นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ วิเคราะห์ผลกระทบของแผ่นดินไหวเชียงรายต่อโครงสร้างอาคารในภาคเหนือ -กรุงเทพฯ


จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.4 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ที่ระดับความลึกประมาณ 9 กิโลเมตร ในประเทศเมียนมา ห่างจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งจุดที่เกิดแผ่นดินไหว มีแนวรอยเลื่อนเชียงตุงพาดผ่าน

แผ่นดินไหวดังกล่าวจัดว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง และเป็นแผ่นดินไหวในระดับตื้น จึงส่งผลกระทบต่อพื้นที่จังหวัดภาคเหนือโดยตรงเนื่องจากอยู่ใกล้กับจุดที่เกิดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย อธิบายถึงผลกระทบต่อโครงสร้างอาคาร โดยแบ่งเป็น 1. พื้นที่ในภาคเหนือ และ 2. กรุงเทพมหานคร   สำหรับจังหวัดในภาคเหนือ เนื่องจากระยะทางจากจุดที่เกิดแผ่นดินไหว ถึงจังหวัดเชียงราย ประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าห่างกันพอสมควร แต่ก็ทำให้อาคารเกิดการสั่นไหว และเกิดการแตกร้าวหรือการหลุดร่อนของผนังปูนฉาบในอาคารบางหลังได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแผ่นดินไหวดังกล่าวยังไม่รุนแรงพอที่จะทำให้อาคารถล่มลงมาทั้งหลังได้ ทั้งนี้อาคารในพื้นที่ภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบ จะเป็นกลุ่มอาคารเตี้ยถึงสูงปานกลาง เนื่องจากเป็นอาคารที่มีความถี่สูง และจากสภาพพื้นที่เป็นชั้นดินทรายหรือดินแข็ง จึงกระตุ้นให้อาคารกลุ่มนี้สั่นไหวได้มากกว่าอาคารสูงในบริเวณเดียวกัน

ในส่วนของกรุงเทพฯ  แม้ว่า กรุงเทพฯ จะอยู่ห่างไกลจากจุดเกิดเหตุถึง 900-1,000 กิโลเมตร แต่อาคารหลายแห่งก็สั่นสะเทือนได้เช่นกัน เนื่องจากสภาพชั้นดินของกรุงเทพฯ ที่เป็นดินอ่อน จึงสามารถขยายความรุนแรงของคลื่นแผ่นดินไหวที่มาจากระยะไกลได้ และส่งผลกระทบต่ออาคารสูง ตั้งแต่ 5-6 ชั้นเรื่อยไปจนถึงอาคารสูงหลายสิบชั้น

“อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะทางที่ห่างไกลหลายร้อยกิโลเมตรจะไม่ส่งผลกระทบให้โครงสร้างหลักของอาคารในกรุงเทพฯ ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ประชาชนสบายใจ”  ศ.ดร.อมร กล่าว

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารต้านแผ่นดินไหว ปี 2564 ซึ่งกำหนดให้อาคารต้องออกแบบต้านแรงแผ่นดินไหวได้ โดยครอบคลุมจังหวัดในภาคเหนือ และ พื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 43 จังหวัดทั่วประเทศ

สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ ประชาชนยังไม่ต้องตื่นตระหนก แต่ก็ควรเตรียมความพร้อมรับมือสำหรับแผ่นดินไหวในอนาคตที่อาจจะมีขนาดใหญ่กว่านี้ หรือเกิดขึ้นใกล้กว่านี้ได้ และไม่ว่าจะเกิดจากรอยเลื่อนในประเทศหรือนอกประเทศก็ตาม

“โดยมาตรการในการรับมือแผ่นดินไหวที่ดีที่สุดคือ การทำให้โครงสร้างอาคารแข็งแรง เนื่องจากแผ่นดินไหวยังไม่สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ โดยการออกแบบและก่อสร้างอาคารใหม่ให้ต้านแผ่นดินไหว และเสริมกำลังอาคารเก่าให้รองรับแผ่นดินไหวในอนาคตได้” ศ.ดร.อมร กล่าวสรุปทิ้งท้าย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save