กรุงเทพฯ – 4 ตุลาคม 2562 : ดิ อิโคโนมิสต์ อีเว้นส์ จัดงานปฏิบัติการนวัตกรรมเพื่อสังคม 2562 (Social Innovation in Action 2019) ระดมกลุ่มผู้นำจากทั่วภูมิภาคเข้าร่วมงาน 130 คน เพื่อหารือแบบเจาะลึกและหาแนวทางเกี่ยวกับอนาคตของนวัตกรรมเพื่อสังคมในเอเชีย ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ
การประชุมสุดยอดผู้นำในครั้งนี้มีการหารือว่า เอเชียสามารถเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลมาแก้ปัญหาความท้าทายทางสังคมที่มีมาอย่างยาวนานได้หรือไม่ โดยมี ไซมอน ค็อกซ์ บรรณาธิการด้านตลาดเกิดใหม่ของ ดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) และชาลส์ รอส บรรณาธิการบริหาร ผู้นำทางความคิดด้านเอเชีย ของ ดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต เป็นผู้ดำเนินรายการ
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อํานวยการสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงวิธีการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อสังคมว่า รัฐบาลไทยกำลังมองหาวิธีการในการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมอย่างเร่งด่วน เพราะในขณะนี้นักลงทุนใจดี (Angle Investor) นักลงทุนเพื่อสังคมในประเทศไทยมีความกระตือรือร้นในการลงทุนโครงการเกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อสังคม
อลิสัน เอสเคอเซน รองประธานฝ่ายเอเชียแปซิฟิก ศูนย์มาสเตอร์การ์ดเพื่อการเติบโตอย่างทั่วถึง กล่าวถึงความท้าทายด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมว่า การสร้างเศรษฐกิจดิจิทิลจำเป็นต้องทำงานร่วมกับทุกๆ คน ในทุกๆ ที่ แต่ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมเป็นความท้าทายหนึ่งที่ต้องเผชิญ
ปิแอร์ เลอกรองด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส กล่าวว่า 9 ใน 10 ของความท้าทายในการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่นส์ และความรับผิดชอบทางสังคม คือ ผู้นำ ด้านลาเล่ เคซีบี ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฮิวแมนแอทเวิร์ก กล่าวว่า องค์กรขนาดใหญ่เป็นผู้ขับเคลื่อน ดังนั้นแล้ว ไม่ว่าองค์กรเหล่านั้นจะต้องการหรือไม่ต้องการ องค์กรเหล่านั้นไม่มีทางหลีกเลี่ยงในกิจกรรมด้านสังคม
ในช่วงบ่าย มีการหารือถึงนวัตกรรมทางสังคมจะช่วยลดผลกระทบจากเทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผันอย่างไร เพื่อประสานความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ใช้และไม่ใช้ดิจิทัลในหมู่แรงงาน
สำหรับการอภิปรายในครั้งนี้ บรรณาธิการของ ดิ อีโคโนมิสต์ ได้รวบรวมคำถามจากผู้ฟัง และสรุปหัวข้อสำคัญในการประชุม ได้แก่ สิ่งที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้นวัตกรรมเพื่อสังคมช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ, นวัตกรรมทางสังคมเปลี่ยนแปลงธุรกิจดั้งเดิมอย่างไร, ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ผู้ประกอบการเพื่อสังคม ภาครัฐ และประชาสังคม จะบรรลุผลสำเร็จได้อย่างไร, ใครบ้างที่จำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อทำให้ความคิดริเริ่มเหล่านี้ประสบผลสำเร็จทั้งทางสังคมและการเงิน, ภาคนวัตกรรมเพื่อสังคมสามารถทำได้หรือไม่ ที่จะขจัดคำพูดสวยหรูและการตกแต่งบัญชีของบริษัท เพื่อการดำเนินการที่มุ่งมั่น อุทิศให้แก่มาตรวัดทางการเงินที่มีความหมาย ถ้าหากว่าทำได้ จะใช้วิธีการอย่างไร และนวัตกรรมเพื่อสังคมจะมีโฉมหน้าอย่างไรเมื่อถึงปีพ.ศ. 2573