กรุงเทพฯ – 12 พฤศจิกายน 2562 : เมืองนวัตกรรมอาหาร หรือฟู้ดอินโนโพลิส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงานประชุมนานาชาติ Food Innopolis International Symposium 2019 เป็นครั้ง 2 ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 9-14 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก ภายใต้แนวคิด “FROM TRADITION TO INNOVATION – The Art & Science of Food” เพื่อตอกย้ำความสำคัญของนวัตกรรมอาหารและกระบวนการเกษตรอุตสาหกรรม และกระบวนการการผลิตอาหารที่ยั่งยืน
โดยปีนี้มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญกว่า 30 ท่าน จากประเทศไทยและจากทั่วโลก เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและถ่ายทอดประสบการณ์ ซึ่งมุ่งเน้นถึงความสำคัญของอาหารใน 2 ประเด็นใหญ่ คือ ด้านนวัตกรรมการผลิตที่มีคุณภาพ และด้านความยั่งยืนของอาหาร โดยมีหัวข้อเสวนาที่กำลังเป็นที่สนใจจากคนทั่วโลก อาทิ การคาดการณ์เกี่ยวกับอาหารในอนาคต (Food Foresight)
เทคโนโลยีการแปรรูปอาหารขั้นสูง (Advanced Food Processing Technology) อาหารโปรตีนสำหรับอนาคต (The Future Protein) เศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร (The Circular Economy of Food) ความเชื่อมโยงระหว่างอาหาร สุขภาพ และการแพทย์ (The Crossing of Health, Food & Medicine) เพื่อเตรียมการสู่อนาคตและสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ปัจจุบันประชากรโลกกว่า 821 ล้านคน จากทั้งหมด 7,700 ล้านคน กำลังเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนอาหารทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ มีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2050 จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 9,000 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 11,900 ล้านคนในปี ค.ศ. 2100 จึงมีความกังวลเกี่ยวกับการผลิตอาหารให้สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ รวมทั้งต้องคำนึงถึงการจำกัดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กำกับดูแลและบริหารงานเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารหรือธุรกิจอาหารในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) อยู่ที่ร้อยละ 8.4 และมีสัดส่วนแรงงานสูงถึง 40 ล้านคน จากจำนวนประชากรในประเทศไทย 69 ล้านคน ดังนั้นนวัตกรรมที่เข้ามาและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจึงมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับทุกวงการ อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ตั้งแต่พฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนยุคใหม่ที่ต้องการอาหารสะอาด สะดวก และรวดเร็ว จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีนที่มีคุณภาพ ภายใต้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง
“อาหาร จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องมาหารือและร่วมกันเพื่อมองหาทางออกที่ดีที่สุด ถือเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่จะต้องปรับตัวเพื่อเตรียมรองรับโลกในอนาคต” ผศ.ดร.อัครวิทย์ กล่าว
ด้าน วรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ผู้ร่วมจัดงานกล่าวว่า TMA ในฐานะที่ผลักดันเรื่องการยกระดับขีดความสามารถของประเทศมาตลอดระยะเวลา 12 ปี ตระหนักดีว่าอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ (Strategic Sector) สำคัญของประเทศไทย เพราะประเทศเราเป็นประเทศที่มีพื้นฐานอยู่บนเกษตรอุตสาหกรรมและยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมทางด้านอาหารที่มีความเป็นมายาวนานและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก จึงได้ร่วมริเริ่มจัดการสัมมนาระดับนานาชาติ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยและต่างประเทศด้านนวัตกรรมอาหาร ทั้งด้านเทคนิคและการบริหารจัดการเข้ามานำเสนอมุมมองและกระบวนการ
“ในงานนี้ มีผู้เข้าร่วมงานทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ จากอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำการประสานนโยบายเข้ากับการขับเคลื่อนธุรกิจ ด้วยองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม” วรรณวีรา กล่าว
ด้าน มร.แบรดลี่ย์ คริท ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย Future 50 Research, Institute for the Future (IFTF), U.S.A ได้คาดการณ์อนาคตของอาหารว่า สิ่งที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารในอนาคตมี 2 ประเด็นใหญ่ ๆ ประเด็นแรก คือ การนำอาหารเข้าสู่ระบบดิจิทัล จะก่อให้เกิดสงครามทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีผลต่อการส่งเสริมการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงลักษณะของนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นต่อไป และประเด็นที่สอง คือ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศกำลังเพิ่มแรงกดดันต่อแรงงานภาคเกษตรและการเพาะปลูกพืชแบบดั้งเดิม รวมถึงสร้างความเสี่ยงมหาศาลพร้อมแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบกับอีกหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความอดอยาก สงคราม และสภาพการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาต่าง ๆ ทั้งหมดนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในกรรมวิธีการผลิต การบรรจุหีบห่อ และการจำหน่ายอาหาร รวมทั้งจำเป็นต้องมีกระบวนการแนวใหม่ในการสร้างนวัตกรรม
ในส่วนของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยืน ภายใต้แนวคิดขององค์การสหประชาชาติ (UN SDG’s) หนึ่งใน17 เป้าหมายเป็นเรื่องของการขจัดความหิวโหย ซึ่งพันธมิตรหลากหลายภาคส่วนจากนานาประเทศก็ได้ร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางปฏิรูปด้านความมั่นคงทางอาหารของประชาคมโลก ในเรื่องนี้ มร.มาร์ค บัคลี่ย์ ที่ปรึกษาโครงการ เป้าหมายพัฒนาอย่างยั่งยืน องค์การสหประชาชาติ และนักอนาคตวิทยาด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ องค์การสหประชาชาติ สมาชิก Expert Network for the World Economic Forum และผู้ก่อตั้งALOHAS Resilience Foundation, Germany มองว่าอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อเลี้ยงประชากรโลก จำเป็นจะต้องปฏิวัติระบบการผลิตใหม่ทั้งกระบวนการ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหานี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เร็วกว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การจะพลิกสถานการณ์ได้ไม่ใช่เรื่องการจะเลือกผลิตอะไรหรือเลือกบริโภคอะไร หากแต่ขึ้นอยู่กับว่า เราจะผลิตอาหารอย่างไร ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดบนโลกใบนี้
“การร่วมมือกันปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารในลักษณะพลิกกระบวนการโดยทุกประเทศทั่วโลก จะเป็นสิ่งที่หยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงและฟื้นสภาพภูมิอากาศให้เข้าสู่ภาวะที่เคยเป็น และจะช่วยแก้ปัญหาความทุกข์ทนจากความอดอยาก ปัญหาด้านสุขภาพ วิกฤติสภาพอากาศ และประเด็นความท้าทายอื่น ๆ ที่โลกต้องเผชิญ” มร.มาร์ค บัคลี่ย์ กล่าว