ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย เปิดตัวผู้บริหารประจำประเทศไทยและลาวคนใหม่ พร้อมทีมงานที่แข็งแกร่ง เดินหน้าสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจ ด้วยประสบการณ์กว่า 28 ปีในการทำงานร่วมกับบริษัทยักษ์ด้านไอทีระดับโลก พร้อมมุ่งเน้นพัฒนาคนและทรัพยากรอย่างยั่งยืน ทั้งวิศวกร ช่างไฟ และนักศึกษาให้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในสายอาชีพของตน หวังเป็นแรงสนับสนุนประเทศไทยในยุคดิจิทัล
ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย ประธานชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประจำประเทศไทยและลาว กล่าวถึงภาพรวมของ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ทั่วโลกในปี พ.ศ.2562 ว่า มีรายได้ราว 26,000 พันล้านยูโร โดยภูมิภาคที่มีรายได้มากที่สุด ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คิดเป็น 29 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา ได้แก่ ทวีปอเมริกาเหนือ 28 เปอร์เซ็นต์ และ ยุโรปตะวันตก 21 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ กลุ่มประเภทธุรกิจที่โตที่สุด คือ กลุ่มอาคารทั้งเชิงพาณิชย์ ที่พักอาศัย และอาคารโรงงานอุตสาหกรรม โดยคิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ อันดับที่ 2 ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม 29 เปอร์เซ็นต์ และอันดับที่ 3 ดาต้าเซ็นเตอร์ 16 เปอร์เซ็นต์
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รายได้ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งมีรายได้ 24,700 พันล้านยูโร คือการปฏิรูปสู่ดิจิทัลในระดับโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นกลยุทธ์ที่จะสร้างเสถียรภาพ และประสิทธิภาพให้กับภาคธุรกิจต่างๆ อย่างยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยี เช่น อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือ IoT รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data ทำให้หลายบริษัทสามารถสร้างประสิทธิภาพและนวัตกรรม เป็นการเพิ่มข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน
ทั้งนี้ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้นำรายได้ 5 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละปี เพื่อทุ่มเทวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถเปลี่ยนไปสู่รูปแบบกระบวนการทางดิจิทัลได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น ด้วย EcoStruxure ซึ่งเป็นทั้งแพลตฟอร์ม และสถาปัตยกรรมแบบเปิดของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ซึ่งให้ความสามารถด้าน IoT ด้วยนวัตกรรมใน 3 ระดับ ทั้งระดับการเชื่อมต่อของผลิตภัณฑ์ (Connected product) การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ปลายทางที่ทำให้สามารถมอนิเตอร์อุปกรณ์ต่างๆ ในระบบได้ (Edge Control) และ ระดับแอพพลิเคชั่น การวิเคราะห์ และบริการ (Apps, Analytics and Services) ซึ่งสามารถนำข้อมูลที่ได้มาประมวลผล วิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่แม่นยำและถูกต้อง โดยปัจจุบัน ได้มีการติดตั้งใช้งาน EcoStruxure มากกว่า 480,000 ไซต์งาน โดยผู้วางระบบกว่า 20,000 รายที่ให้การสนับสนุนในการติดตั้ง ซึ่งมีการเชื่อมต่อสินทรัพย์หรืออุปกรณ์มากกว่า 1.5 ล้านรายการ
นอกจากนี้ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ยังเผยผลการใช้งาน EcoStruxure จากลูกค้าทั่วโลก ไว้ในรายงาน Global Digital Transformation Benefits Report 2019 ซึ่งว่าด้วยเรื่องประโยชน์หลักที่ธุรกิจจะได้รับจากการปฏิรูปสู่ดิจิทัล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CapEx) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OpEx) รวมถึงการสร้างความยั่งยืน ความรวดเร็ว และประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การรายงานมุ่งเน้นที่ 4 กลุ่มหลักที่มีผลต่อเศรษฐกิจ ได้แก่ กลุ่มอาคาร ดาต้าเซ็นเตอร์ อุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน
การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลนี้สามารถช่วยธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ ให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุน และใช้เวลาได้อย่างเหมาะสมได้ถึง 35 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย นอกจากนี้ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้สินทรัพย์และระบบงานใหม่ เฉลี่ยถึง 29 เปอร์เซ็นต์ โดยทั้งองค์กรและภาคธุรกิจต่างรายงานถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของการใช้พลังงานได้ถึง 24 เปอร์เซ็นต์ สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ใช้พลังงานน้อยลง ใช้วัตถุดิบน้อยลง ใช้แรงงานต่อชั่วโมงน้อยลง
ธนพงษ์ กล่าวว่า ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย พร้อมเดินหน้าสานต่อนโยบายและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เพื่อการเติบโตของบุคลากรในประเทศไทย โดยได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและสนับสนุนอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีต่างๆ ให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคการศึกษา รวมถึงพื้นที่ที่ไร้พลังงาน ด้วยแนวคิดที่ว่า การเข้าถึงพลังงานและดิจิทัล เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์
ในส่วนของภาครัฐ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้ร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านไฟฟ้า และมอบอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ช่างไฟสามารถมีองค์ความรู้ทัดเทียมกับช่างไฟทั่วโลก อาทิ ชุดอุปกรณ์ เซอร์กิตเบรกเกอร์ และตู้ไฟของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ชุดอุปกรณ์โฮมออโตเมชั่น เพื่อให้ช่างไฟได้สามารถต่อยอดองค์ความรู้ด้านระบบไฟฟ้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อรองรับสังคมเมืองที่มีการเติบโต ซึ่งนอกจากจะมอบอุปกรณ์ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ยังได้ถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีให้อีกด้วย
ด้านสถาบันการศึกษา ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้สนับสนุนอุปกรณ์และเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษา อาทิสถาบันอุดมศึกษา โรงเรียนอาชีวะ ที่ต้องการต่อยอดองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมและระบบไฟฟ้า เพื่อพัฒนานักศึกษาให้เข้าใจเทคโนโลยี รวมไปถึงได้ร่วมมือกับสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก ในการมอบความรู้ความเชี่ยวชาญให้กับครูอาชีวะทั่วประเทศ เพื่อให้ถ่ายทอดให้กับนักศึกษาเพื่อให้เข้าสู่ EEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ