภาพและการณ์แพทย์ให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ โดยจัดตั้งคณะกรรมการวิชาการและเทคนิคเพื่อรองรับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) และได้หยิบยกงานวิจัยการพัฒนาสารฆ่าเชื้อมีซิงค์ไอออนที่พัฒนาขึ้น ซึ่งมีสมบัติที่สามารถอยู่บนพื้นผิวได้ยาวนาน อีกทั้งยังสามารถป้องกันเชื้อต่าง ๆได้นานขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้ protocol การทำความสะอาดตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ต้องทำความสะอาดบ่อย ๆ คณะกรรมการฯ จึงได้เสนอให้นำสารฆ่าเชื้อมีซิงค์ไอออนมาทดสอบ ณ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพันธมิตรกับ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์การแพทย์ประยุกต์ ด้านเวชศาสตร์เขตร้อน ตลอดจนความเชี่ยวชาญในการทดสอบฤทธิ์ในการต้านเชื้อจุลชีพ ซึ่งเป็นที่มาของ โครงการทดสอบประสิทธิภาพการออกฤทธิ์สารฆ่าเชื้อออร์แกนิคซิงค์ไอออนหลังฉีดพ่นลงบนพื้นผิว ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ภาควิชาจุลชีววิทยาและอิมมิวโนโลยี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
จากโครงการวิจัย “การพัฒนากระบวนการผลิตซิงค์ไอออนสำหรับยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย” โดย ดร.วรายุทธ สะโจมแสง ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งเเวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน นาโนเทค ซึ่งเป็นโครงการย่อยภายใต้โครงการแผนบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. โดยใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความคงตัวให้กับซิงค์ไอออนและเพิ่มประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้อย่างรวดเร็ว และออกฤทธิ์ได้ยาวนาน ทำให้มีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาด ด้วยประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อไวรัสที่อยู่ระดับสูง โดยผลจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ* พบว่า สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ภายใน 1 นาที เทียบเท่าผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ ในราคาที่เข้าถึงได้ เทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาด ที่ประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อระดับกลาง ที่สำคัญคือ ไม่มีกลิ่น และไม่ติดไฟ รวมถึง ผ่านการทดสอบการระคายเคืองต่อผิวหนัง จากสถาบัน Aisa Dermscan โดยทดสอบกับอาสาสมัคร รวมถึงทดสอบด้าน Toxicology and Bio Evaluation Service Center (TBES) ศูนย์บริการทดสอบทางพิษวิทยาและชีววิทยา สวทช. พบว่า มีความปลอดภัยไม่ระคายเคือง
ผลทดสอบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อไวรัส เช่น H1N1, H5N1, Coronavirus e.g. SARS, MERS, Porcine epidemic diarrhea virus (PEDV) (Coronaviridae) และ SARS-CoV-2 (Covid-19) เป็นต้น ซึ่งบริษัท ยูนิซิล กรุ๊ป จำกัด เอกชนผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้ส่งไปทดสอบจากสถาบันที่เชื่อถือได้ เช่น Blutest Laboratory จากประเทศอังกฤษ
สำหรับความร่วมมือระหว่างนาโนเทค สวทช. และภาควิชาจุลชีววิทยาและอิมมิวโนโลยี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร.พรสวรรค์ เหลืองวุฒิวงษ์ หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยาและอิมมิวโนโลยี ในโครงการทดสอบประสิทธิภาพการออกฤทธิ์สารฆ่าเชื้อมีองค์ประกอบของออร์แกนิคซิงค์ไอออนหลังฉีดพ่นลงบนพื้นผิว เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีเกณฑ์วิธีทดสอบประสิทธิภาพสารฆ่าเชื้อหลังการพ่นใช้งานบนพื้นผิวว่ายังมีประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อได้ยาวนานเท่าไร และต้องพ่นซ้ำบนพื้นผิวความถี่แค่ไหนเพื่อให้สารฆ่าเชื้อยังคงมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยประจุบวกของออร์แกนิคซิงค์ไอออนที่ขนาดล็กระดับนาโนเมตรและมีความคงตัวสูงสามารถกระจายตัวในรูปฟิล์มเคลือบบนพื้นผิวและยังคงมีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อได้ยาวนาน
จากการทดสอบประสิทธิภาพการออกฤทธิ์สารฆ่าเชื้อที่มีองค์ประกอบของออร์แกนิคซิงค์ไอออน สามารถคงประสิทธิภาพฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ 100% หลังฉีดพ่นลงบนพื้นผิวนาน 24 ชั่วโมง โดยเชื้อแบคทีเรียที่ใช้ทดสอบ ได้แก่ Salmonella Choleraesuis, Staphylococcus aureus และ Pseudomonas aeruginosa และสามารถคงประสิทธิภาพการฆ่าไวรัส Porcine epidemic diarrhea virus (PEDV) ซึ่งเป็นไวรัสในตระกูล(Coronavirus) เช่นเดียวกับเชื้อ SARS-CoV-2 หลังฉีดพ่นลงบนพื้นผิวนาน 24 ชั่วโมง
ปัจจุบัน นาโนเทค สวทช. อยู่ระหว่างประสานงานกับโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลสนามในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อนำไปใช้พ่นฆ่าเชื้อในพื้นที่เสี่ยง โดยได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ยูนิซิล กรุ๊ป จำกัด ผู้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานวิจัยจาก นาโนเทค สวทช.เป็นอย่างดี