“ณัฐพล” ปลัดกระทรวงอุตฯ ชูนโยบาย “MIND” ใช้หัวและใจ ปฏิรูปกระทรวง ภายใต้แนวคิด “อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน”


กระทรวงอุตสาหกรรม แถลงเปิดนโยบายอุตสาหกรรม ปี พ.ศ.2565 ขับเคลื่อนด้วย “MIND” มุ่งยกระดับภาคอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ด้วย หัวและใจภายใต้แนวคิด “อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน เชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานรากผ่านนโยบาย 4 มิติ ส่งเสริมธุรกิจ ดูแลสังคม รักษาสิ่งแวดล้อม และกระจายรายได้สู่ชุมชนรอบอุตสาหกรรม  พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากกระแสเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวรวมทั้งเศรษฐกิจไทย หลังจากวิกฤต COVID-19 ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าปี พ.ศ. 2565 GDP อยู่ที่ร้อยละ 3.2 และกระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่า ปี พ.ศ. 2565 GDP ภาคอุตสาหกรรมและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI ขยายตัวร้อยละ 2.0 และร้อยละ 1.9 ตามลำดับ ส่วนในปี พ.ศ.2566 เป็นปีที่มีความท้าทายเนื่องจากทั่วทั้งโลกค่อยทยอยฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเปราะบางจากหนี้สาธารณะของหลายประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยเกือบ 100% เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยมีปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เช่น ภาวะเงินเฟ้อ น้ำมันแพง ค่าเงินบาทอ่อน และดอกเบี้ยสูง ทำให้สินค้ามีการปรับราคาสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาด้านโครงสร้างของอุตสาหกรรมที่เริ่มแข่งขันได้ยาก เช่น ต้นทุนด้านแรงงานและการเข้าถึงแหล่งทุน รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงปัญหาด้านภาพลักษณ์ของภาคอุตสาหกรรมต่อประชาชนที่มองการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นภาพลบมาโดยตลอดค่อยๆ เริ่มปรับเป็นภาพที่ดีขึ้นและสร้างมูลค่าในการทำอุตสาหกรรมทุกรูปแบบให้เติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืน

ดร.ณัฐพล  กล่าวถึงการทำงานในตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมว่า จะดำเนินนโยบายเดิมที่มีอยู่และปรับเปลี่ยนเชิงรุกตามยุคสมัยให้การทำงานอุตสาหกรรมร่วมกับ 20 หน่วยงานในกำกับดูแลมุ่งสู่การทำงานเพื่อประโยชน์ของกระทรวง ประชาชน สังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การตรวจสถานประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องลงพื้นที่ตรวจสอบต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกร้องเรียนบ่อยๆต้องลงพื้นที่ตรวจสอบบ่อยๆ , การลดการก่อมลพิษ สร้างภาวะ PM. 2.5 จากการประกอบอุตสาหกรรมอ้อยที่ต้องเผาซากอ้อยทุกๆครั้งให้ลด ละเลิกเผาซากอ้อยให้ได้และการทำเหมือแร่ต้องไม่กระทบต่อสุขอนามัย สิ่งแวดล้อมและอื่นๆจนเกิดการฟ้องร้องเกิดขึ้นอย่างในอดีตที่ผ่านมา ควรส่งเสริมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างจริงจังให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมทั่วประเทศ โดยการทำงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ให้เกิดการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมสู่ S-Curve ที่มุ่งเน้นการผลิตและโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

ชูแนวคิดและนโยบายเร่งด่วน

อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน

ในส่วนแนวคิดและนโยบายเร่งด่วนนั้นจะดำเนินการตามแนวคิด อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน ใน 2 เรื่อง ที่จะนำมาใช้ในการขับเคลื่อนกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย

  1. การทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมต้องมีภาพที่ดี ด้วยพลังของคนอุตสาหกรรม โดยใช้หลักการ “อุตสาหกรรมดี ชุมชนดี หน่วยงานดี” ร่วมกันสื่อสาร “การรวมพลังอุตสาหกรรมดี” เพื่อสร้างทัศนคติรวมถึงประสบการณ์ที่ดีให้กับประชาชนและสถานประกอบการทุกขนาด ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ให้มีความเชื่อมั่น เชื่อถือ และไว้วางใจ พร้อมปรับปรุงการให้บริการอุตสาหกรรมสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกภาคส่วน  ในฐานะข้าราชการพร้อมทำงานด้วยความตั้งใจ จริงใจ สามารถตรวจสอบได้ สร้างความโปร่งใสในการทำงาน ด้วยการปลูกฝังนโยบายการทำงานการทำดีด้วย “หัว” และ “ใจ” ของข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเข้าสู่วิถีใหม่ ให้กระทรวงอุตสาหกรรมทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนให้เกิดประโยชน์ต่อองค์รวมของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ พร้อมผลักดัน “ชุมชนรักโรงงาน โรงงานรักชุมชน และสร้างการกระจายรายได้สู่ชุมชน” เพื่อให้ชุมชนและอุตสาหกรรมอยู่ด้วยกันอย่างเป็นมิตร พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และสร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่อง
  2. ทุกนโยบาย มาตรการ และกลไก มุ่งสู่ความสำเร็จ และให้รางวัลกับคนทำดี ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน สำหรับการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมสู่ S-curve ที่มุ่งเน้นการผลิตและโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นใน 4 มิติ ประกอบด้วย มิติที่ 1 ความสำเร็จทางธุรกิจ การปรับธุรกิจให้เหมาะสมกับโลกอนาคต การแข่งขันด้านประสิทธิภาพและต้นทุน รวมถึงเพิ่มความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรม อาทิ เกษตรอุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ และยานยนต์แห่งอนาคต มิติที่ 2 การประกอบการที่กระทรวงดูแล ต้องไม่สร้างผลกระทบต่อพื้นที่ เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจให้ประชาชน มิติที่ 3 การตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สู่อุตสาหกรรมสีเขียวไม่สร้างผลกระทบต่อพื้นที่ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และ มิติที่ 4 การรักษาวิถีชีวิต สร้างประโยชน์ พัฒนาชุมชนรอบอุตสาหกรรม และต่อยอดอาชีพดีพร้อม โดยมุ่งเน้น “การสร้างงาน สร้างอาชีพ” ให้คนรุ่นใหม่สามารถต่อยอดอาชีพดั้งเดิมของครอบครัวและอัตลักษณ์ชุมชน ขณะเดียวกันจะกระตุ้นผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมทำงานร่วมกับชุมชนและเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง

“หากดำเนินการตามที่กล่าวมา เชื่อมั่นว่าในปี พ.ศ. 2566 จะสามารถกระตุ้น GDP ภาคอุตสาหกรรม  และ MPI ให้สูงขึ้นร้อยละ 2.5 – 3.5 และเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีถัด ๆ ไป” ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save