กรุงเทพฯ – ประเทศไทย : ซิกน่าประกันภัย เผยผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ฉบับล่าสุด ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา พบว่าการฉีดวัคซีน ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภาวะความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลกในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูง จะสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่น ซึ่งเห็นได้ชัดจากคะแนนความเป็นอยู่ที่มีตัวเลขสูงขึ้นในทุกมิติ ทั้งนี้ ซิกน่าได้มุ่งสำรวจความเห็นและทัศนคติของผู้คนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วยจุดมุ่งหมายหลักเพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุในความลังเลใจ และเพื่อหาข้อสนับสนุนในการสร้างความมั่นใจต่อการฉีดวัคซีนให้แก่คนทั่วโลก
จากข้อมูลล่าสุด ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ในขณะที่ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID -19 ไปแล้วมากกว่า 1.7 พันล้านโดส พบว่า ประเทศที่ได้รับการฉีดวัคซีนส่วนใหญ่มีดัชนีของความเป็นอยู่ที่ดีเพิ่มขึ้นทั้ง 5 ด้าน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า นอกเหนือจากการจัดมาตรการป้องกันการติดต่อของโรคระบาดแบบต่าง ๆ การบริหารจัดการการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID -19 ยังส่งผลดีต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา สเปน ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พบว่ามีคะแนนความเป็นอยู่ที่สูงขึ้นกว่าช่วงก่อนการเกิดโรคระบาด ในทางกลับกัน บางประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำ พบว่ามีคะแนนความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่า เช่น ญี่ปุ่น 53.2 คะแนน เกาหลีใต้ 54 คะแนน และไต้หวัน 55.9 คะแนน
ธีรวุฒิ สุธนะเสรีพร, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิกน่า ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในขณะที่พวกเราทุกคนกำลังมุ่งหน้าสู่การฟื้นตัวจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 จะเห็นได้ชัดว่าสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ขึ้นมามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิต ซึ่งจากผลวิจัยของซิกน่า ทำให้เราเห็นว่า ประเทศที่มีการจัดการระบบการฉีดวัคซีนที่ประสบความสำเร็จ จะนำมาซึ่งความหวังแก่คนในสังคม เพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่มั่นคงอีกครั้ง”
ในเชิงของผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส จากการศึกษาพบว่า คนในสังคมมีความตระหนักถึงผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตมากขึ้น กว่า 72% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า สุขภาพจิตส่งผลต่อสุขภาพส่วนบุคคลและความเป็นอยู่ที่ดี และอีก 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามยังคงตระหนักถึงเรื่องสุขภาพทางกายเป็นหลัก
ปัจจุบัน การนำโซลูชันด้านการดูแลสุขภาพ หรือระบบ Virtual Healthcare มาใช้บำบัดสุขภาพจิต มีแนวโน้มการใช้งานที่สูงขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสดีสำหรับธุรกิจและผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพในการนำนวัตกรรมดังกล่าวมาช่วยส่งเสริมให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้จากทุกทีโดยไม่ต้องเสี่ยงเดินทาง นอกจากนี้ยังพบว่าในขณะนี้ มีผู้ใช้งานระบบ Virtual Healthcare มากขึ้นถึง 89% ตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาด และอีก 66% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า พวกเขาต้องการเข้าถึงบริการดังกล่าว ซึ่งคิดเป็นอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 71% สำหรับผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงอายุ 25-34 ปี
หากมองในแง่ของสถานะทางการเงิน การระบาดของเชื้อไวรัสยังคงส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคมอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ทำให้ผู้คนต่างกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการใช้จ่ายของตนเองและคนในครอบครัว เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษา ภาระค่าผ่อนจ่ายต่าง ๆ ไปจนถึงสถานะทางการเงินเมื่อเกษียณอายุ ซึ่งจากการศึกษา พบว่า จากจำนวนประชากรทั้งหมดในโลก มีเพียง 1 ใน 5 ส่วนเท่านั้น ที่คาดการณ์ว่าจะมีเงินออมเพียงพอสำหรับการเกษียณ ในขณะเดียวกัน มีเพียง 13% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 18-24 ปี ที่ยังคงรู้สึกมั่นใจเกี่ยวกับการออมเงินในระยะยาว
ท้ายนี้ เกือบ 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถาม คิดเป็น 28% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด เชื่อว่า พวกเขาสามารถรักษามาตรฐานการครองชีพในปัจจุบันได้ อย่างไรก็ตาม สาเหตุส่วนใหญ่อาจมาจากการลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันลง เช่น การที่ร้านอาหารปิดตัว หรือการที่ไม่สามารถออกเดินทางไปท่องเที่ยวได้ การนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นประโยชน์สำหรับกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงการกระตุ้นการรับรู้ให้แก่คนในสังคมถึงผลกระทบเชิงบวกที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อน และชุมชน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะนำไปสู่การฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
ธีรวุฒิ กล่าวว่า จากที่กล่าวมาข้างต้น ซิกน่าประกันภัยได้กำหนดกลยุทธ์เพื่อรองรับสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทย โดยเรามีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของลูกค้า ผ่านการมอบโซลูชันด้าน Virtual Healthcare Service – Telemedicine รวมไปถึงการสนับสนุน QueQ สตาร์ทอัปไทยที่มุ่งนำนวัตกรรมแอปพลิเคชันเข้ามาช่วยเหลือระบบการจัดการคิวฉีดวัคซีน เพื่อให้เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น