นนทบุรี : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดพิธีลงนามความร่วมมือโครงการที่ปรึกษาพลังงานปี พ.ศ. 2562 จำนวน 24 ราย พร้อมมอบโล่รางวัลแก่ที่ปรึกษาโครงการพลังงานปีพ.ศ. 2561 จำนวน 8 ราย เพื่อแสดงความขอบคุณหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการที่ปรึกษาพลังงาน พร้อมกันนี้ได้เปิดตัวและติดฉลากจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ดวงแรก จากโครงการจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 เพื่อพัฒนาและยกระดับยานยนต์ไฟฟ้าของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสู่มาตรฐานสากล
สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้พัฒนาการใช้พลังงาน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาสู่การใช้พลังงานที่มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในทุกๆภาคส่วนทุกๆมิติ รวมทั้งได้จัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 5 แผน ในช่วงปีพ.ศ. 2558-2579 เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าตามเป้าหมายความเข้มข้นของการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ให้ได้ 3% ในปีพ.ศ. 2579 โดยปัจจุบันลดลงไปแล้ว 8% ถือได้ว่าการทำงานของ กฟผ.สามารถดำเนินการได้ดีตามแผน และการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้สินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 เป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง หากมีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากเบอร์ 5 ในหลายๆผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าที่ผ่านการทดสอบเพิ่มขึ้นจะช่วยให้ในอนาคตไม่เกิดปัญหาขาดแคลนการใช้พลังงานไฟฟ้าขึ้น นอกจากนี้จะต่อยอดการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้าเผยแพร่สนับสนุนและส่งเสริมประเทศต่าง ๆในภูมิภาคอาเซียนต่อไป
วิบูลย์ ฤกษ์ศิระชัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ได้ดำเนินโครงการที่ปรึกษาพลังงานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศไทยใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคที่อยู่อาศัย ประชาชนและหน่วยงานอื่นๆ ด้วยมาตรการต่างๆที่เหมาะสมและคุ้มค่า รวมถึงมาตรการลดใช้ไฟฟ้าให้ได้ 0.1-03. % ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ประมาณ 5,872 ล้านหน่วย ภายในปี พ.ศ. 2579 ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน มีหน่วยงานเข้าร่วมจำนวน 8 ราย ได้แก่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, โรงพยาบาลกรุงเทพ, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), บริษัท มะลิกรุ๊ป 1962 จำกัด, บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด, บริษัท พีพี แพคเกจจิ้ง จำกัด, โรงแรม THE RIVERRIE BY KATATHANI COLLECTION Chang Rai และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ในปีพ.ศ. 2562 มีหน่วยงานที่ลงนามความร่วมมือเข้าร่วมโครงการที่ปรึกษา จำนวน 24 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.องค์กรที่สนับสนุนการดำเนินงาน จำนวน 4 ราย ได้แก่ หอการค้าไทย, สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย, สมาคมผู้บริหารงานวิศวกรรมในโรงแรมและอาคารพาณิชย์และสมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย 2.บริษัทผู้ประกอบการเครื่องปรับอากาศเบอร์ 5 ที่ดำเนินธุรกิจ Chiller จำนวน 11 ราย ได้แก่ บริษัท กรี อิเลคทริค (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท แคร์เรียร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท จอห์นสัน คอนโทรลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เทรน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท บิทไวส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เบทเทอร์ลิฟวิง จำกัด, บริษัท เบสท์ยูนิกซ์ จำกัด, บริษัท ยูนิแฟ้บ อีควิปเมนต์ จำกัด, บริษัท สตาร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัดและบริษัท สุปรีม ซี.เอ็น.บี. คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ 3.หน่วยงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการและมีเครือข่ายในการขยายจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 9 ราย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.), สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ, บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), บริษัท โพลีเทคโนโลยี จำกัดและบริษัท ประชาอาภรณ์ จำกัด มหาชน
นอกจากนี้ กฟผ. ได้ดำเนินโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 จำนวน 21 ผลิตภัณฑ์รวมประมาณ 373 ล้านฉลาก ส่งผลให้ลดพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 4,916 MW ลดปริมาณการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 16.6 ล้านตัน และในปีพ.ศ. 2562 นี้กฟผ.ได้ดำเนินโครงการจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะติดฉลากเบอร์ 5 เพื่อพัฒนาและยกระดับยานยนต์ไฟฟ้าของผู้ประกอบการที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ไปสู่มาตรฐานที่สูงตามแผนการดำเนินงาน และประกาศเชิญชวนผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและผู้นำเข้ามาร่วมในโครงการเพื่อทดสอบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้มาตรฐานเบอร์ 5 ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา เบื้องต้นมีผู้ประกอบการเข้าร่วมจำนวน 12 ราย ได้แก่ บริษัท เจเนอร์รัล ออโต้ ซัพพลาย จำกัด, บริษัท เซ็นทรัล มายด์ จำกัด, บริษัท ดรีมเมอร์ส มอเตอร์ จำกัด, บริษัท เดโก้ กรีน เอนเนอร์จี จำกัด, บริษัท ต้าถุง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โตโยตรอน มอเตอร์ จำกัด, บริษัท รอยัล มอเตอร์ ดีไซน์ จำกัด, บริษัท ไลอ้อน ไบค์ จำกัด, บริษัท สตรอง (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท สตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท สตาร์ 8 (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท อี ลอน มอเตอร์ จำกัด ทั้งนี้คาดว่าจะมีจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผ่านการทดสอบจำนวนปีละประมาณ 21,000 คัน และมีการรับรองและติดฉลากจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ดวงแรกภายในงาน และจะเริ่มจ่ายฉลากเบอร์ 5 แก่จักรยานยนต์ไฟฟ้าให้ผู้ประกอบการที่ผ่านการทดสอบตั้งแต่เดือนกันยายน ศกนี้ เป็นต้นไป
ปัจจุบันราคารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 20,000- 60,000 บาทต่อคัน เมื่อเทียบกับจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันถือว่าราคาใกล้เคียงกัน ในส่วนของการชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มต่อการชาร์จ 1 ครั้งจะวิ่งได้ประมาณ 60-80 กิโลเมตร ราคาแบตเตอรี่ 4,000-8,000 บาท ใช้งานได้นาน 3-5 ปี รถไฟฟ้าเบอร์ 5 จึงประหยัดกว่ารถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน 95 % หากขับขี่ด้วยความเร็ว 50- 60 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง อีกทั้งยังประหยัดค่าบำรุงรักษาได้มากกว่า 50 % เมื่อเทียบกับรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน ดังนั้นถือได้ว่าจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 จะเป็นทางเลือกใหม่ในการประหยัดเชื้อเพลิง ประหยัดเงิน ทำให้สิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ สร้างเมืองที่น่าอยู่ในอนาคต