ทีมกรุ๊ปชี้ปรากฏการณ์ลานีญาปี’64 ทำฝนทิ้งช่วง แนะปลายปีหลายจังหวัดเตรียมรับมือน้ำท่วม


ชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์

“ทีมกรุ๊ป” คาดการณ์ฤดูฝนประเทศไทยปีพ.ศ.2564 เริ่มกลางเดือน พ.ค. เตือนฝนทิ้งช่วง มิ.ย.-ก.ค. ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำภาคกลาง-อีสานใต้ และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก ย้ำยังไม่พบสัญญาณน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยเหมือนปีพ.ศ. 2554

ชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ (TEAMG) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำของประเทศ กล่าวถึงการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำฝนในปีพ.ศ.2564 ว่า  จากปรากฏการณ์ลานีญา จะเกิดฝนตกหนัก-ลมกระโชกแรง-ลูกเห็บตก จากอิทธิพลพายุฤดูร้อนตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งส่งผลดีต่อการบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตามเกณฑ์ทางอุตุนิยมวิทยา ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป โดยจะมีฝนตกชุกต่อเนื่อง และมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นช่วงปลายเดือน แต่เมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายนต่อเนื่องถึงเดือนกรกฎาคม ปริมาณฝนจะลดลงเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง มีผลกระทบต่อภาค​การเกษตรนอกเขตชลประทาน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนสิงหาคม และกันยายน ฝนจะเริ่มกลับมาชุก และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อาจทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม ตั้งแต่จังหวัดสุโขทัย ลงมาจนถึงจังหวัดพิจิตร และนครสวรรค์  ซึ่งไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีเพียงแค่พื้นที่แก้มลิงหนองหลวง จังหวัดสุโขทัย และแก้มลิงบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็นแหล่งรองรับน้ำ ซึ่งมีขนาดไม่เพียงพอต่อการรองรับปริมาณน้ำฝนตกพื้นที่ท้ายเขื่อน และจากร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือ ทำให้ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมในจังหวัดสุโขทัย พิจิตร และนครสวรรค์ เป็นประจำทุกปี

ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้จัดเตรียมพื้นที่แก้มลิงหนองหลวง จังหวัดสุโขทัย และแก้มลิงบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ไว้รับมวลน้ำหลาก ลดลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน และแหล่งเศรษฐกิจจังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ตามรูปแบบโครงการบางระกำโมเดล ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 โดยขอความร่วมมือจากเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนระยะเวลาปลูกข้าวให้เร็วขึ้น เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน ก่อนจะทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนกรกฎาคม และปรับพื้นที่ให้เป็นทุ่งรับน้ำ ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในลุ่มน้ำยมได้

ขณะที่ พื้นที่น้ำปิง มีอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก พื้นที่ลำน้ำวัง มีอ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วลม จังหวัดลำปาง พื้นที่ลำน้ำน่าน มีอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่เป็นแหล่งเก็บกักน้ำและระบายน้ำให้เหมาะสมตาม​สภาวการณ์ของปริมาณน้ำ ซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันน้ำท่วมในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ที่ช่วยบรรเทาน้ำท่วมที่เกิดจากลุ่มน้ำภาคเหนือได้

ในเดือนกันยายน และตุลาคม ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝนจะตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง จากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่าน และหากมีพายุก่อตัวขึ้นในมหาสมุทร​แปซิฟิก หรือทะเลจีนใต้ พัดผ่านเข้า​มาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในลักษณะพายุไต้ฝุ่น พายุโซนร้อน พายุดีเปรสชั่น หรือหย่อมความกดอากาศต่ำ จะทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้าง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยในจังหวัดนครราชสีมา ศรีสะเกษ ยโสธร และอุบลราชธานี ซึ่งเมื่อปีพ.ศ. 2562 พายุโซนร้อนวิภา พายุโซนร้อนโพดุล และพายุโซนร้อนคาจิกิ ที่เคลื่อนผ่านภาคอิสาน ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี ฤทธิ์ของพายุทำให้ฝนตกหนักทั้งวันทั้งคืน น้ำท่วมฉับพลันและทะลักเข้าท่วมบ้าน​เรือนประชาชน พื้นที่เกษตรจำนวนมาก ในปี พ.ศ.2564 ก็ต้องเฝ้าระวังด้วยเช่นเดียวกัน เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเหมือนปีที่ผ่านมา

สำหรับพื้นที่ภาคกลาง จังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ยังมีพื้นที่ลุ่มต่ำที่เป็นจุดอ่อนที่จะเกิดน้ำท่วม ชาวบ้านริมแม่น้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ต้องระวังฝนตกหนักต่อเนื่อง และมวลน้ำหลากจากภาคเหนือตลอดเดือนตุลาคม อย่างอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ภาคตะวันออก และภาคใต้ ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น และฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ช่วงปลายฤดูฝน จังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรี จะเกิดน้ำจะท่วมจากการระบายน้ำฝนที่ตกหนักนานติด​กันหลายชั่วโมงลงสู่คลองและทะเลไม่ทัน จังหวัดเพชรบุรี อำเภอปราณบุรี และอำเภอบางสะพาน ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ น้ำจะหลากท่วมพื้นที่ช่วงเดือนตุลาคมต่อเนื่องถึงพฤศจิกายน และเดือนธันวาคม น้ำอาจจะท่วมส่งท้ายปีที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

“จากการประมวลวิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์น้ำปีพ.ศ. 2564 แม้ฝนจะมาเร็ว และคาดการณ์ปริมาณฝนช่วงก่อนมรสุมจะมีฝนตกมาก แต่ยังไม่พบสัญญาณความเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่คล้ายกับปีพ.ศ 2554 ประกอบกับความสามารถของอ่างเก็บน้ำเขื่อนใหญ่ทั้ง 4 ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังมีน้ำอยู่น้อยสามารถรองรับน้ำได้มากกว่าปีพ.ศ.2554 ซึ่งปัจจุบันอ่างเก็บน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 4 มีน้ำรวมกัน 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าน้อย และมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนสิ้นฤดูแล้งเท่านั้น และสภาพพื้นที่รับน้ำก็เปลี่ยนแปลงแตกต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นอย่างมาก”  ชวลิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านน้ำ เตรียมแผนรับมือน้ำหลากในฤดูฝนปีพ.ศ. 2564 ติดตามสภาพอากาศ และประเมินแนวโน้มสถานการณ์น้ำ ปริมาณฝน และพายุอย่างใกล้ชิด รวมถึงวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบ เตรียมมาตรการช่วยเหลือเยียวยา และแผนการฟื้นฟู เมื่อเกิดอุทกภัยขึ้น


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save