14 กรกฎาคม 2564 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ องค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) และหน่วยงานพันธมิตร ประกาศผลการแข่งขัน “โครงการ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge” โดยทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ชนะเลิศการแข่งขัน และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชียทางออนไลน์ ถ่ายทอดสดจาก ศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ กับภารกิจแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ ที่ปฏิบัติงานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) ให้ปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ องค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) และหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), สถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันจัดโครงการ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge เพื่อพัฒนาขีดความรู้ความสามารถด้านสะเต็มศึกษาของเยาวชนไทย ซึ่ง สวทช. ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทย ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กับภารกิจการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ Astrobee ในระบบ Simulation ซ่อมแซมสถานีอวกาศที่ชำรุดเนื่องจากอุกกาบาต
พุ่งชน เพื่อคัดเลือกผู้ชนะเพียง 1 ทีมที่ทำคะแนนได้ดีที่สุด (จาก 176 ทีมทั่วประเทศที่สมัครเข้าร่วมโครงการ) เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชียต่อไป
ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมชนะเลิศได้แก่ ทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) ซึ่งมีสมาชิก
3 คน ประกอบด้วย เด็กชายเสฎฐพันธ์ เหล่าอารีย์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นายกรปภพ สิทธิฤทธิ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และนายธฤต วิทย์วรสกุล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เป็นทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศ และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชีย ในรายการ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge ร่วมกับตัวแทนเยาวชนอีก 10 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เนปาล นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียดนาม ที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2564
ดร.จุฬารัตน์ กล่าวว่า ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม No.-won จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม BOT จากสถาบันโคเซ็น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และรางวัลทีมนำเสนอดีเด่น ได้แก่ ทีม We’ll hack NASA with HTML จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง
ด้าน กุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเสริมว่า ในปีนี้ มีเยาวชนสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 176 ทีม ถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก แสดงให้เห็นถึงความสนใจของเยาวชนไทยที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเข้าร่วมกิจกรรม โดยแบ่งออกเป็น ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 41 ทีม ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 98 ทีม ระดับมหาวิทยาลัย จำนวน 35 ทีม และเป็นที่น่าดีใจที่มีทีมเด็กๆ ระดับประถมศึกษาสมัครเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ด้วย จำนวน 2 ทีม ซึ่งประสบการณ์จากการเขียนโปรแกรมครั้งนี้ จะทำให้พวกเขาได้พัฒนาทักษะด้านต่างๆ อย่างบูรณาการ ทั้งคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และภาษาคอมพิวเตอร์ และยังได้พัฒนาทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 อย่างการคิดวิเคราะห์และการทำงานร่วมกันเป็นทีม
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความรู้และประสบการณ์ที่เยาวชนได้รับจากการแข่งขันครั้งนี้ จะมีส่วนส่งเสริมต่อยอดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อช่วยพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
โอะโนะ อะสึชิ (Ono Atsushi) ผู้อำนวยการองค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ กล่าวชื่นชมและแสดงความยินดีแก่เด็กและเยาวชนผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันทั้ง 176 ทีมว่ารู้สึกประทับใจในการตอบรับการเข้าร่วมการแข่งขันจากทุกทีมเป็นอย่างยิ่ง ตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือนของการแข่งขันได้เห็นถึงความตั้งใจของทุกๆ ทีม ในการจะพัฒนาโค้ดเพื่อเอาชนะโจทย์การแข่งขันให้ดีที่สุด ภายใต้แนวคิดการทำงานจริงของ นักบินที่สถานีอวกาศ
“ในโอกาสวันประกาศผลผู้ชนะการแข่งขันของประเทศไทยวันนี้ ขอแสดงความยินดีกับทุกๆ ทีมที่ได้รับรางวัล และขอต้อนรับทีมผู้ชนะเลิศสู่การแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชียที่ประเทศญี่ปุ่น หวังว่าทุกท่านจะได้รับประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลงานและการทำงานในอนาคตต่อไป” ผู้อำนวยการองค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ กล่าว
สำหรับทีมตัวแทนประเทศไทยจะได้เข้าร่วมการแข่งขันในรายการ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์เอเชียผ่านทางออนไลน์ โดยถ่ายทอดสดจาก ณ ศูนย์อวกาศสึกุบะ(TsukubaSpaceCenter)ประเทศญี่ปุ่นในเดือนกันยายนปีนี้เยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขันทุกคนจะสื่อสารตรงไปที่สถานีอวกาศนานาชาติซึ่งมีนักบินอวกาศเป็นผู้ควบคุมการแข่งขันและได้สัมผัสกับศูนย์อวกาศสึกุบะซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นอีกทั้งยังเป็นสถานที่หลักสำหรับปฏิบัติการโครงการวิจัยอวกาศของญี่ปุ่น และนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นที่มีส่วนในสถานีอวกาศนานาชาติซึ่งจะได้รับการฝึกจากที่นี่
ศูนย์อวกาศสึกุบะ ตั้งอยู่ในเมืองวิทยาศาสตร์สึกุบะ จังหวัดอิบะระกิ เปิดใช้งานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972
มีอาคารนิทรรศการเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมและมีแลนด์มาร์คสำคัญคือ ‘จรวด เอชทู’ จำลองขนาดเท่าของจริงตั้งอยู่ด้านหน้าอาคาร รวมทั้งแบบจำลอง ‘ยานคิโบะ โมดูล’ ขนาดเท่าของจริงแสดงอยู่ภายในอาคารด้วย