กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาวิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) และ Guy’s and St Thomas’ NHS Foundation Trust (GSTT) จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ “การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุศาสตร์ (Genetic Counselor) สำหรับการแพทย์แบบจีโนมิกส์ (Medical Genomics) และการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicines)” เพื่อร่วมหารือและร่วมมือแบ่งปันองค์ความรู้ เทคโนโลยี ประสบการณ์ ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ และให้การสนับสนุนงานวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสุขภาพ ในวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์
โดยได้รับเกียรติจาก ลอเรนซ์ ทอลลอน รองผู้อำนวยการ GSTT และ ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ และได้รับเกียรติจาก อเล็กซานดรา แมคเคนซี อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน
อเล็กซานดรา แมคเคนซี อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ทางสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ได้ประสานสัมพันธไมตรี เชื่อมโยงระหว่าง TCELS กับ GSTT จนทำให้เกิดความร่วมมือ การลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ เพื่อฝึกอบรมผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุศาสตร์สำหรับประเทศไทย โครงการนี้ให้คุณประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบนิเวศของจีโนมิกส์ และการให้บริการที่มีคุณภาพสูงแก่คนไทยในอนาคต ซึ่ง TCELS เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เป็นพันธมิตรที่สำคัญของอังกฤษ ในด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยก่อนหน้านี้ ได้มีความร่วมมือในงานด้านการวิจัยทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กล่าวว่า TCELS ให้การสนับสนุน การสร้างองค์ความรู้ ส่งเสริมงานวิจัย พัฒนาต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์ บริการ และนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสู่เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ข้อ 2 ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการสร้างศักยภาพด้านการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision Medicine) ที่ครอบคลุมการแพทย์แบบจีโนมิกส์ (Genomic Medicine) ซึ่งเป็นการนำข้อมูลด้านพันธุกรรม สภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตที่จำเพาะต่อผู้ป่วยแต่ละคน มาใช้ในการวินิจฉัย โดยเลือกการรักษาที่ตรงจุด และเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำการแพทย์แบบจีโนมิกส์มาประยุกต์ใช้สำหรับการวินิจฉัย ป้องกัน รักษาโรคมะเร็ง โรคหายาก โรคติดเชื้อ และเภสัชพันธุศาสตร์ในการป้องกันการแพ้ยา โดยเลือกใช้ยาที่เหมาะสม
“การแพทย์แบบจีโนมิกส์ ต้องอาศัยองค์ความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เช่น ชีววิทยาพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล ไปจนถึงด้านคลินิก เช่น แพทย์ พยาบาล และผู้ให้คำปรึกษา นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลอีกจำนวนมหาศาล หรือ Big Data ที่ได้จากการถอดรหัสพันธุกรรม จึงจำเป็นต้องอาศัยนักชีวสารสนเทศ และนักระบาดวิทยาพันธุศาสตร์ เพื่อจัดเก็บ วิเคราะห์ และประมวลผล ซึ่งในประเทศไทยยังมีบุคลากรไม่เพียงต่อการทำงาน โดยเฉพาะผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุศาสตร์ (Genetic Counselor) ที่ประเทศไทยยังไม่มีวิชาชีพนี้ และยังไม่มีหลักสูตรการสอนอย่างเป็นทางการ” ผู้อำนวยการ TCELS กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศอังกฤษ เป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพ โดยเฉพาะด้านการแพทย์แบบจีโนมิกส์ โดยจัดทำหลักสูตรวิชาชีพและการฝึกอบรมด้านการให้คำปรึกษาด้านพันธุศาสตร์ พร้อมทั้งออกใบรับรองการประกอบวิชาชีพที่สามารถปฏิบัติงานได้ทั่วโลก ดังนั้น TCELS จึงได้ร่วมหารือกับ Guy’s and St Thomas’ NHS Foundation Trust หรือ GSTT ที่เป็นส่วนหนึ่งของ King’s Health Partners ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Health Sciences ระดับโลกภายใต้การสนับสนุนของ National Health Service (NHS) จึงเกิดความร่วมมือการฝึกอบรมด้านการให้คำปรึกษาด้านพันธุศาสตร์ และพัฒนาขีดความสามารถของผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุศาสตร์ (Genetic Counselor) โดยได้รับการประสานงานและความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยเป็นอย่างดี
“การลงนามบันทึกความเข้าใจ “การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุศาสตร์ (Genetic Counselor) สำหรับการแพทย์แบบจีโนมิกส์ (Medical Genomics) และการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicines)” ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ดีในความร่วมมือ การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุศาสตร์ ที่จะทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการให้คำปรึกษาด้านพันธุศาสตร์จากประเทศอังกฤษสู่ประเทศไทย ทั้งยังเพิ่มบุคลากรด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ที่ทำงานให้คำปรึกษาด้านพันธุศาสตร์ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และยังได้รับความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัย และประชาชนได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ส่งผลให้มีสุขภาพที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยลดภาระในด้านงบประมาณของรัฐบาลอีกด้วย
“นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าว ยังทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานด้านการแพทย์จีโนมิกส์ของประเทศไทยและประเทศอังกฤษ เป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือในมิติอื่นๆ ให้ขยายกว้างยิ่งขึ้นจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการวิจัย หรือ การพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์ร่วมกัน พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ” ดร.ศิรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย