สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (ศบท.) เปิดตัว “3 นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ผลไม้สด ส่งเสริมการขายออนไลน์” ได้แก่ นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ “กล่องเก็บกลิ่นทุเรียน ล็อกกลิ่นได้ 100%”, บรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่ายมะม่วงออนไลน์ และบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะบ่งชี้ความปลอดภัยปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไย เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตร ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคปัจจุบันและเสริมแกร่งผู้ประกอบการไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ในแต่ละปีผลไม้ของประเทศไทยจะออกสู่ตลาดจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มะม่วง ลำใย มังคุด ลองกอง และอื่น ๆ ทำให้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมในการบรรจุผลไม้ต่าง ๆ เหล่านี้ไม่เพียงพอหรืออาจจะไม่ตอบโจทย์การใช้บรรจุผลไม้สำหรับส่งขายออนไลน์ทางไกล เนื่องจากบรรจุภัณฑ์มีขนาดใหญ่เกินไปและประสิทธิภาพของกล่องบรรจุภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานอาจจะชำรุด แตก ขาด ฉีกง่าย เป็นต้น
ดังนั้นวว. โดย ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (ศบท.) จึงได้คิดค้นนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุผลไม้เพื่อการจำหน่ายทั้งในรูปแบบบรรจุใส่หน้าร้านและบรรจุขายสำหรับออนไลน์ เพื่อเก็บรักษาผลไม้ให้น่ารับประทาน สร้างมูลค่าเพิ่ม ตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้สามารถวิจัยและพัฒนา 3 นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ผลไม้สดสำเร็จ ได้แก่ 1. นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ “กล่องเก็บกลิ่นทุเรียน ล็อกกลิ่นได้ 100%” ซึ่ง วว. ได้ร่วมกับ บริษัท เซฟเฟอร์ แพค (ประเทศไทย) จำกัด วิจัยและพัฒนากล่องเก็บกลิ่นทุเรียนกว่า 2 ปี ภายใต้ โครงการ “STIM (Science Technology and Innovation Matching Program) เพื่อเอสเอ็มอี” (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561) โดยเลือกใช้บรรจุภัณฑ์เทอร์โมฟอร์ม บรรจุทุเรียนสดตัดแต่ง ด้วยมีประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาจากกลิ่นทุเรียนเมื่อต้องเก็บทุเรียนรวมกับอาหารชนิดอื่นในตู้เย็น, เมื่อต้องเดินทางด้วยรถประจำทาง เดินทางด้วยเครื่องบิน และเดินทางด้วยเรือที่แออัดด้วยคนหมู่มากที่มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบทุเรียน กลิ่นทุเรียนอาจจะทำให้ก่อปัญหาได้ แต่เมื่อเลือกใช้บรรจุภัณฑ์เทอร์โมฟอร์มปัญหากลิ่นทุเรียนกวนใจจะหมดไปเพราะมีการออกแบบกล่องเป็นแบบขอบล็อกพิเศษช่วยป้องกันการผ่านเข้าออกของก๊าซและไอน้ำได้ สามารถกักเก็บกลิ่นไม่พึงประสงค์ไม่ให้ออกสู่ภายนอกได้ และยังสามารถป้องกันความชื้นจากสภาพแวดล้อมภายนอกไม่ให้เข้าสู่ภายในได้ 100% ขณะนี้การขายทุเรียนบรรจุกล่องเก็บกลิ่นทุเรียนนี้ผ่านช่องทางออนไลน์ได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มจำนวนมากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทเซฟเฟอร์แพคฯ ได้นำแบบโครงสร้างที่พัฒนาขึ้นจากโครงการดังกล่าวไปผลิตเพื่อวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์โดยใช้แผ่นพลาสติก PET ชนิดป้องกันการเกิดฝ้า เพื่อให้มีคุณลักษณะที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดมากขึ้น ได้ผลลัพธ์เป็นกล่องเก็บกลิ่นทุเรียน Ozone Box ภายใต้แบรนด์ SAFER PAC และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าทั้งผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกทุเรียนภายในประเทศ ทั้งแบบวางจำหน่ายที่ร้านและแบบบริการส่งถึงบ้าน และผู้ส่งออกทุเรียนช่วยเพิ่มมูลค่าของกล่องเก็บกลิ่นทุเรียนดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
สำหรับการต่อยอดงานวิจัยกล่องเก็บกลิ่นทุเรียนนี้ ได้มีการพัฒนาให้กล่องดังกล่าวสามารถที่จะเก็บอาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น ส้มตำ ปลาร้าทอด สะตอ หน่อไม้ดอง อาหารหมักดองต่าง ๆ และพืชผักผลไม้ที่มีกลิ่นแรงชนิดอื่น ๆ ซึ่งสามารถเก็บกลิ่นได้เป็นอย่างดี
2. บรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่ายมะม่วงออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการส่งสินค้าที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายสู่ตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่เกือบ 100% ส่งออกไม่ได้ ต้องมองหาตลาดในประเทศเพื่อระบายสินค้าที่มีอยู่ให้ได้รับผลกระทบเสียหายน้อยที่สุด โดยเฉพาะมะม่วงที่ในช่วงต้นปี ออกสู่ตลาดจำนวนมากกว่า 20,000 ตัน การเลือกตลาดออนไลน์ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสมในการช่วยระบายมะม่วงให้ถึงมือผู้บริโภคมากขึ้นและเมื่อมีออเดอร์ทางออนไลน์เข้ามาเพิ่มขึ้น จะต้องมีการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน มีความแข็งแรง สามารถรองรับน้ำหนักผลผลิตตามที่ลูกค้าต้องการ และผู้ให้บริการขนส่งยินดีและยอมรับในบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวด้วย วว.จึงได้นำร่องออกแบบโครงสร้างกล่องบรรจุมะม่วงและต่อยอดเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับมังคุดและลองกองตามลำดับ โดยคุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวมีความแข็งแรง, สามารถรองรับน้ำหนักผลผลิตได้ 5 กิโลกรัมต่อกล่อง, รับน้ำหนักการเรียงซ้อนได้ถึง 14 ชั้น เพื่อช่วยป้องกันความเสียหายและรักษาคุณภาพของผลิตผล หากกล่องเกิดการยุบตัวในระหว่างการขนส่งและเก็บรักษา จะทำให้เกิดความเสียหายได้, มีการเจาะช่องระบายอากาศอย่างเหมาะสม เพียงพอต่อการหายใจและคายน้ำของผลมะม่วงเพื่อช่วยลดการสะสมความร้อนและความชื้นภายในกล่องและช่วยให้ยืดอายุการเก็บได้
นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์ยังผลิตจากกระดาษลูกฟูก 5 ชั้น ที่มีการดูดซึมน้ำต่ำ ทำให้รักษาความแข็งแรงของกล่องไว้ได้อย่างเหมาะสม แม้ว่าจะเก็บในห้องเย็นที่มีความชื้นสูง อีกทั้งขนาดของกล่อง 50×30 เซนติเมตร เป็นขนาดบรรจุที่เหมาะสม ช่วยประหยัดพื้นที่ ทั้งเพื่อเก็บรักษา สอดคล้องกับระบบลำเลียงขนส่งและขนถ่าย ส่วนกราฟิกของกล่องออกแบบพิมพ์สีเดียวเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต แต่ให้ข้อมูลรายละเอียดที่จำเป็นของสินค้า เช่น ชื่อสินค้า น้ำหนักบรรจุ เกรดและแหล่งผลิตหรือที่มา เป็นต้น
ที่สำคัญได้ออกแบบให้ใช้กล่องที่มีขนาดมาตรฐานเพียงขนาดเดียว เพื่อให้สามารถบรรจุมะม่วงทุกเกรดที่มีขนาดผลแตกต่างกันได้ เพียงแต่ใช้แผ่นกั้น เพื่อลดการเคลื่อนที่ของผลมะม่วงภายหลังการบรรจุ สำหรับการออกแบบกล่องมังคุดและกล่องลองกองนั้นจะใช้หลังการเดียวกับกล่องมะม่วง แต่ขนาดและพื้นที่ภายในจะปรับเล็กลงและใหญ่ขึ้นตามขนาดชนิดของผลไม้ทั้งสอง เช่น กล่องขนาด 50×40 เซนเติเมตร. 50×70 เซนติเมตร เป็นต้น ส่วนน้ำหนักในการบรรจุนั้นจะปรับให้เหมาะสมระหว่าง 5-10 กิโลกรัมต่อกล่องในอนาคต
3. บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะบ่งชี้ความปลอดภัยปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไย จากปัญหาลำไยสดที่ผ่านการรมด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในปริมาณสูงเกินความจำเป็น และการละเลยขั้นตอนการลดหรือกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ส่วนเกิน ส่งผลให้มีสารดังกล่าวตกค้างบนผลลำไยสูงเกินค่ามาตรฐาน ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง ปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในผลลำไยสดที่จะส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน เล่มที่ 119 ตอนพิเศษ105 ง กำหนดปริมาณสูงสุดของสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในลำไยทั้งผลควรมีไม่เกิน 350 ppm และตกค้างที่เนื้อลำไยควรมีไม่เกิน 30 ppm ค่าการบริโภคในแต่ละวันที่ได้รับ (Acceptable Daily Intake : ADI) ของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน และพบว่าพิษของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ปริมาณ 8 ppm จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองของระบบหายใจ, ที่ปริมาณ 20 ppm จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา ถ้ารับประทานเข้าไปไม่มาก ร่างกายจะขับออกทางปัสสาวะได้ แต่ถ้ามากเกินไปจะมีผลไปลดประสิทธิภาพการใช้โปรตีนและไขมันในร่างกายของคนและมีฤทธิ์ทำลายวิตามิน B1 ด้วย อีกทั้งเมื่อส่งไปถึงประเทศผู้ซื้อปลายทางและมีการตรวจพบจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของคุณภาพลำไยรวมถึงผลผลิตเกษตรชนิดอื่นจากประเทศไทย
จากปัญหาดังกล่าว วว. จึงได้มีแนวคิดพัฒนาบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะบ่งชี้ความปลอดภัยปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไย เพื่อตรวจสอบปริมาณสารตกค้างที่ผิวผลลำไย โดยพัฒนาเป็นฉลากเปลี่ยนสีเมื่อทำปฏิกิริยากับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพียงแค่นำแผ่นฉลากไปวางที่ผลลำไย หากมีปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทต่ำ ฉลากจะยังคงสีน้ำตาลเข้ม แต่ถ้ามีปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์มากสีของฉลากจะค่อย ๆ จางลงจนไม่มีสี แสดงว่ามีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินมาตรฐานกำหนด ใช้ทดสอบลำไยได้ทุกสวนของเกษตรกรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคก่อนนำจำหน่ายในท้องตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการต่อยอดประยุกต์ในอนาคตจะนำไปใช้กับลิ้นจี่ เพื่อจะช่วยให้ผลไม้ของไทยไม่ถูกกีดกันทางการค้าเรื่องสารตกค้างต่อไป
ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (ศบท.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ศูนย์บรรจุหีบห่อไทย ยินดีที่จะให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการที่ต้องการทราบรายละเอียดของกล่องบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมที่จะนำไปใช้บรรจุสินค้าต่าง ๆ ตามมาตรฐานการจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการบรรจุและใช้งานในแต่ละประเภท สำหรับกล่องที่พัฒนาขึ้นส่วนใหญ่แล้วผู้ประกอบการต้องการการใช้งานที่สะดวก แข็งแรง เปิดง่าย ปิดสนิท เปิดและปิดซ้ำได้ สามารถตกแต่งลวดลายเพื่อบ่งชี้ว่าในกล่องเป็นผลไม้อะไร เช่น กล่องเก็บกลิ่นทุเรียน จะมีรูปทุเรียน มีช่องใสเป็นพิเศษให้เห็นความสวยงามของพูทุเรียนในการแสดงสินค้าขณะวางจำหน่าย และสามารถนำกล่องกลับมาใช้ใหม่ได้ประมาณ 2 ครั้ง แต่ต้องทำความสะอาดก่อนเสมอ สำหรับกล่องบรรจุมะม่วง มังคุด ลำไยนั้น จะมีการใช้กล่องลูกฟูกที่มีความแข็งแรง ส่วนใหญ่จะใช้ครั้งเดียวเหมือนการส่งสินค้าทั่วไป โดยการออกแบบนอกจากจะดูเรื่องความเหมาะสม ความแข็งแรงในการบรรจุลำเลียงส่งแล้วจะต้องมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิตกล่องทุกรูปแบบเป็นสำคัญ