นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยี สวทช. พัฒนาระบบนำส่งสารสำคัญของน้ำมันเมล็ดงาม้อน ด้วยเทคโนโลยีระบบนำส่งอิมัลชันชนิดเกิดเองสู่สูตรตำรับอิมัลชันของน้ำมันเมล็ดงาม้อนขนาดอนุภาคเฉลี่ยราว 200 นาโนเมตร มีความเสถียรสูง กระจายตัวได้ดีในของเหลวในทางเดินอาหาร และถูกดูดซึมได้มากขึ้น จับมือเอกชนผสานความเชี่ยวชาญด้านการผลิตแคปซูลนิ่มสู่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพน้ำมันงาขี้ม้อนชนิดบรรจุแคปซูลนิ่ม รับเทรนด์รักสุขภาพ ชูความโดดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่งด้วยงานวิจัย ตั้งเป้ายอดขาย 1 ล้านยูนิตในปี 2566 พร้อมขยายตลาดประเทศลาวนำร่องสู่ CLMV
ดร.กิตติวุฒิ เกษมวงศ์ หัวหน้าทีมวิจัยกระบวนการระดับนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ความร่วมมือนี้เริ่มต้นมาจากงานวิจัยพัฒนาตำรับนาโนอิมัลชั่นของน้ำมันเมล็ดคามิเลีย โดยความร่วมมือกับศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน มูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งภายหลังได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. โดยนำเทคโนโลยีดังกล่าว มาต่อยอดประยุกต์ใช้กับน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อน
งาม้อนหรืองาขี้ม้อนเป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์ Lamiaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Perilla frutescens พบในหลายประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น เช่น ประเทศแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน เป็นต้น
น้ำมันเมล็ดงาม้อนอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายชนิด ได้แก่ กรดไลโนเลนิก (โอเมก้า 3) 55-60% กรดไลโนเลอิก (โอเมก้า 6) 18-22% และกรดโอเลอิก (โอเมก้า 9) 0.08-0.17% ซึ่งมีส่วนในการบำรุงระบบประสาทและสมอง ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนี้ ยังพบสารสำคัญในกลุ่มโพลีฟีนอลที่สำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะกรดโรสมารินิก (Rosmarinic Acid) และสารลูทีโอลิน (Luteolin) ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้
นำนาโนเทคโนโลยี เพิ่มชีวประสิทธิผล
ดร.กิตติวุฒิ กล่าวว่าทีมวิจัยนาโนเทคเริ่มจากพัฒนาระบบนำส่งสารสำคัญในรูปแบบของการเตรียมเป็นตำรับนาโนอิมัลชัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมและการละลายของสารสำคัญ จากเดิมที่สารละลายยากและการดูดซึมต่ำ โดยสารออกฤทธิ์และยาที่ละลายน้ำยากจะสามารถกระจายตัวและดูดซับได้ดีบนผนังลำไส้ และถูกดูดซึมผ่านกลไกของการย่อยและการดูดซึมของไขมันในร่างกาย ส่งผลให้มีชีวประสิทธิผลดีขึ้น
จากนั้นทีมวิจัยได้ขยายสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพน้ำมันงาขี้ม้อนในรูปแบบของแคปซูลนิ่มที่ผ่านการตั้งตำรับเป็นนาโนอิมัลชัน ก่อนการบรรจุแคปซูลจะส่งผลให้สารสำคัญต่างๆ ได้แก่ โอเมก้า 3 และวิตามินอี ในน้ำมันงาขี้ม้อน มีโอกาสดูดซึมเข้าสู่ระบบร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการนำน้ำมันงาขี้ม้อนบรรจุแคปซูลโดยตรง
จุดเด่นของเทคโนโลยีนี้คือ สูตรตำรับอิมัลชันของน้ำมันเมล็ดงาม้อนที่พัฒนาขึ้นมีความเสถียรสูง หยดน้ำมันมีขนาดอนุภาคเล็ก (ประมาณ 200 นาโนเมตร) ส่วนผลิตภัณฑ์อยู่ในรูปแบบของแคปซูลนิ่มพร้อมบริโภคนี้ มีประสิทธิภาพสูงในด้านการดูดซึมและการนำส่งสารสำคัญไปยังลำไส้เล็กของมนุษย์ ปัจจุบันงานวิจัยนี้ ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท เจอาร์ แลบโบราทอรี่ จำกัด เรียบร้อยแล้ว
“ในเชิงเทคโนโลยีนาโนเทคเองถือว่ามีความเชี่ยวชาญอย่างมาก แต่การจะนำนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์จริงต้องการพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาด เพื่อที่จะสื่อสารและนำนวัตกรรมนี้ไปถึงมือผู้ใช้” ดร.กิตติวุฒิ กล่าว
ชูวทน. ช่วยสร้างความแตกต่างให้ผลิตภัณฑ์
ภัสธารีย์ เรืองชัยพัฒนะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจอาร์ แลบโบราทอรี่ จำกัด กล่าวว่าเดิมทีบริษัทฯ ทำธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอยู่แล้ว และมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตแคปซูลนิ่ม(Softgel) จึงต้องการที่จะสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับธุรกิจ โดยสร้างแบรนด์ของตนเองด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมเป็นสินค้านำร่องและได้รับการแนะนำให้รู้จักกับนาโนเทค สวทช. ซึ่งมีนวัตกรรมต้นแบบเป็นน้ำมันเมล็ดงาม้อนในรูปแบบของแคปซูลนิ่ม จึงติดต่อพูดคุยและรับถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ในที่สุด
“งานวิจัยนี้ ตอบโจทย์ความเชี่ยวชาญของบริษัทเราคือการผลิตแคปซูลนิ่ม ในขณะเดียวกัน ก็มองแนวโน้มของตลาดผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องน้ำมันเมล็ดงาม้อนในรูปแบบแคปซูลนิ่ม ภายใต้แบรนด์ PEREAL จึงเกิดขึ้นโดยวางกลุ่มเป้าหมายเป็นคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ ที่ต้องการการบำรุงสุขภาพ ทั้งนี้ บริษัทฯได้เปิดตลาดในช่วงปลายปี 2564 ซึ่งประสบวิกฤตCOVID-19 ทำให้ต้องเปลี่ยนการตลาดเป็นแบบออนไลน์ 100% โดยมุ่งเน้นใช้สื่อโฆษณาในโซเชียลมีเดียต่างๆ พร้อมกับอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อเน้นให้ความรู้ (Educate) ถึงคุณประโยชน์ของน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนกับกลุ่มเป้าหมายก่อนเป็นอันดับแรกจากวิกฤต COVID-19 ที่อาจจะส่งผลให้การทำตลาดชะงักในช่วงแรก แต่ก็ถือว่าได่มีส่วนกระตุ้นกระแสรักสุขภาพให้ผู้บริโภคไม่น้อย” ภัสธารีย์ กล่าว
ในขณะเดียวกัน ตลาดเริ่มเปิดรับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจากการวิจัยและพัฒนาของคนไทย เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลง และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น
“เรามีคู่แข่งในผลิตภัณฑ์เดียวกันอยู่แม้ไม่มากนักทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างคือ เรามีนวัตกรรมที่มีข้อมูลการวิจัย พัฒนา และทดสอบทางวิทยาศาสตร์มารองรับ ทำให้ในช่วงปีแรกของการสร้างแบรนด์ จะมุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้ สร้างแบรนด์และการรับรู้ของแบรนด์ก่อน จากนั้น ในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้ก็จะเริ่มทำการตลาดให้มากขึ้น ทั้งออนไลน์ที่ทำอยู่แล้ว และการออกบูทเพื่อให้ผู้บริโภคได้มีประสบการณ์จริงกับผลิตภัณฑ์ ได้ซักถามข้อที่สงสัยหรือสนใจ ในช่วงปลายปี 2565 นี้ มีแผนขยายสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV นำร่องที่ลาว ผ่านงานแสดงสินค้า” ภัสธารีย์ กล่าว
สำหรับเป้าหมายในระยะสั้นที่บริษัทฯ วางไว้คือ เป้ายอดขาย 1 ล้านยูนิตในปี 2566 ซึ่งภายใน 3-5ปี จะทำให้ยอดขายและแบรนด์เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยขับเคลื่อน ผ่านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
“เป้าหมายของบริษัทฯ คือ การเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งที่หากคนคิดถึงน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนจะนึกถึงเรา และในขณะเดียวกัน ความเชี่ยวชาญด้านการผลิตแคปซูลนิ่ม (Softgel) ก็จะต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป” ภัสธารีย์ กล่าวทิ้งท้าย