กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) นำทีมนักวิทยาศาสตร์และอาจารย์มหาวิทยาลัยลงพื้นที่ ต.ตูม อ.ปักธงชัย หารืองานวิจัยต่อยอดให้แก่ วิสาหกิจชุมชน (วสช.) ภูชีวกะ มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความยั่งยืนสู่ชุมชนด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน
ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวง อว. ร่วมด้วย ดร.บัวบาล กัวประเสริฐ และ ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช และ ดร.วีรวัตร นามานุศาสตร์ ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมพืชเศรษฐกิจ และเวลเนสซิตี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้ลงพื้นที่ ต.ตูม อ.ปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อหารืองานวิจัยร่วมกับ นางสาวชลธิชา ชัยณวัฒน์ ประธานวิสาหกิจชุมชน (วสช.) ภูชีวกะ พร้อมด้วย ภูเดช ลาชมภู ที่ปรึกษาด้านพลังงานและโครงการ เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความยั่งยืนสู่ชุมชนด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน
สำหรับวิสาหกิจชุมชน ภูชีวกะ เป็นวิสาหกิจชุมชนที่มุ่งเน้นการปลูกพืชสมุนไพรทางการแพทย์รวมถึงพืชพื้นบ้าน สำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแนวทางแพทย์แผนไทย เพื่อส่งเสริมสุขภาพและเตรียมพร้อมในการให้บริการด้านสุขภาพ โดยเปิดศูนย์บริการครบวงจร “ภูชีวกะ” ที่เกี่ยวกับการมีสุขภาพที่ดีแข็งแรงสมบูรณ์ (Wellness) ได้แก่ การอบสมุนไพรและนวดเพื่อสุขภาพ การส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านการปั่นจักรยาน การปีนเขาในเส้นทางของหมู่บ้าน นอกจากนั้น ยังพัฒนาด้านอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่หลากหลาย เช่น ผลิตภัณฑ์ชาเฉพาะบุคคล การพัฒนาชาจากดอกไม้ท้องถิ่น อาทิ ชาดอกคูน ชาดอกหางนกยูง และการผลิตซอสสมุนไพรพร้อมรับประทานจากมะม่วง และสมุนไพรอื่นๆ ในท้องถิ่น เป็นต้น
ที่ผ่านมา วิสาหกิจชุมชน ภูชีวกะ ได้พัฒนาและมีแผนยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้ได้มาตรฐานที่สามารถขายได้ทั่วประเทศ รวมถึงการส่งออกในอนาคต ตามวัตถุประสงค์ Local to Global โดยได้รับการสนับสนุนพร้อมผลักดันจากชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และหน่วยงานของภาครัฐ และครั้งนี้ได้หารือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับ มทร.อีสาน และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่น สามารถระบุสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพได้ชัดเจน ซึ่งจะเพิ่มความสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานมีเทคโนโลยีชั้นนำ และจะเป็นก้าวสำคัญในการพัมนาผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานเพื่อแข่งขันในตลาดโลกต่อไป
ในส่วนของงานวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สังกัด กระทรวง อว. มีนักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านงานวิจัยทางการแพทย์ที่หลากหลาย โดยมีความพร้อมในบุคลากรวิจัยและเทคโนโลยีที่สามารถวิเคราะห์ เพื่อยืนยันองค์ประกอบทางเคมีที่เป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของสมุนไพรได้ จึงสามารถร่วมกับวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถเพิ่มมูลค่าของสมุนไพรท้องถิ่นและพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืนในอนาคต