สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน SPACE-F batch 1 Incubator Demo Day เพื่อนำเสนอผลงานสตาร์ทอัพที่ผ่านการบ่มเพาะในรุ่นที่ 1 ภายใต้โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SPACE-F พร้อมต่อยอดสร้างสตาร์ทอัพรุ่นที่ 2 ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยมี 3 พันธมิตรใหม่ ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท เบทาโกร จำกัด และบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด เข้ามาร่วมให้การสนับสนุน
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี ที่ NIA ได้ร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล บ่มเพาะสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SPACE-F SPACE-F ในรุ่นที่ 1 โดยถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญร่วมผลักดันและสนับสนุนสตาร์ทอัพให้มีการต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่ตลาดการค้าในปัจจุบันและในอนาคตยอมรับ ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่ชัดเจน เช่น กลุ่มรักสุขภาพ, กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการอาหารจำกัดความหวานในผู้ป่วยเบาหวาน เป็นต้น สามารถสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่มีความแตกต่างและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในโครงการบ่มเพาะ (Incubator Program) และโครงการเร่งการเติบโตทางธุรกิจ (Accelerator Program) โดยเน้นการพัฒนานวัตกรรมอาหารโลกในอนาคต 9 เทรนด์หลัก ได้แก่ การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ, การผลิตโปรตีนทางเลือก, กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ, การพัฒนาบรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต, การคิดค้นส่วนผสมและสูตรอาหารใหม่, การพัฒนาวัสดุชีวภาพและสารเคมี, เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร, การตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารและบริการอัจฉริยะด้านอาหาร
สำหรับความสำเร็จของสตาร์ทอัพในรุ่นที่ 1 ที่เข้าร่วมโครงการ ไม่ว่าจะเป็นทีม Let’s Plant Meat เนื้อจากพืชที่เหมาะกับอาหารเอเชีย ที่สำคัญผลิตจากโปรตีน 4 ชนิด ปลอดภัย ไม่อ้วน, Artificial Anything (EIS) เซ็นเซอร์ตรวจสอบคุณภาพในการผลิตเครื่องดื่มภายใน 10 วินาที, Advanced Green Farm เทคโนโลยีการเพาะปลูกผำและไข่น้ำ ซึ่งเป็นพืชตระกูลแหนโปรตีนสูง รสชาติคล้ายไข่กุ้ง, More Meat เนื้อจากพืช เช่น เห็ดแครง ที่ส่งตรงถึงร้านอาหารและผู้บริโภค และ Sesamilk นมทางเลือกผลิตจากงา รายแรกของโลก ทางเลือกสำหรับผู้ที่แพ้นมวัว ซึ่งถือได้ว่าหลายๆผลิตภัณฑ์ในขณะนี้มีวางจำหน่ายขายในห้างสรรพสินค้าบ้างแล้ว และขายผ่านทางช่องทางออนไลน์ รวมถึงมีนักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุนทำการตลาดระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ซึ่งทาง NIA และพันธมิตรยังคงเป็นพี่เลี้ยงดูแลสตาร์ทอัพเหล่านี้ทั้งในเรื่องการทำการตลาด การหาแหล่งเงินทุนสนับสนุน หานักลงทุนมาร่วมต่อยอดในเชิงพาณิชย์ หาเวทีนำเสนอผลิตภัณฑ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านโครงการภาครัฐและเอกชนจนกว่าสตาร์ทอัพจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญสามารถที่จะสร้างธุรกิจของตนเองได้อย่างมั่นคงและพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้แก่สตาร์ทอัพรุ่นที่ 2 และรุ่นต่อๆไป
“โดยในรุ่นที่ 2 นี้ ทาง NIA รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนทางด้านอาหาร 3 บริษัท ให้ความสนใจเข้ามาร่วมเป็นผู้สนับสนุนพร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมบ่มเพาะสตาร์ทอัพเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว ประกอบด้วย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท เบทาโกร จำกัด และบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด ซึ่งในรุ่นที่ 2 นี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสตาร์ทอัพทางด้านอาหารจะเข้าร่วมมากกว่าในรุ่น 1 เพื่อสร้างสตาร์ทอัพทางด้านอาหารของไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว
ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการ SPACE-F เป็นโครงการที่ดี ซึ่งจะเปิดโอกาสสร้างความท้าทายให้กับสตาร์ทอัพด้านอาหารของไทย ภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาร่วมกันเฟ้นหาสุดยอดสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านผลิตภัณฑ์อาหารสมัยใหม่ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์อาหารแบบดั้งเดิม ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้นำและทั่วโลกให้การยอมรับมาช้านานด้วยการเลือกใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งกระบวนการวิทยาศาสตร์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคแต่ละประเภทได้อย่างเหมาะสม
“ทางบริษัทฯดีใจที่เห็นความสนใจของเหล่าสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการทุกๆทีมแม้จะไม่ได้เข้ารอบลึกๆก็ตาม แต่ได้เห็นความมุ่งมั่น ทุ่มเท ใส่ใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของสตาร์ทอัพไทยและในต่างประเทศที่มาร่วมโครงการ ทำให้เกิดโอกาสและทางรอดหากในอนาคตจะเกิดวิกฤตทางด้านอาหารขึ้น รวมทั้งมีนักลงทุนต่างๆเข้ามาร่วมให้การสนับสนุนแม้ตจะมีจำนวนไม่มากในช่วงรุ่นที่ 1 แต่เชื่อว่าในรุ่นต่อไปจะมีนักลงทุนให้ความสนใจเข้ามาร่วมสนับสนุนเพิ่มเติมอย่างแน่นอน” ธีรพงศ์ กล่าว
สำหรับอนาคตฟู้ดเทคในประเทศไทยนั้นยังมีความสดใส มีความเติบโตแบบก้าวกระโดด นักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาร่วมลงทุนอย่างต่อเนื่อง ควรอย่างยิ่งที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะเข้ามาร่วมกันสนับสนุน เพราะมีสตาร์ทอัพใหม่ๆที่เก่ง พร้อมที่จะสร้างฟู้ดเทคในรูปแบบต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ตลาดอุตสาหกรรมอาหารยังเปิดกว้างแก่ทุกๆสตาร์ทอัพ รวมทั้งบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่พร้อมจะดึงสตาร์ทอัพเข้าไปร่วมทำธุรกิจสร้างฐานธุรกิจของตนเองให้มีความแข็งแกร่ง ต่อยอดแนวความคิดจากรายเล็กๆไปสู่รายใหญ่ๆให้เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ อาหารประเภท กุ้ง ปลา หมู ไก่ เนื้อและอื่นๆ
หากผู้ประกอบการไม่ปรับตัวไม่ปรับแผนสร้างสตาร์ทอัพภายในบริษัทเอง หรือมองหาสตาร์ทอัพรายใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากสถาบันการศึกษา นักศึกษา บริษัทรายเล็กๆที่เขามีความสามารถเข้ามาร่วมทำงานจะเสียโอกาส โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารแบบดั้งเดิมที่ทำธุรกิจได้กำไรเพียงน้อยนิดโดยไม่ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเข้ามาช่วยลดการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย และช่วยรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ อาจจะไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ใส่ใจสุขภาพ ต้องการอาหารที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น เป็นโอกาสและความท้าทายที่ประเทศไทยจะผลักดันอุตสาหกรรมอาหารแบบดั้งเดิมไปสู่อุตสาหกรรมอาหารสมัยใหม่ ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี และองค์ความรู้งานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์อาหารของคนไทยใส่ลงไปในกระบวนการผลิตในอนาคต” ธีรพงศ์ กล่าว
สำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ นั้นได้ปรับแผนการดำเนินธุรกิจรองรับธุรกิจอาหารสมัยอย่างต่อเนื่อง มีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์กว่า 100 คนทำงานที่ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยนเพื่อพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาต่อยอดให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจไม่เกิดปัญหา พร้อมทั้งพยายามสร้างโอกาสในทุกๆวิกฤตมากกว่าที่จะมองเป็นอุปสรรค โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 บริษัทฯได้รับผลกระทบในอาหารแช่แข็งที่จะส่งออกไปต่างประเทศคู่ค้า ก็หันมาปรับเปลี่ยนผลิตขายในประเทศตามความเหมาะสมโดยไม่เน้นยอดขายแต่เพื่อให้ผู้บริโภคคนไทยในประเทศมีอาหารกินตลอดช่วงที่กักตัวตามมาตรการของรัฐบาล
นอกจากนี้บริษัทฯ ได้ตั้งงบประมาณ 1,000 ล้านบาท ภายใน 3-5 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2563 เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพทั่วโลก จากปัจจุบันลงทุนแล้ว 3-4 บริษัท รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตาร์ทอัพที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ขณะที่แผนการลงทุนปีนี้ได้ปรับลดงบลงทุนเหลือ 3,700 ล้านบาท จากเดิม 4,900 ล้านบาท เพื่อบริหารสภาพคล่องและเก็บกระแสเงินสดให้มากที่สุดเพราะไม่ทราบว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะยุติลงเมื่อใดและจะมีสถานการณ์อื่นใดเข้ามากระทบการดำเนินธุรกิจอีก รวมทั้งมองหาเครื่องจักรที่จำเป็นที่จะนำมาใช้ผลิตในโรงงาน ซึ่งต้องควบคุมด้วยหุ่นยนต์โดยมีคนเขียนโปรแกรมคอยทำงานอยู่เบื้องหลัง และสร้างหุ่นยนต์ หากผลิตได้เองในประเทศไทยเพื่อใช้ในประเทศไทยและพร้อมส่งออกไปขายจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย ที่สำคัญการควบคุมด้วยหุ่นยนต์จะช่วยลดต้นทุน ช่วยให้เกิดภาพการทำงานน้อยแต่ได้ศักยภาพที่มากชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้บริษัทฯยังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมแบบเปิด หรือ Open Innovation โดยมีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยต่าง ๆ และสตาร์ทอัพที่มีแนวคิดและนวัตกรรมที่น่าสนใจเข้ามาร่วมทำงานเป็นพันธมิตรของบริษัทฯ ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น