กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดตัว ดิจิทัลโพสต์ไอดี (Digital Post ID) ทางเลือกใหม่ที่พัฒนาจากการใช้ชื่อ-ที่อยู่ ให้เกิดการระบุตำแหน่ง สถานที่ และการขนส่งแบบ Easy Privacy Security และ Digital Economy ช่วยเชื่อมโยงไปสู่กิจกรรมอื่นๆ ต่อยอดจากรหัสไปรษณีย์ที่ใช้ตัวเลข 5 หลัก เช่น การพัฒนาเส้นทางขนส่ง การป้องกันการปลอมแปลงตัวตน การเงินและการธนาคาร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบระบบดิจิทัลโพสต์ไอดี และรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คาดว่าประชาชนจะมีรหัสดิจิทัลโพสต์ไอดีของตนเอง และสามารถนำมาใช้ส่งพัสดุ สิ่งของและอื่นๆ ได้ภายในปี พ.ศ. 2566
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ดีอีเอสและหน่วยงานในสังกัดได้เร่งขับเคลื่อนเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ของเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2566 ที่คาดว่าการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของคนทั่วโลกจะต้องพึ่งพาระบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น เช่น กิจกรรมการเงิน, การดำเนินธุรกิจ การลดช่องว่างทางด้านความปลอดภัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ที่ผ่านมา, การจัดการข้อมูล, การขนส่ง และอื่นๆ ตามยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับนวัตกรรมดิจิทัล ตามแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่างปี พ.ศ. 2561 – 2565 โดยมีแนวคิดในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการระบุข้อมูลตำแหน่งที่อยู่ให้เป็นที่อยู่ดิจิทัล หรือเรียกว่า “ดิจิทัลโพสต์ไอดี : Digital Post ID” จึงมอบหมายให้ไปรษณีย์ไทย ในฐานะหน่วยงานในการกำกับดูแล ดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาต่อยอดจากรหัสไปรษณีย์ที่ใช้ตัวเลข 5 หลัก ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานการจัดส่งสิ่งของของไทย มากว่า 40 ปี ให้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งโดยให้สามารถระบุตำแหน่งด้วยรหัสดิจิทัลโพสต์ไอดี ที่สามารถถูกแปลงเป็นพิกัดที่อยู่ของประชาชนภายในประเทศไทยได้ถึงระดับครัวเรือน พร้อมกันนี้ ยังสามารถรักษาความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลของภาคประชาชนอีกด้่วย
ดิจิทัลโพสต์ไอดีไม่เพียงแค่สร้างประโยชน์ในภาคการขนส่ง หรือการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่ยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่ภาคส่วนและกิจกรรมอื่นๆได้อีกหลากหลาย เช่น การพัฒนาเส้นทางขนส่ง, การรองรับระบบการขนส่งในอนาคตที่ไม่ใช้คนขับ, การป้องกันการปลอมแปลงตัวตน, การสนับสนุนสิ่งของช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ ในกรณีที่ทราบพื้นที่ประสบภัย น้ำท่วม แผ่นดินไหว, การสนับสนุนนโยบายด้านสุขภาพ ช่วยเหลือผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน, จัดเก็บข้อมูลผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่, ส่งเสริมการแพทย์ทางไกลเพื่อลดความแออัดในการเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล, การหาพิกัดสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในแต่ละฤดูกาล, วางแผนบริหารจัดการพื้นที่การเกษตร, วางผังเมืองและบริหารทรัพยากรธรรมชาติให้เหมาะสม, กำหนดเขตเลือกตั้ง, ข้อมูลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง, ด้านการเงินและการธนาคาร, การโฆษณาสินค้าให้กับกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจผลิตภัณฑ์หรือบริการเฉพาะทางเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศอย่างยั่งยืน และในอนาคตจะขยายการใช้ดิจิทัลโพสต์ไอดีเชื่อมโยงแก่ผู้ประกอบการเอกชนรายอื่นๆด้วย
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยได้รับงบประมาณในการดำเนินการจัดทำดิจิทัลโพสต์ไอดีประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นการต่อยอดใช้รหัสไปรษณีย์ 5 หลัก โดยเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการส่งไปรษณีย์ในประเทศไทยที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 มาแปลงเป็นพิกัดที่ตั้งบนพื้นผิวโลกในประเทศไทย ด้วยหลักการทำงานเดียวกับระบบการหาตำแหน่งบนพื้นผิวโลก หรือ GPS โดย 1 คน สามารถมีได้หลายที่อยู่ และสามารถเปลี่ยนแปลงที่อยู่ชั่วคราวในระบบได้เมื่อจำเป็นต้องเดินทางไปต่างพื้นที่ เดิมทีรหัสไปรษณีย์ 5 หลักจะบอกได้ถึงเขตพื้นที่เท่านั้น แต่ดิจิทัลโพสต์ไอดีจะระบุได้ถึงพิกัดตำแหน่งด้วยการปักหมุด บอกพิกัดแนวดิ่งได้ทำให้สามารถระบุที่อยู่สำหรับผู้ที่อยู่ในอาคารสูงได้แม่นยำยิ่งขึ้น และที่สำคัญช่วยลดขั้นตอนการทำงานของทั้งคนส่งของและพนักงานไปรษณีย์ในแต่ละพื้นที่อีกทั้งยังช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลบนจ่าหน้า ป้องกันการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง ที่ถูกต้อง แม่นยำ
ขณะนี้ดิจิทัลโพสต์ไอดีอยู่ในระหว่างการพัฒนา ทดลองใช้และคาดว่าจะนำมาใช้ได้จริงในไตรมาสที่ 2 ปี พ.ศ.2566 และภายในปี พ.ศ. 2567 ประชาชนน่าจะมีรหัสดิจิทัลโพสต์ไอดีของตนเองที่จำได้ง่ายมาแทนการเขียนจ่าหน้าแบบเดิมพร้อมกันทั่วประเทศ และเพื่อรองรับการมีดิจิทัลโพสต์ไอดีในอนาคต ที่ทำการไปรษณีย์ หรือผู้ให้บริการโลจิสติกส์จะมีเครื่องพิมพ์ฉลากในรูปแบบ QR Code ที่เป็นดิจิทัลโพสต์ไอดี เพื่อแปะบนซองเอกสาร โดยผู้รับและผู้ส่งมั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะไม่หลุด เพราะไม่มีปรากฏบนกล่องหรือซอง แต่ต้องใช้แอปพลิเคชันบนอุปกรณ์อ่าน QR Code เท่านั้นถึงจะโชว์ และเป็นแบบใช้ครั้งเดียว ทั้งนี้ยังคงใช้ระบบการจ่าหน้าซองส่งสิ่งของผ่านมาไปรษณีย์ไทยควบคู่ไปด้วย
ดร. ปิยะนุช สัมฤทธิ์ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลรูปแบบใหม่ๆ เช่น ดิจิทัลไอดีมาใช้ในเรื่องของการขนส่งและโลจิสติกส์จะช่วยเอื้ออำนวยความสะดวก ลดต้นทุน ช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลได้ ป้องกันการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้การขนส่งมีประสิทธิภาพ แม่นยำมากขึ้นและก้าวทันการแข่งขันในระดับสากล หลังจากนี้ทางสมาคมฯจะนำข้อมูลการใช้งานดิจิทัลโพสต์ไอดีไปถ่ายทอดองค์ความรู้แก่สมาชิกในสมาคมฯ ทดลองใช้งานแล้วนำข้อดีและข้อที่ควรปรับปรุงแก้ไขกลับมายังไปรษณีย์ไทย เพื่อปรับปรุงระบบให้ใช้ ใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็วและปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการทั่วทั้งประเทศต่อไป
ริริว (RIREW) เจ้าของเพจ “RIREW เสื้อผ้าแฟชั่น” กล่าวถึงเหตุผลที่เลือกใช้การขนส่งสินค้าที่ขายทางเพจกับไปรษณีย์ไทยว่า เนื่องจากไปรษณีย์ไทยมีระบบมีเครือข่ายทั่วประเทศและลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าในเพจมั่นใจว่าได้รับสินค้าแน่นอน ที่ผ่านมาในการใช้บริการของทางไปรษณีย์ไทยจะพบอุปสรรคในเรื่องการจ่าหน้าซองที่บางครั้งลูกค้าให้ระบุตรอกซอกซอยและหาผู้รับหากไม่อยู่บ้านก็ให้ฝากไว้กับข้างบ้านที่หน้ากล่องขนส่งเลย รวมทั้งเบอร์โทรศัพท์ที่ให้ติดต่อส่งของ ซึ่งตรงจุดนี้คิดว่าไม่ปลอดภัยหากมีมิจฉาชีพสวมรอยเป็นไปรษณีย์ หรือสวมรอยเป็นคอลเซ็นเตอร์จะทำให้เกิดความเสียหายได้
สำหรับดิจิทัลไอดีโพสต์ที่ทางไปรษณีย์จะนำมาใช้นี้คิดว่าจะเป็นประโยชน์ในเรื่องลดการจ่าหน้าซองที่จะเห็นชื่อที่อยู่ของผู้รับชัดเจนและลดจำนวนกระดาษที่จะต้องพิมพ์ เพื่อนำมาแปะติดที่หน้ากล่องส่งสินค้า
“ขอทดลองใช้ก่อนแต่คิดว่าระบบที่ไปรษณีย์คิดค้นน่าจะเป็นประโยชน์กับทุก ๆคนที่ใช้บริการไม่ใช่แค่แม่ค้า พ่อค้าออนไลน์ หากการใช้งานง่าย สะดวก ในอนาคตคนใช้บริการก็จะเกิดความชื่นชอบและหันมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน” ื เจ้าของเพจ “RIREW เสื้อผ้าแฟชั่น กล่าว