“เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน” ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญและได้รับการยอมรับจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ให้เป็นเครื่องมือที่มีพลานุภาพ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่สามารถสร้างคุณประโยชน์มากมายมหาศาลต่องานวิจัยทางด้านการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม และด้านอื่น ๆ เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจ สังคม การพัฒนาทุนมนุษย์ เป็นต้น
โครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) นี้ จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่เป็นบวกต่อประเทศ ซึ่งได้แก่ การสร้างคน สร้างงาน สร้างอาชีพ ตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้างเครื่องฯ การออกแบบ การผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ตลอดจนการดำเนินงานโครงการ นอกจากนี้เมื่อโครงการแล้วเสร็จสามารถให้บริการแก่ภาคเอกชนได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศอีกไม่น้อยกว่าปีละ 6,000 ล้านบาท
ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่จะจัดสร้างใน เขตนวัตกรรมในพื้นที่โครงการพิเศษภาคตะวันออกหรือ EECi มีระบบการจัดการความปลอดภัยที่ครอบคลุมในทุกด้าน โดยมุ่งเน้นไปที่การป้องกันอันตรายทางรังสีจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยทางอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติตามตามกฎหมายและมาตรฐานสากลควบคู่กันไปอย่างเคร่งครัด
การป้องกันอันตรายทางรังสีจากการเดินเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนนั้น เริ่มตั้งแต่การประเมินแหล่งต้นกำเนิดรังสีเพื่อนำไปสู่การออกแบบตัวกำบังรังสี ทั้งในอุโมงค์ที่ติดตั้งเครื่องเร่งอนุภาค และในวงกักเก็บอิเล็กตรอนรวมทั้งในระบบลำเลียงแสงและสถานีทดลองด้วย สำหรับการออกแบบตัวกำบังทางรังสีจำเป็นต้องอาศัยผลจากการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ ประเมินประสิทธิภาพของตัวกำบังรังสีนั้น ๆ ก่อนดำเนินการก่อสร้างจริง และการทดลองตรวจวัดรังสีในระหว่างที่มีทดสอบการเดินเครื่องในภายหลังต่อไป โดยอาศัยหลักการที่ให้ผู้ปฏิบัติงานทางรังสีและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้รับปริมาณรังสีให้น้อยที่สุด เป็นไปตามกฎหมายของไทยและมาตรฐานสากลของ IAEA ภายใต้การควบคุมอย่างเคร่งครัด โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
“จากการเดินเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา ผ่านมากว่า 20 ปี เรามีเครื่องวัดรังสีประจำที่ และมีการติดตามการได้รับรังสีของผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งผู้มาใช้บริการภายนอก ไม่พบว่ามีผู้ใดได้รับรังสีเกินระดับเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย และที่สำคัญยิ่ง รังสีที่จากแสงซินโครตรอนเกิดนั้นไม่ได้เกิดจากการใช้สารรังสี หรือวัสดุกัมมันตภาพรังสี เช่น ยูเรเนียมหรือ โคบอล์ท ที่เราเคยได้ยินได้ฟังจากภาพข่าวในอดีตแต่อย่างใด ซึ่งถ้าหากจะพูดให้เข้าใจได้ง่ายๆ คือ เมื่อใดที่ถอดปลั๊กไฟฟ้าของเครื่องกำเนิดแสงออกก็จะไม่มีรังสีปล่อยออกมาอีกเลย อีกทั้งชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่อาจปลดปล่อยรังสีจะถูกฝังไว้ใต้ดินอย่างมิดชิดตามหลักเกณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล ดังนั้นสถาบันฯ มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนที่ปฏิบัติงาน ณ เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน รวมถึง ประชาชนและสิ่งแวดล้อม”โดยรอบของสถานที่ตั้งเครื่องกำเนิดแสงฯ ทั้งในนครราชสีมาและ EECi จังหวัดระยอง จะมีความปลอดภัยทั้งทางด้านความปลอดภัยทางรังสีและความปลอดภัยด้านอาชีวอนามัยอย่างแน่นอน” ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ กล่าว\
สำหรับการจัดสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนบนพื้นที่ EECi นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษา ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเบื้องต้น หรือ Initial Environmental Examination โดยได้มีการจัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ต.ป่ายุบ อ.เมือง จ.ระยอง เพื่อให้ประชาชนที่อยู่โดยรอบ ได้มีส่วนร่วมเกี่ยวกับความเพียงพอของมาตรการป้องกันและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาโครงการต่อผู้พักอาศัยบริเวณโดยรอบโครงการในระยะก่อสร้างและระยะดำเนินโครงการอีกด้วย